ทั้งปัญหา ‘พรรคใหญ่’ ที่ดูได้เปรียบตามสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ อาจถูก ‘มิตรเก่า’ ตัดแต้ม-ชิงเก้าอี้ ส.ส.จากฐานคะแนนนิยมชุดเดียวกัน รวมถึงปัญหาชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกแปะไว้ที่พรรคไหน พปชร.ยังเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ? ยังต้องติดตามดูตอนต่อไป
คึกคักมาตั้งแต่ปีเก่าจนถึงปีใหม่กับความเคลื่อนไหวการเมืองของ ‘มิตรเก่า’ จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
เป็นอดีตมิตรร่วมรบ 2 กลุ่ม ‘สี่กุมาร’ และ ‘อดีต กปปส.’ เคยเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้ง – รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่อำลา พปชร.ไปต่างกรรมต่างวาระ
ทั้ง 2 กลุ่มเริ่มขยับ มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะ รอจังหวะนับถอยหลังโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
กลุ่มแรก คือ ‘สี่กุมาร’ นำโดย นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง , นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
ทั้งหมดเป็นผู้บริหาร พปชร.ยุคแรกเริ่ม ทั้งหัวหน้า – เลขาฯ รวมไปถึงกรรมการบริหารพรรค
‘สี่กุมาร’ ลงทุนทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีใน ‘รัฐบาลประยุทธ์ 1’ เพื่อเปิดตัวพรรค พปชร. ก่อนนำทัพหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 กวาด ส.ส.ส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนที่กลางปี 2563 เกิดเกมการเมืองภายใน กรรมการบริหารพรรคลาออก เปิดทางปรับโครงสร้าง ก่อนมีชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นที่รู้กันว่า ‘สี่กุมาร’ และ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่อำลารัฐบาลในห้วงเวลาเดียวกัน ต่างก็เคลื่อนไหว-หายใจจังหวะเดียวกันเสมอมา
ความเคลื่อนไหวใหม่นำโดย ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ ปล่อยของ-ลองกระแส ตั้งแต่ภาพจับเข่าคุยกินกาแฟ ถกปัญหาบ้านเมือง ทุกจังหวะมีคำว่า ‘อนาคต’ เป็นส่วนผสม
ล่าสุดส่งสัญญาณชัดเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2565 ใช้ชุดข้อความเดียวกัน เตรียมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ในเดือน ม.ค.2565 หากประเมินทั้งสถานการณ์โควิด – จังหวะอันเหมาะสม คาดว่าอีเวนต์นี้จะเกิดขึ้นช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน
พวกเขาเล่าว่า เขาไม่ใช่เจ้าของ เป็นเพียงผู้มีส่วนร่วม และมีผู้ร่วมอุดมการณ์มากมาย ทั้งคนในแวดวงธุรกิจ ภาคประชาชน นักวิชาการ อดีตผู้แทนราษฎร รวมถึง ส.ส.ชุดปัจจุบัน
“คณะผู้ก่อตั้งพรรคกำลังดำเนินการในการจดแจ้ง จัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ของสังคม ซึ่งจะเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่นี้อย่างเป็นทางการภายในเดือนมกราคม” ข้อความของอดีตหัวหน้า-เลขาฯ พปชร.ระบุ
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ความเคลื่อนไหวของ ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ ถูกลือ-พูดถึงในวงสนทนาการเมืองหลายกลุ่ม มีข่าวเดินสายพบปะผู้คนหลากหลาย เพื่อประเมินสถานการณ์ ทั้งคิดใหญ่ตั้งพรรคใหม่ หรือ เป็นแนวร่วมพรรคการเมืองน้องใหม่
เคยปรากฏข่าวทั้งกับ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่คุ้นเคยกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ‘พรรคกล้า’ นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช รวมถึง ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่
แต่มาจนถึงวันนี้ ข่าวการตั้งพรรคใหม่จาก ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ น่ายืนยันได้ระดับหนึ่งว่า การเจรจาข้างต้นอาจมีผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจมากนัก
ถามถึงจุดเด่นของพรรคใหม่ยี่ห้อ ‘สี่กุมาร’ พอคาดเดาได้ถึงภาพ ‘มือเศรษฐกิจ’ ที่พร้อมขับเคลื่อนทุกนโยบาย แก้ปัญหาตั้งแต่ปากท้องจนถึงเศรษฐกิจระดับมหภาค
ถามถึงแคนดิตเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชื่อของ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ อาจลอยมาเป็นเบอร์หนึ่ง อย่างไม่ต้องคาดเดา
ถามถึง ‘สี่กุมาร’ จะปรากฏตัวครบทีมหรือไม่ เบื้องต้นมีเพียงชื่อ ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ ส่วนอีกสอง ‘สุวิทย์-กอบศักดิ์’ ขอพักการเมือง แต่พร้อมทำงานเพื่อชาติทันทีที่ถูกเรียกหา
ส่วนผลสำเร็จปลายทาง นโยบายจะถูกนำไปขับเคลื่อนในรัฐบาลได้หรือไม่ จำเป็นต้องมีเก้าอี้ ส.ส. เพื่อการันตีความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล-รัฐมนตรี ดีดลูกคิดคำนวณอำนาจต่อรอง มีคนคาดหวังตั้งเป้าหา ส.ส.สังกัดพรรคนี้ให้ได้เลขสองหลัก
กลุ่มที่สอง ‘อดีต กปปส.’ หลังจาก ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับผลพวงจากคำพิพากษาศาลอาญาจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม กปปส. เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี
‘ณัฏฐพล’ ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง-ถอยห่างจากการเมืองชั่วคราว ส่วน ‘พุทธิพงษ์’ ยังไม่ชัดในท่าทีการเมืองจากนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ชัดคือพวกเขาหันหลังให้กับงานบริหารภายใน พปชร.มานานแล้ว
ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่เกิดขึ้นจาก ‘สกลธี ภัททิยกุล’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘เสือตัวสุดท้าย’ จาก กปปส.ในถ้ำ พปชร. ทิ้งใบลาออก อำลาพรรคอย่างเป็นทางการ
ย้อนไปช่วงปลายปี 2564 ‘สกลธี-ณัฏฐพล’ ปรากฏตัวขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เข้าพบนายกรัฐมนตรี แม้เป็นการอวยพรปีใหม่ แต่ย่อมถูกอ่านสัญญาณถึงก้าวต่อไปทางการเมืองของพวกเขา
ใบลาออกสมาชิก พปชร.ของ ‘สกลธี’ เวลานี้ย่อมการันตีถึงความเคลื่อนไหวใหม่ที่จะปรากฎตัวในไม่ช้า
เขายอมรับว่า สนใจชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เพราะต้องการสานต่องานที่ทำมาตลอด 4 ปี
นอกจากนี้การชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ยังเป็นสนามประลองกำลัง-วัดกระแสการเมืองกระดานแรก ก่อนปูทางไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่
ชื่อของเขายังถูกพ่วงถึงชื่อสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ที่มีกระแสข่าวว่าชื่อ ‘ไทยสร้างสรรค์’ ที่จดทะเบียนเรียบร้อย รอเพียงวันเปิดตัว-เปลี่ยนโลโก้อย่างเป็นทางการ
ชื่อของ ‘สกลธี’ ถูกผูกติดใน กทม. ทั้งในฐานะ ส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนยุคตั้งพรรค พปชร. เขาเป็นด่านหน้า ฝ่าสมรภูมิ กวาด ส.ส.ให้พรรคได้ 12 ที่นั่งจาก 30 ที่นั่ง
พรรคใหม่ที่มี่ชื่อ ‘สกลธี' และพวก ภารกิจกวาดเก้าอี้ ส.ส.กทม. ย่อมเป็นความคาดหวังในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
และจนถึงวันนี้ทุกความเคลื่อนไหวยังถูกอุบเงียบ ทั้งชื่อหัวหน้า-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
แต่คาดการณ์ว่าความเคลื่อนไหวพรรคนี้อยู่ในห้วงเวลา ม.ค.2565 เช่นเดียวกัน แว่วว่าขุนพลชุดก่อตั้ง ล้วนเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ มีไฟ หวังเปลี่ยนประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น
การขยับของ ‘มิตรเก่า’ ไม่เพียงแต่ถูกจับจ้อง แต่ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไปถึง พปชร.ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล
ทั้งปัญหา ‘พรรคใหญ่’ ที่ดูได้เปรียบตามสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ อาจถูก ‘มิตรเก่า’ ตัดแต้ม-ชิงเก้าอี้ ส.ส.จากฐานคะแนนนิยมชุดเดียวกัน
รวมถึงปัญหาชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกแปะไว้ที่พรรคไหน พปชร.ยังเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ? ยังต้องติดตามดูตอนต่อไป