การทำงานอนุรักษ์ มีอุปสรรคเยอะแยะ ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และกองทัพบกอย่างที่ควรจะเป็น แต่หากเรามองกลับไป เราก็มีสิทธิ์ที่จะภูมิใจถึงการเปลี่ยนแปลง จากอาคารที่ “เน่า” ผุ หลังคารั่ว เราสามารถบูรณะให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 20 ปี รวมๆ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทเห็นจะได้
หากใครเดินทางไปต่างประเทศ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หรือพระราชวัง จะพบว่า เกือบทุกแห่งมักมีร้านกาแฟ หรือร้านขายของที่ระลึกอยู่เสมอๆ “ร้านกาแฟนรสิงห์” นับเป็นอีกหนึ่งตำนานของร้านกาแฟที่เปิดในประเทศไทย ซึ่งคนนิยมมาเช็คอิน ณ วังพญาไท
เดิมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างร้านกาแฟนรสิงห์ขึ้นบริเวณมุมสนามเสือป่า ด้านถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามสวนมิสกวัน เป็นศาลาคอนกรีตขนาดเล็ก ตั้งโต๊ะได้ 4-5 โต๊ะ เพื่อให้ประชาชนได้อาศัย เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
และได้มีประกาศโฆษณาของร้านกาแฟนรสิงห์ว่า ...
"สถานที่เป็นที่โอ่งโถง น่าสำราญ มีอาหารว่าง และขนมต่างๆ พร้อมทั้งเครื่องดื่มอย่างดีจำหน่ายพร้อมมูลบริบูรณ์ทุกประการ ทั้งราคาก็ย่อมเยาว์ ผิดกว่าที่จะซื้อบริโภคได้ตามสถานที่อื่นๆ ที่ไม่โอ่อ่าน่าสบายเหมือนเช่นนี้"
ปัจจุบัน ร้านกาแฟนรสิงห์ ตั้งอยู่ภายในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง อยู่หน้าพระที่นั่งพิมานจักรี พระราชวังพญาไท มีลักษณะอาคารแบบนีโอคลาสสิก สร้างภายหลังจากการสร้างพระราชวังพญาไทเรียบร้อยแล้ว โดยอดีตนั้นอาคารหลังนี้ เป็นลานเทียบรถพระที่นั่ง และเป็นที่พักรับคอยของผู้รอเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พลโท ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทในพระอุปถัมภ์ หนึ่งในกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนและทำงานอนุรักษ์โบราณสถานพระราชวังพญาไท มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยให้ข้อมูลถึงรายได้ที่ได้จากค่าเช่าร้านกาแฟนรสิงห์นั้น เล็กน้อยมาก แต่เราเน้นการเลือกผู้ประกอบที่ชอบการอนุรักษ์โบราณสถาน และดูแลโบราณวัตถุไปในตัว
“การปรุงอาหาร cooking ในอาคาร เราให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 บางเจ้าเราให้เช่า ก็ผิดหวังไม่ดูแลรักษาสถานที่”
จากโรงนาหลวงมาเป็นโรงหมอ พลโท ธำรงรัตน์ บอกว่า วังพญาไท เป็นพระราชวังที่สมบูรณ์ทั้งในเรื่องสถาปัตยกรรม ประวัติ และเป็นจุดกำเนิดประชาธิปไตยของกรุงสยาม
ทิวทัศน์ ดุสิตธานี
"ดุสิตธานี" พระราชกรณียกิจชิ้นสำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มักจะไม่ได้รับการกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ และเกือบจะลืมเลือนไปสำหรับคนยุคนี้ก็คือ "เมืองจำลอง" ซึ่งโปรดเกล้าพระราชทานชื่อว่า "ดุสิตธานี" หรือเมืองสวรรค์
นักเขียนพระราชประวัติผู้หนึ่งวิจารณ์ว่า "เป็นความคิดทางการเมืองที่แปลกที่สุดในโลก" โดยพระราชดำริในเรื่องนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่พ.ศ.2448 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเรือนแถวสำหรับพวกมหาดเล็ก และทรงทดลองการปกครองระบบนคราภิบาลหลายรูปแบบ
ต่อมาปี พ.ศ.2461 เมื่อเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยบทที่หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี และในโอกาสที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยร่วมกับข้าราชบริพารก่อสร้างเมืองทราย และมีพระราชดำริสร้างเมืองจำลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ
