"หากเกิด Mass Shooting อันดับแรกต้องหนีก่อน หนี ให้ไกลและเร็วที่สุด แต่ถ้าหนีไม่ได้ จึงให้ซ่อนในที่กำบังแข็งแรง และหากหนีแล้ว ไม่พ้น ซ่อนแล้วหาเจอ สุดท้าย ไม่สู้ตายแน่นอน สู้อาจมีโอกาสรอด สู้คนอยู่กับเราอาจรอดได้"
“Escape and Survive in Mass Shooting” คือหัวข้อของเวทีแรกๆ ที่จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อถอดบทเรียนร่วมกันของสังคมไทย หลังจากเกิดการณ์สะเทือนขวัญครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากหลากหลายสาขา ร่วมถกประเด็นตามที่แต่ละท่านถนัด ทั้ง รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ พร้อมด้วย ผศ.นพ.กฤตยา กฤตยากีรณ รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ นพ.พสุรเชษฐ์ สมร คณาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยเสถียร สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ พ.อ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ ศัลยแพทย์ กองอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
"การสังหารหมู่ (mass shooting) เป็นเรื่องใหญ่และค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย เราไม่เคยมีการวางแผนไว้ จะเห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 บ้านเรามี mass shooting เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ที่ลพบุรี และครั้งนี้สดๆ ร้อนๆ ที่โคราช" พ.อ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ ศัลยแพทย์ กองอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เริ่มต้น และให้คำนิยามคำว่า mass shooting ว่า ต้องมีองค์ประกอบ
1.มีเหตุยิงในที่ชุมชน
2.การที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่า 4 คน ไม่รวมผู้ก่อเหตุ โดยจุดจบผู้ก่อเหตุ มักจะเสียชีวิต 2 แบบ จนมุม ฆ่าตัวตาย และถูกวิสามัญ
3.ไม่เลือกเหยื่อ และไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เข้าถึงลั่นไก ยิงเลย
และ 4.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ฆ่าเท่านั้น แต่อาจมีเหตุอื่นด้วย เช่น การปล้น ประสงค์ต่อทรัพย์
"คำว่า Mass Shooting จึงต่างกับคำว่า การกราดยิง (Shooting Rampage) ซึ่งไม่มีผู้เสียชีวิต"
กรณีที่เกิดขึ้นที่โคราช พ.อ.นพ.ณัฐ ระบุว่า ผู้ก่อเหตุใช้อาวุธเอชเค-33 ระยะหวังผลคือ 300 เมตร แปลว่า ผู้ก่อเหตุสามารถยิงเราได้อย่างแม่นยำ เกินกว่านี้ก็ยังยิงเราได้อยู่ ฉะนั้น การหนีต้องห่างประมาณ 2 กิโลเมตร
"แต่ผมเห็นพี่น้องกู้ภัย จอดรถหน้าห้างแบบนั้น และห้างมีทาวเวอร์ด้วยน่ากลัวมาก เคยมีเหตุ Mass Shooting เกิดขึ้นที่ลาสเวกัส คนร้ายยิงมาจากชั้นบนของโรงแรมมัลดาเลย์ เบย์ และยิงลงมากลางงานคอนเสิร์ต คนวิ่งไปทางไหนโดนยิงอย่างโหดเหี้ยม ฉะนั้น การหนี ต้องดูบริเวณด้านบนด้วย หนีไปให้ไกล 2 กิโลเมตร คือระยะปลอดภัย"
กราดยิงในสหรัฐ 56% ใช้ปืนพก
ขณะที่การศึกษาและงานวิจัยของต่างประเทศ พ.อ.นพ.ณัฐ ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานที่ชื่อว่า The Advanced Law Enforcement rapid Response Training ได้เก็บข้อมูลการเกิดเหตุ Mass Shooting ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ 56 ผู้ก่อเหตุจะใช้ปืนพก ร้อยละ 27 เป็นปืนไรเฟิล (Rifle) ที่เหลือเป็นปืนลูกซองและอาวุธชนิดอื่น
