28 มกราคม 2558 กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิด “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ ” อย่างเป็นทางการ นับเป็นโครงการพระราชดำริลำดับสุดท้าย ที่สร้างเสร็จในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัย ปัญหาขาดเเคลนน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค - การเกษตร
ตัวอย่างของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ "ระดับชุมชน" ที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสวนแนวพระราชดำริ นำสื่อมวลชนสัญจรดูงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี นั่นก็คือ “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
หรือในอดีตเรียกว่า “คลองหลวง” ปัจจุบันหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกันมากนัก ด้วยพึ่งเปิดใช้งานเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 อีก 6 ปี ต่อมา วันที่ 28 มกราคม 2558 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการ
นับเป็นโครงการพระราชดำริลำดับสุดท้าย ที่สร้างเสร็จในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 9 (ต้นปี 2559 ) เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาอุทกภัย ปัญหาการขาดเเคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รักษาระบบนิเวศน์ให้กับพื้นที่ได้มากกว่า 25,000 ไร่ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ถึง 44,000 ไร่ รวมทั้งยังเป็นเเหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่
ขณะที่ชาวบ้านบริเวณรอบพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ ทั้งด้านเกษตร ประมง และการแปรรูปต่างๆ สร้างงาน สร้างรายได้
อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร แบ่งพื้นที่เป็นฝั่งซ้าย 17,000 ไร่ ฝั่งขวาประมาณ 27,000 ไร่ ครอบคุมพื้นที่ถึง 2 อำเภอ ได้เเก่ อำเภอเกาะจันทร์ และอำเภอพนัสนิคม ของจังหวัดชลบุรี วงเงินก่อสร้าง 6,700 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 ส่วนหลักคือ
1.เขื่อนหลัก ( Main Dam )
2. อาคารระบายน้ำล้น ( Side Channel Spillway )
3. อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet )
4.อาคารท่อระบายน้ำปากคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (กม.3+751 ของเขื่อนหลัก )
5. .อาคารท่อระบายน้ำปากคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (กม.3+780 ของเขื่อนหลัก )
ซึ่งระบบการกระจายน้ำจะมีการแบ่งพื้นที่และกระจายไปยังคลองสำรองน้ำที่จะให้ประชาชนสามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำได้อย่างสะดวก
นายวุฒิชัย นรสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษา อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร ให้ข้อมูลเสริมถึงโครงการนี้ว่า เกิดขึ้นได้เนื่องจากพระราชดำริขององค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 หรือ 37 ปีก่อน ให้กรมชลประทานบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร และช่วยเหลือคนในพื้นที่ในเขตอำเภอเกาะจันทร์ อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งกรมชลฯ ได้เริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เมื่อปี 2553 ตัวอ่างเก็บน้ำสร้างเสร็จเดือนมีนาคม 2558
"การสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำกว่าจะสำเร็จหรือกว่าจะเคลียร์กับชาวบ้านได้ ทางทีมงานที่จัดสร้างทั้งทางภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการจัดการปัญหาและเคลียร์กับข่าวสารที่โจมตีต่างๆ ตั้งแต่มีการสร้างโครงการคลองหลวงขึ้นมา"
นายวุฒิชัย ชี้ชัดว่า อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร นอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แล้ว ยังช่วยเรื่องการทำเกษตรได้อย่างถาวร ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนโดยรอบมีรายได้เพิ่ม