ในหนังสือพระราชวังพญาไท จัดพิมพ์โดยชมรมคนรักวัง ระบุว่า เมืองดุสิตธานี ถือกำเนิดที่พระราชวังสวนดุสิต อีกหนึ่งปีต่อมา เมื่อทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองดุสิตธานี มาตั้งบริเวณสวนหลังหมู่พระที่นั่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในธานีมีขนาดสูง 2-3 ฟุต ประกอบด้วย บ้านเรือนเอกชน พระราชวัง ศาสนสถาน และอนุสาวรีย์ สถานที่ราชการ โรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่างๆ มีถนนหนทางร่มรื่น แม่น้ำ คูคลอง มีทั้งสวนสาธารณะ ชุ่มชื่นด้วยน้ำพุ น้ำตก อีกทั้งกองดับเพลิง และบริษัทไฟฟ้า
ดุสิตธานีเมืองที่สว่างไสวด้วยไฟฟ่า และถนนหนทางที่คับคั่งไปด้วยผู้คนสมมติ ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นของผู้ใหญ่ เป็นเมืองในนิยายดังเช่นบางคนในหมู่ข้าราชบริพารเคยชอบเอ่ยอ้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงตั้งพระทัยให้เป็นเมืองตัวอย่างในหลายๆ ด้าน ดังพระราชดำรัสวันเปิดศาลารัฐบาล เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2462 ว่า
"วิธีดำเนินการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ได้ตั้งใจว่า จะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นกัน"
พระองค์ท่านทรงร่างธรรมนูญลักษณะปกครองคำในอารัมภบทแสดงชัดถึงพระราชเจตนารมย์ว่า ก่อตั้งเมืองดุสิตธานี เพื่อส่งเสริมความคิดในเรื่องการปกครองตนเองให้มีขึ้นในราษฎรไทย...
เมืองดุสิตธานี ยุติบทบาทเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ปีพ.ศ.2468 เมื่อพระชนมายุเพียง 44 ปี เมืองจำลองถูกรื้อถอน อาคารบ้านเรือนหลายหลังเจ้าของขนย้ายออกไป ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้ขึ้นราอยู่ในห้องเก็บของ แต่เรายังพอเห็นเค้าว่า เมืองดุสิตธานีมีลักษณะเช่นไร ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ บริเวณหอสมุดแห่งชาติ
พลโท ธำรงรัตน์ ชี้ที่ตั้ง "ดุสิตธานี" ว่า อยู่ตรงส่วนของสวนโรมัน ของพระราชวังพญาไทปัจจุบัน และยาวไปถึงศาลท้าวหิรัญพนาสูร
"ผมมาปี 2498 ยังได้เห็นโครงสร้างเหล่านั้น วันดีคืนดี โชคดีหรือโชคร้ายไม่ทราบ มีภริยาวีไอพีคนหนึ่งเข้ามารับการรักษาตัวที่รพ.นี้ มีการเสนอที่แห่งนี้ไม่ได้ทำอะไร ให้ทำเป็นสวนให้ทหารได้พักผ่อน รุ่งขึ้นมีรถมาเกลี่ยหมดเลย ซึ่งดุสิตธานี ผมตั้งใจ จะประสานกับมูลนิธิวชิราวุธานุสรณ์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กำลังเตรียมการ พอมาไถหมดเกลี้ยง เชิญหม่อมหลวงปิ่น มาดู ท่านน้ำตาไหลเลย"
การที่พระราชวังพญาไทถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้พระราชวังเกิดความเสื่อมโทรมขึ้น ขณะเดียวกันการบูรณะพระราชวังจะแตกต่างจากการบูรณะอาคารทั่วๆ ไป เพราะจะต้องใช้ช่างที่มีฝีมือประณีต มีการค้นคว้าถึงรูปแบบเดิมของอาคารและห้องต่างๆ ที่สำคัญใช้เงินในการบูรณะเป็นจำนวนมาก
พลโท ธำรงรัตน์ เล่าต่อถึงความทรุดโทรมของพระราชวังพญาไทสมัยก่อนต่อด้วยว่า ก่อนที่จะมีการบูรณะ เคยเป็นทั้งสโมสร เป็นโต๊ะบิลเลียด โรงอาหาร
"เราเริ่มต้นบูรณะจากงบประมาณ 10 กว่าล้านบาท ซึ่งสมัยนี้เงินเท่านี้ทำไม่ได้แล้ว แม้กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลป์ฯ ช่วยงบประมาณมาบ้าง แต่ก็ยังไม่พอ ขณะที่กองทัพบก และโรงพยาบาล ก็มีภาระหน้าที่หลักอยู่แล้ว"
ส่วนการหารายได้เข้ามูลนิธิฯ เพื่อนำมาอนุรักษ์พระราชวังพญาไท นอกจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกพระราชวังพญาไท ณ ร้านมัทนาช็อป ชั้น 1 พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน แล้ว ชมรมคนรักวัง มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ยังได้จัดสร้างวัตถุมงคล พระผง เจ้าคุณนรรัตนฯ และรูปจำลอง "ท้าวหิรัญพนาสูร" ให้เช่าบูชาด้วย ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี พระราชวังพญาไท
