กกต. แจ้งจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ที่มีจำนวนทั้งหมด 20.42 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิ 27.38 ล้านคน คิดเป็น 74.58% ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ มีหลายจังหวัดได้นายก อบต.คนใหม่ ที่มีสัดส่วนมากวก่าคนเก่าอีกด้วย
ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และนายก อบต. ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564
ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีควาใกล้ชิดกับตัวเองมากที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระตั้งแต่ปี 2561 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
สำหรับภาพรวมการเลือกตั้งนายก อบต. 5,300 คน และสมาชิก อบต. 56,641 คน เป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
เช็คผลเลือกตั้ง อบต.แบบเรียลไทม์
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบผลการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเว็บไซต์ https://ele.dla.go.th/
หลังจากที่เลือก จังหวัด อำเภอ และ อปท. ในระบบจะรายงานผลตั้งแต่ คะแนนของผู้สมัครทุกคน รวมถึงจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี บัตรเสีย จำนวนบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
กกต.รับรองผลภายใน 30 วัน
นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภาพรวมการเลือกตั้งว่า หากเทียบสัดส่วนของหน่วยหน่วยเลือกตั้งกว่า 60,000 หน่วยเลือกตั้งกับผู้ที่กระทำความผิดถือว่าไม่มาก มีไม่ถึง 1% และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ตามเป้าหมาย
สำหรับขั้นตอนจากนี้หาก กกต.ตรวจสอบ และพบว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งสุจริตโปร่งใสจะรับรองผลภายใน 30 วัน หรือ 28 ธันวาคม 2564 แต่หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตโปร่งใส จะทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จและประกาศผลภายใน 60 วัน ดังนั้นวันสุดท้ายที่จะประกาศผลการเลือกตั้ง หรือรับรองผลการเลือกตั้ง คือ ภายในวันที่ 27 มกราคม 2565
ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนทุจริตการเลือกตั้ง ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขา กกต.เปิดเผยว่ามีอยู่ 268 เรื่อง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องการทำลายป้ายหาเสียง สัญญาว่าจะให้ในขณะหาเสียง และอยู่ระหว่างตรวจสอบคำร้องในแต่ละพื้นที่
‘พัทลุง’ แชมป์คนออกมาใช้สิทธิสูงสุด
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 กกต. แจ้งจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบต. ที่มีจำนวนทั้งหมด 20.42 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิ 27.38 ล้านคน คิดเป็น 74.58%
10 จังหวัดที่ออกมาใช้สิทธิสูงสุด คือ พัทลุง 84.97% ตรัง 83.38% สุราษฎร์ธานี 83.26% สงขลา 82.76% เพชรบุรี 82.60% สระบุรี 82.55% นครนายก 82.00% กระบี่ 81.98% สตูล 81.89% และลำพูน 80.88%
นายก อบต.หน้าใหม่เพียบ
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในเฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เผยแพร่ ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของ อบต. ในหลายพื้นที่ และมีหลายจังหวัดที่สรุปข้อมูล นายก อบต.คนใหม่-คนเก่า ไว้อีกด้วย
นครศรีธรรมราช มีการเลือกตั้ง 130 อบต. ผู้ออกมาใช้สิทธิ 79.57% มีผู้สมัครนายก อบต.รวม 280 ราย และผลการเลือกตั้งทำให้ได้ นายกใหม่ 76 ราย และ นายกเดิม 54 ราย
ราชบุรี มีการเลือกตั้ง 75 อบต. ผู้ออกมาใช้สิทธิ 79.71% ได้นายกใหม่ 49 ราย และ นายกเดิม 26 ราย
อุบลราชธานี มีการเลือกตั้ง 179 อบต. มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 73.16% ได้นายกใหม่ 121 ราย และ นายกเดิม 58 ราย
เชียงราย มีการเลือกตั้ง 70 อบต. มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 70.47% ได้นายกใหม่ 53ราย และ นายกเดิม 17 ราย
อบต.บางแห่งคะแนนเท่ากัน ตัดสินด้วยการจับสลาก
กรณีที่ผู้สมัคร อบต.มีผลคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ใช้วิธีตัดสินด้วยการจับสลาก ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ที่ทำมาแล้วหลายครั้ง และกำหนดอยู่ในมาตรา 110 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562
จากการตรวจสอบว่า มีผู้สมัคร นายก อบต. อย่างน้อย 2 แห่ง ต้องตัดสินด้วยวิธีจับสลาก ดังนี้
อบต.วังน้ำคู้ จ.พิษณุโลก ผู้สมัคร 2 คน คะแนนเท่ากัน ประกอบด้วย จ.ส.อ.พินิจ อาจคิดการ หมายเลข 1 และ นายวิเศษ ยาคล้าย หมายเลข 2 ผลการจับสลากส่งผลให้หมายเลข 1 ชนะเลือกตั้งเป็น นายก อบต.ในที่สุด
อบต.หนองบัวทอง จ.สุรินทร์ มีผู้สมัครเพียง 2 คน และชื่อยังเหมือนกันทั้งคู่ คือ นายวิโรจน์ อรรคบุตร ผู้สมัครหมายเลข 1 และ นายวิโรจน์ ชินวงษ์ ผู้สมัครหมายเลข 2 ภายหลังการจับสลาก ส่งผลให้หมายเลข 1 ชนะการเลือกตั้งด้วยวิธีจับสลาก
ผู้สมัครนายก อบต.แพ้ โนโหวต
หลายพื้นที่มีผู้สมัครนายก อบต.เพียงรายเดียว กฎหมายกำหนดว่า จะต้องได้รับการเลือกตั้งโดยมีคะแนนมากกว่า โหวตโน หรือ ช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน แต่พบว่า บางพื้นที่ ผู้สมัครนายก อบต.กลับมีผลคะแนนแพ้โหวตโน และทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และห้ามรายเดิมลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
อาทิ อบต.หนองบ่อ จ.ตรัง , อบต.โนนสะอาด จ.ขอนแก่น , อบต.บ้านใหม่ อบต.บึงอ้อ อบต.ธารปราสาท และ อบต.โนนไทย จ.นครราชสีมา รวมถึง อบต.โพธิ์ประทับช้าง อบต.บ้านน้อย จ.พิจิตร
อบต.ราชาเทวะ นายกฯ คนเดิม
อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับความสนใจ หลังจากตกเป็นข่าว กรณีถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำโครงการซื้อเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี ที่ต่อมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลสอบอย่างเป็นทางการ และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายทรงชัย นกขมิ้น อดีตนายก อบต. ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน กว่า 5,200 คะแนน และเป็นการรักษาแชมป์อีกครั้ง หลังจากได้รับเลือกให้เป็นนายก อบต.มาตั้งแต่ปี 2538
‘คณะก้าวหน้า’ ชนะ 38 อบต.จากยอดส่ง 196 ราย
ภายหลังการเลือกตั้ง อบต.เสร็จสิ้น คณะก้าวหน้า ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้สมัครนายก อบต.ในสังกัดชนะเลือกตั้ง 38 แห่ง จากจำนวนที่ส่งผู้สมัครทั้งหมด 196 แห่ง หรือคิดเป็นอัตราชนะ 19.4%
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ในการเลือกตั้งนายก อบต.ครั้งนี้ได้มา 4,500 คน ขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ตัวเลขดังกล่าว หมายถึงสมาชิกพรรคที่ไปสมัครนายก อบต. จึงมีความหมายถึงพรรคพลังประชารัฐ