ด้านนายประจวบ สืบญาติ ประชาชนในพื้นที่ที่มอบพื้นที่ให้กับทางหน่วยงานราชการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เล่าว่า ทางราชการ เห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินบริเวณนี้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และเพื่อสาธารณะประโยชน์ จึงได้มอบที่ดินตนเองให้เพื่อสร้างทำอ่างเก็บน้ำคลองหลวง
“เมื่อรัฐต้องการที่จะใช้พื้นที่บริเวณนี้ ผมก็ไม่มีอะไรที่จะไปคัดค้าน ถามว่า เสียดายไหม เสียดาย เราได้เงิน คือที่ของเราโดนเวนคืน ผมก็มองถึงอนาคต เราควรที่จะทำอะไรเพื่อประเทศชาติ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับที่ของผมไม่ใช่เพียงแค่ผมได้เท่านั้น แต่คนทั้งจังหวัด คนทั้งประเทศได้ ผมได้ และลูกๆก็เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนในครั้งนี้ ผมจึงไม่มีอะไรติดใจ มีแต่ความภูมิใจที่เราได้ทำเพื่อประเทศและในหลวง”
นายบุญมี สังวรณ์ และนางเทียบ สังวร สามี-ภรรยา ทำอาชีพเกษตรกรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เห็นความสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ บอกว่า เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง มีรูปแบบและระบบการจัดการน้ำที่ดี ป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างถาวร และยังสามารถที่พัฒนาพื้นที่ในชุมชนได้ โดยเฉพาะเกษตรกร คนส่วนใหญ่บริเวณนี้ทำอาชีพเกษตรกร
“ตั้งแต่มีการอ่างเก็บน้ำ ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอ่างเก็บน้ำ พอมีน้ำ น้ำก็ไม่ท่วม สามารถหารายได้ได้ตลอดทั้งปี และมีอาชีพเสริม คือ การสร้างบ่อปลา ทั้งจำหน่าย และเป็นแหล่งตกปลาในชุมชน โดยเก็บค่าเบ็ดคันละ 20 บาท ส่วนเมื่อตกปลาได้ ก็คิดค่าปลาตามราคาที่กำหนด แต่ละครั้งราคาปลาจะคิดไม่เท่ากัน ซึ่งตกเฉลี่ยรายได้ต่อวันอยู่ที่ 1,000 บาท ตั้งแต่มีโครงการอ่างเก็บน้ำขึ้นมา ไม่มีหนี้สิน สามารถที่จะสร้างอาชีพได้อิสระ และทำให้ได้รู้จักคุณค่าของน้ำมากยิ่งขึ้น”
เช่นเดียวกับนายละเวง มิ่งสอน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองแฟบ ตำบลเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ทางหมู่บ้านได้มีการจัดตั้ง กลุ่มอาชีพประมง กลุ่มแปรรูปปลาครบวงจรบ้านหนองแฟบ ซึ่งเป็นการจัดตั้งจากสมาชิกภายในหมู่บ้าน ทำประมงน้ำจืด ที่ชาวบ้านจะนำปลาที่หาได้มาขาย โดยจะมีการกำหนดราคาขายปลีก-ส่ง ก่อนที่ทางกลุ่มจะนำไปแปรรูปหรือส่งให้กับพ่อค้านอกพื้นที่อีกต่อหนึ่ง ถือว่า เป็นการส่งเสริมให้ทุกคนใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และถือว่า เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอาชีพการประมง
แม้ปัจจุบันคนนอกพื้นที่เข้ามาแย่งการหาปลาของคนในชุมชน เพราะพื้นที่มีการขยายออกไป ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองแฟบ บอกถึงวิธีการว่า ทางชุมชนก็จะมีวิธีการจัดการ เช่น ใช้วิธีจดทะเบียนชาวประมง เป็นต้น
“ชาวบ้านบางส่วนมีอาชีพประมงอยู่แล้ว พอมีอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีแหล่งน้ำในหาปลา ชาวบ้านสามารถหาปลาได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ทางชุมชนก็มีคุณภาพโดยรวมที่ดี น้ำไม่ท่วม ปลาไม่หาย เหมือนอดีต หรือช่วงที่ขาดน้ำ ปัจจุบันอ่างแห่งนี้ได้ช่วยเติมเต็มชีวิตชาวบ้านอย่างมาก ”
ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้ขยายผลโดยดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำแห่งนี้ เพื่อเพิ่มความจุอ่างจาก 98 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 125 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ป้องกันบรรเทาอุทกภัยที่จะลงไปยังพื้นที่ท้ายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
ที่สำคัญ...รองรับการขยายตัวในพื้นที่ภาคตะวันออก เตรียมพร้อมรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/