ท้าวหิรัญพนาสูร ถือเป็นเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของข้าราชการ ประชาชน ตลอดจนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ท้าวหิรันยพนาสูร หรือท้าวหิรัญพนาสูร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
พระผง คุณนรรัตนฯ หรือพระธัมมะวิตักโก รุ่นสุดท้ายที่มีมวลสาร
พระราชวังพญาไท กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อปี 2522 การอนุรักษ์พระราชวัง ที่เป็นโบราณสถานให้อยู่เป็นมรดกของชาติยืนยาวชั่วลูกหลานนั้น มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทฯ ถือว่า มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะกับพระที่นั่ง 5 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์ (ยังไม่ได้บูรณะ)
พลโท สุปรีชา โมกขะเวส รองประธานมูลนิธิฯ คนที่ 1 เล่าขยายความให้เห็นถึงการทำงานอนุรักษ์ว่า มีอุปสรรคเยอะแยะ ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และกองทัพบกอย่างที่ควรจะเป็น
"แต่หากเรามองกลับไป เราก็มีสิทธิ์ที่จะภูมิใจถึงการเปลี่ยนแปลง จากอาคารที่ “เน่า” ผุ หลังคารั่ว เราสามารถบูรณะให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 20 ปี (2539-ปัจจุบัน) รวมๆ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทเห็นจะได้"
พลโท สุปรีชา ยังให้ข้อมูลเสริมถึงการหารายได้เพื่อนำมาบูรณะพระราชวังพญาไทอีกว่า รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดให้เช่าสถานที่ ทั้งตรงสวนโรมัน และในส่วนของ "พระที่นั่งเทวราชสภารมย์" ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จมาประทับ ณ วังพญาไท เมื่อ พ.ศ.2453 โดยยังปรากฏอักษรพระนามาภิไธย สผ (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ลักษณะเป็นท้องพระโรงได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซ็นไทน์ มีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุน 4 ด้านบนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา เคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันธรรมดาใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ที่มาเข้าเฝ้า บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส
"พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เราเปิดให้เช่าสถานที่ คืนละแสนห้า ซึ่งเป็นการบริจาค การใช้สถานที่นี้ ผมว่า โก้กว่าจัดงานที่โรงแรม เมื่อเทียบราคาสูสีกัน แต่ที่นี่เคยเป็นพระราชวังเก่า โดยเฉพาะการจัดงานวันอาทิตย์ สะดวกสบายเรื่องของที่จอดรถ" พลโท สุปรีชา ระบุ และว่า การจัดงานที่ผ่านมา อาทิ งาน “ชิมไวน์ ชมวัง ฟังเพลง” เริ่มปีแรก 2540 ถือเป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง มีผู้ให้การสนับสนุนอย่างมาก ทำให้เกิดรายได้จำนวนมากเข้าสู่ “โครงการบูรณะพระราชวังพญาไท” และการให้เช่าสถานที่ สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ก็เคยมาใช้สถานที่นี้ต้อนรับนางฮิลลารี คลินตัน ช่วงที่มาเมืองไทย เมื่อปี 2552
ที่มาภาพ:https://www.flickr.com/photos/statephotos/3747313852/in/photostream/
พระที่นั่งพิมานจักรี ลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง โรมาเนสก์กับโกธิค ลักษณะพิเศษ คือ มียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช
ที่มาภาพ:เพจพระราชวังพญาไท Phyathai Palace
ที่มา: หนังสือพระราชวังพญาไท จัดพิมพ์โดยชมรมคนรักวัง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/