ชาวบุรีรัมย์สืบสานประเพณีตีผึ้งร้อยรัง ปรับวิธีเก็บน้ำผึ้งเดือน 5 ในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่หัวค่ำจนถึงก่อนเคอร์ฟิวเพื่อให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่สูญเสียรายได้ของชุมชน พร้อมจัดเวรยามดูแลและทำงาน
น้ำผึ้งเดือน 5 เป็นน้ำผึ้งคุณภาพดี หลายคนเฝ้ารอจับจองที่จะได้น้ำผึ้งแท้จากรวง มีชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้มี "ประเพณีตีผึ้งร้อยรัง" ซึ่งเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ และที่นี่ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบวิถีธรรมชาติที่หาชมได้ยาก ถือเป็นจุดที่ผึ้งมาทำรังอยู่รวมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
“ผึ้งร้อยรัง” มาจากผึ้งที่มาทำรัง อยู่บริเวณต้นไทรจำนวนมาก โดย “ต้นไทร” นี้ก็คือต้นไม้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมารุ่นสู่รุ่น
อ.สำราญ ธุระตา อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ หัวหน้าโครงการ “การเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านอัตลักษณ์ประเพณีตีผึ้งชุมชนสายตรีพัฒนา 3 ตำบลบึงเจริญ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล่าถึงประเพณีตีผึ้ง ชาวชุมชนได้ช่วยกันอนุรักษ์โดยเน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ มีการปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้คนเห็นค่าของดีในชุมชนร่วมสืบสานต่อกันมา
ที่สำคัญมีกฎระเบียบของหมู่บ้านที่หารือกันไว้ว่า จะเก็บน้ำผึ้งเพียงปีละครั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้เพื่อความยั่งยืน
ส่วนการนำเที่ยวชมผึ้งร้อยรัง เพื่อชิมความหวานน้ำผึ้งเดือนห้านั้น อ.สำราญ บอกว่า ทุกปีทางชุมชนจะร่วมกันตกแต่งสถานที่ให้สะอาดงดงามและเป็นระเบียบ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ชุมชนสายตรีพัฒนา 3 จ.บุรีรัมย์ จะประกอบพิธีบวงสรวงพ่อปู่บุญมาสิ่งศักดิ์ประจำชุมชน เพื่อขอขมาตามความเชื่อที่ได้ล่วงเกินในการปีนขึ้นไปเก็บน้ำผึ้ง ด้วยการรำบวงสรวงบริเวณหน้าศาล พร้อมทำการตกแต่งศาลด้วยดอกดาวเรืองรายล้อม ก่อนขึ้นตีเอาน้ำผึ้งหลวงหลายร้อยรังบนต้นไทรใหญ่ขนาด 15 คนโอบกลางหมู่บ้าน
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/TATBuriram8/?tn-str=k*F
กระบวนการขึ้นตีเอาน้ำผึ้งจะร่วมกันดำเนินการโดยคนในชุมชนทั้งหมด ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กแบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดของแต่ละบุคคล ทั้งฝ่ายขึ้นตีผึ้งบนต้นไทร ฝ่ายรับส่งด้านล่าง ฝ่ายคัดแยก ฝ่ายคั้นน้ำผึ้ง ฝ่ายกรอง ฝ่ายกรอก ฝ่ายบรรจุกล่อง ฝ่ายจำหน่าย ฝ่ายต้อนรับ ฝ่ายจัดเลี้ยงอาหาร เป็นต้น
กิจกรรมที่อ.สำราญ เล่ามานั้น จะมีประชาชนมาร่วมเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาตลอดทั้งคืน แต่สำหรับปี 2563 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกระดับสังคมอาชีพและทุกกิจกรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งประเพณีตีผึ้งร้อยรัง ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ รวมไปถึงมาตรการควบคุมการเว้นระยะห่างทางสังคมของรัฐบาล จึงต้องมีการปรับแผนในการดำเนินกิจกรรม
เขาเล่าว่า ประเพณีตีผึ้งร้อยรัง ก็ปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ชาวบ้านจะขึ้นตีเอาน้ำผึ้งช่วงระหว่างเวลา 19.30-21.30 น. แล้วนำรวงผึ้งมาเก็บรักษาไว้ในศาลากลางหมู่บ้าน จัดเวรยามดูแลในเวลากลางคืน และจัดเวรในแต่ละวันเพื่อคั้นน้ำผึ้งในเวลากลางวัน
"ชาวบ้านต้องใช้เวลาหลายวันในการดำเนินกิจกรรม แต่ชุมชนสายตรีพัฒนา 3 ได้ปรับแผนการทำงานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่สูญเสียรายได้ของชุมชน และยังคงอนุรักษ์ประเพณีประจำท้องถิ่นไว้อีกทางหนึ่งด้วย"
ผู้สนใจอุดหนุนน้ำผึ้งหลวงแท้เพื่อเป็นรายได้ของชุมชนสายตรีพัฒนา 3 สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ตามหมายเลขโทรศัพท์ 086 256 2950, 063 246 0446 และ 087 094 0754