"การเกิดเหตุ Mass Shooting ในสหรัฐฯ ยังพบอีกว่า ร้อยละ 81 นั้น ผู้ก่อเหตุอย่างน้อยมีปืนพก 1 กระบอกใช้ก่อเหตุด้วยเสมอ หมายความว่า ผู้ก่อเหตุอาจพกอาวุธมากกว่า 1 ชนิด หรือมากกว่า 1 กระบอกขึ้นไป ยิ่งหากผู้ก่อเหตุพกกระสุนเป็นลักษณะ high capacity magazine มีปรับแต่งให้ปืนสามารถบรรจุกระสุนปริมาณมาก ก็จะยิ่งทำให้มีการเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น ถึง 5 เท่า
พ.อ.นพ.ณัฐ บอกว่า ด้วยเหตุนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ จึงห้ามไม่ให้มีจำหน่าย high capacity magazine กับบุคคลทั่วไป ขณะที่ปืนไรเฟิล มือปืนไม่นิยมพกไปก่อเหตุ โดยเฉพาะที่ชุมชนเป็นเรื่องยาก ด้วยขนาดมักถูกพบเห็นได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ผลจากการเก็บข้อมูล พบอีกว่า หากผู้ก่อเหตุใช้ปืนไรเฟิล ซึ่งประสิทธิภาพสามารถยิงได้ต่อเนื่องนั้น จะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปืนพก
"การป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อเกิดเหตุ Mass Shooting ได้มีนักวิชาการด้าน Mass Shooting ทางการแพทย์ของต่างประเทศ ดร.บารัค ซารานี่ (Babak Sarani) จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน และคณะ ได้ทำการศึกษาย้อนหลัง 12 เหตุการณ์ Mass Shooting ในสหรัฐฯ พบว่า การถูกยิงส่วนใหญ่เกิดบริเวณอก ศีรษะ ที่ทำให้เสียชีวิต โดยไม่พบการเสียชีวิตจากการโดนยิงที่แขน ขาเลย
จากนั้น นักวิชาการก็ได้ไปเก็บข้อมูลอาวุธชนิดไหน ผู้ก่อเหตุนำมาใช้กับ Mass Shooting บ้าง ก็พบว่า
ปืนพก จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า มีมากกว่า 1 แผล และมักจะโดนจุดสำคัญ ขณะที่โดนยิงด้วยปืนไรเฟิล แม้จะมีจำนวนผู้ถูกยิงมากกว่า แต่คนถูกยิงมักไม่เสียชีวิต
การศึกษาในต่างประเทศ ยังเข้าไปศึกษาเจาะลึก เหตุการณ์กราดยิงที่ไนท์คลับ ที่รัฐฟลอริด้า เมื่อปี 2016 ซึ่งผู้ก่อการร้ายชาวตะวันออกกลาง ใช้ปืนยาว ไรเฟิล และปืนพก เข้าไปยิงผู้คน พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 100 กว่าคน เสียชีวิต 50 คน โดย 1 คน ถูกยิงประมาณ 2.7 นัด โดนบริเวณแขน ขา มากที่สุด
ต้องรู้จักการห้ามเลือด -Stop The Bleed
อีกทั้ง มีการศึกษาชิ้นล่าสุด ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2562 เปรียบเทียบเหตุการณ์รุนแรงที่มีการใช้ปืน ทั้งปล้น ทำร้ายร่างกาย และ Mass Shooting พบว่า ปืนพก หรือ Handgun เป็นอาวุธที่พบมากที่สุด กว่าร้อยละ 97 ส่วนการเสียชีวิต ถูกยิงที่บริเวณศีรษะ และท้อง
พ.อ.นพ.ณัฐ ระบุถึงคำแนะนำของ ดร.บารัค ซารานี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ว่า ได้แนะนำ หากต้องเจอสถานการณ์ Mass Shooting
- ผู้ประสบเหตุ ต้องเอาตัวรอดให้ได้ด้วยตัวเอง
- บุคลากรทางการแพทย์ ต้องรู้จักการห้ามเลือด (Stop The Bleed) อย่าใช้เวลาในที่เกิดเหตุเกิน 10 นาที นำผู้บาดเจ็บต้องถูกส่งไปโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถในการรักษาภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง (กฎ Golden Hour)
- สุดท้าย แม้การถูกยิงเสียชีวิตจะเกิดบริเวณศีรษะและอก แต่ไม่พบในกรณีที่โดนยิงที่แขน และขานั้น แปลว่า การห้ามเลือด เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ประสบเหตุรอดชีวิตได้มากขึ้น
รศ.นพ.ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อเสนอที่คล้ายๆ กันว่า หากเจอเหตุการณ์การยิงกราด อันดับแรกต้องเอาตัวรอดก่อน จากนั้นขอความช่วยเหลือ และหากสถานการณ์ปลอดภัยขึ้นให้คิดถึงการช่วยเหลือผู้อื่น
"เรื่องเดียวที่ประชาชนทำได้ในที่เกิดเหตุ คือการห้ามเลือด ในสหรัฐฯ บ้านเขาเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อย คนไข้เสียชีวิตจากการเสียเลือดเยอะ เขาสอนประชาชน เรื่อง Stop The Bleed การห้ามเลือดเพื่อรักษาชีวิต โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากการเสียเลือด โดนยิงบริเวณแขนและขา (เสียชีวิตน้อย) เราสามารถป้องกันได้ ประชาชนสามารถห้ามเลือดได้เอง รู้วิธีการจัดการกับเลือดออก"
ด้านผศ.นพ.อุดมศักดิ์ หุ่นวิจิตร ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลเสริมถึงการก่อเหตุในแต่ละวัน แม้ว่าจะมีการยิงกันก็จริง แต่เกิดไม่มาก ในส่วนของประเทศไทย ก็พบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่จะใช้ปืนพก ต่างจังหวัดเป็นปืนไทยประดิษฐ์ และอวัยวะที่ทำให้เสียชีวิต คือที่ศีรษะ และอก เช่นเดียวกับงานที่มีการศึกษาในต่างประเทศ
ที่แตกต่างกันหากกระสุนโดนบริเวณแขน หรือขา ในบ้านเราพบว่า เสียชีวิต เพราะโดนจุดที่เป็นเส้นเลือด
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ ชี้ชัดว่า ดังนั้น ทักษะและความรู้การปฐมพยาบาล หรือการรักษาเบื้องต้น จึงสำคัญมาก
"ผมอยากให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมความปลอดภัย อย่ามีคำว่า เดี๋ยวกับเรื่องอุบัติเหตุ อุบัติภัย ต้องทำทันที"
ขณะที่ รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงสถิติอุบัติการณ์การก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเรียงตามจำนวนผู้เสียชีวิต หากสังเกตปี และจำนวนผู้เสียชีวิตมากสุด จะเห็นว่า ความรุนแรงที่มากขึ้นทุกปี สักวันหนึ่งจะเกิดที่บ้านเรา แต่เราไม่ได้คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้ เหมือนการก่อการร้าย การวางระเบิด ประเทศไทยก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นที่จ.นครราชสีมา ในต่างประเทศเขาทำอะไรกันบ้าง
รศ.นพ.รัฐพลี เล่าว่า มีคนจากหลากหลายอาชีพ มาประชุมทำข้อตกลงที่เรียกว่า The Hartford Consensus "THREAT" หลังพบเกิดเหตุการกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น เพราะคนกลุ่มเล็กๆ นี้ เห็นว่า มัวรอให้ทางการทำอะไร อาจไม่ทันกิน
การประชุมครั้งนั้น เขาสรุปว่า หากเกิด Mass Shooting ให้ปฏิบัติดังนี้
1.ระงับภัยคุกคาม ผู้ก่อเหตุต้องจัดการให้ได้ (หน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่)
2.สำหรับผู้บาดเจ็บลดการเสียชีวิตได้อย่างไร ต้องมีเครื่องมือพร้อม (Hemorrhage control)
3.ส่งต่อตัวผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และปลอดภัย (หน้าที่แพทย์ พยาบาล)
"เราอยากให้ทุกๆ คนสามารถช่วยชีวิตได้ หากเรามีความรู้จะลดการเสียเลือด เพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ประสบเหตุได้" รศ.นพ.รัฐพลี ตั้งความหวัง และว่า The Hartford Consensus ยังมีข้อสรุปเมื่อเกิดเหตุกราดยิง สำหรับประชาชนคนธรรมดาๆ ให้ Run/ Hide/ Fight (หนี ซ่อน และสู้)
เราจะวิ่ง จะซ่อน จะสู้เมื่อไหร่ ?
รศ.นพ.รัฐพลี อธิบายต่อว่า " ไม่ได้ให้หนี เพื่อไปซ่อน หรือหนีเพื่อไปสู้ อันดับแรกต้องหนีก่อน หนี หนี หนี ให้ไกลและเร็วที่สุด คิดแค่นี้ แต่ถ้าหนีไม่ได้ จึงให้ซ่อนในที่กำบังแข็งแรง ให้ซ่อนเมื่อหนีไม่ไหว และหากหนีแล้ว ไม่พ้น ซ่อนแล้วหาเจอ สุดท้ายหากเราไม่สู้เราก็ต้องตาย ไม่สู้ตายแน่นอน ถามว่า จะอยู่เฉยๆ หรือไม่ แต่หากสู้อาจมีโอกาสรอด หรือหากสู้ คนอยู่กับเราอาจรอดก็ได้"
และนี่คือแนวคิด Run / Hide / Fight ที่ได้จากข้อสรุป The Hartford Consensus
สอนและฝึกเด็กรู้จักหนีภัย-เงียบไม่ส่งเสียงดัง
สำหรับข้อเสนอและคำแนะนำอื่นๆ คือ ให้หัดสังเกตและสนใจสัญญาณอันตราย ทั้งเสียงดังผิดปกติ เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงหวีดร้อง ทิศทาง และจำนวนแหล่งที่มาของเสียง ควันไฟ แสงสว่างจ้าเพลิงไฟหรือระเบิด ไฟดับ เสียงประกาศเตือน รวมถึงการวิ่งที่ผิดปกติ สับสนวุ่นวาย หรือไปทางเดียวกันอย่างผิดปกติ
รศ.นพ.รัฐพลี ตั้งไว้เป็นคำถาม หากเรามัวแต่ก้มมองโทรศัพท์ หรือมีอะไรฟังในหูอยู่ เราจะเห็นสัญญาณเหล่านั้นหรือไม่ ? ฉะนั้น การเดินในที่ชุมชน ขอให้เงยหน้าบ้าง เพราะมือถือดูที่บ้านก็ได้ เพลงฟังที่อื่นก็ได้ แต่การมีชีวิตรอด อาจเป็นเพราะเราเดินดูคนอื่นอยู่ก็ได้
"ผมอยากให้เราเตรียมความพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ รู้เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น 191,1669 แอพลิเคชั่นช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น จส.100 เบอร์โทรศัพท์ ไลน์กรุ๊ปอื่น เพื่อนสนิท ครอบครัว ญาติที่เชื่อใจไว้ใจได้ และติดต่อได้ตลอดเวลา มีโอกาสอบรมการปฐมพยาบาล อบรมการห้ามเลือก ขณะที่ห้างร้าน บริษัท สถานที่ราชการ โรงเรียน และชุมชน ก็ต้องมีแผนอพยพ แผนล็อกดาวน์และจุดนัดพบที่ชัดเจน"
มีคำถาม สำหรับเด็กเล็กและบุตรหลานต้องทำอย่างไรนั้น รศ.นพ.รัฐพลี แนะนำให้สอน ให้มีการตื่นตัว และระวังภัยต่อการเกิดเหตุร้าย ถอดหูฟัง วางมือถือ ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น สอนและฝึกให้รู้จักทางหนีภัย และการออกจากพื้นที่อันตราย สอนให้รู้วีธีการแอบซ่อน และฝึกให้เงียบไม่ส่งเสียงดัง
"นม ขนม ลูกอมสำหรับเด็ก ก็สำคัญที่ต้องพกไว้ ฝึกให้เด็กท่องเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ที่ติดต่อได้ ส่วนเด็กโต อาจสอนและฝึกวิธีตอบโต้เมื่อเข้าตาจน"
เสนอข่าวลงลึกประวัติคนร้าย หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบ
สุดท้าย ผศ.นพ.ณัทธร พิทยเสถียร สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้คำแนะนำหากต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินว่า "สติ การควบคุมสติ" สำคัญที่สุด
เทคนิคการเรียกสติของหลายๆคนกลับคืนมา เวลาเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน นักจิตเวช แนะนำให้ฝึกการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ค่อยๆ พ่นลมออกมา และการดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีเทคนิค Grounding เช่น การสัมผัสสิ่งของ มองรอบตัว เหยียบพื้น นับสิ่งของ นับคน ดมกลิ้น เคี้ยว ขยำสิ่งที่อยู่ในมือ ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้ร่างกายสงบ และทำให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
เรื่องการกราดยิงมีการวิจัยพบว่า เมื่อมีการลงข่าว แม้ส่วนใหญ่คนจะด่าคนร้าย ประนามคนร้ายก็ตาม แต่จะมีคนจำนวหนึ่งเลียนแบบ และทำตาม เพราะเหมือนกัน เป็นทหารในค่ายเหมือนกัน ถูกกดดันจากเจ้านายเหมือนกัน ฉะนั้นช่วงที่มีข่าวจะมีความเสี่ยงที่อาจมีการเลียนแบบได้
ทั้งนี้ สื่อมวลชนสามารถช่วยได้มาก หากพยายามไม่รายงานเรื่องของคนร้าย รายละเอียด ประวัติคนร้าย ประวัติในอดีตเพราะทำให้คนทำตาม เป็นพวกเดียวกับฝั่งนั้นได้
"เหตุการณ์ที่โคราชมีคนที่น่าพูดถึงอีกเยอะ เช่น เหยื่อ หรือความกล้าหาญผู้เข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งน่าจะได้รับการพูดถึงมากกว่า และถือเป็นต้นแบบที่ดี วันนี้เราพยายามให้เกิดการเลียนแบบที่ดี การอยากรู้เรื่องมากอาจทำให้เกิดการเลียนแบบทางลบได้ ดังนั้นสื่ออาจต้องลดความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองลงบ้าง" ผศ.นพ.ณัทธร ให้ความคิดเห็น ก่อนปิดเวที
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/medicine.chulalongkornuniversity/?epa=SEARCH_BOX