"....บางเรื่องกำไร บางเรื่องขาดทุน เจ้าของต้องใจสู้ และการที่ตรังรามามีอายุยาวนานที่สุดในจังหวัดตรัง ถือว่าเขามีศักยภาพสูง เขาอดทนต่อสู้ มีความตั้งใจสูง ทำด้วยใจรัก โดยหลายปีก่อนตนพยายามสืบหาข้อมูล ทราบว่าเจ้าของตึกจะไม่ทุบ จะอนุรักษ์ไว้ ตนรู้สึกดีใจที่เขายังคงจะรักษาโรงหนังไว้เพื่อเป็นมรดกวัฒนธรรม แต่เมื่อทราบข่าวล่าสุดแล้วว่าเขาจะทุบทิ้ง เนื่องจากภาระที่ต้องแบกรับมาเป็นระยะเวลานาน ตนก็เข้าใจ แต่ก็อดเสียดายไม่ได้..."
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในความทรงจำสีจางๆของ วิกหนัง “ตรังรามา”
กำลังเป็นเรื่องทอล์คออฟเดอะทาวน์เรื่องใหม่ในจังหวัดตรัง
เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่า ในอีกไม่ช้าจะมีการทุบรื้ออาคารโรงหนังตรังรามา หรือ ที่ชาวตรังเรียกกันติดปากว่า "วิกตรังรามา" ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ภายในเขตเทศบาลนครตรัง
เนื่องจากเป็นอาคารร้างมานานหลายปี
หลังโรงหนังตรังรามาแห่งนี้ ได้หยุดฉายอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จากนั้นความคึกคักหน้าโรงหนังตรังรามา ได้เงียบหายไปอย่างสิ้นเชิง
โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ @ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง ซึ่งมีสมาชิก 188,996 คน ได้โพสต์ภาพเสมือนเป็นการอำลาโรงหนังเก่าแก่แห่งสุดท้ายของจังหวัดตรังแห่งนี้
พร้อมข้อความว่า “ตรังรามา ตรงนี้เป็นที่ของเอกชน ด้วยความทรุดโทรม แว่วๆมาว่าเขายื่นเรื่องขอรื้อเพื่อปรับปรุงพื้นที่ทำอย่างอื่น เลยขอบันทึกไว้เพื่อเป็นความทรงจำ จำไม่ได้ว่าตรังรามาสร้างขึ้นเมื่อไหร่ แต่เป็นโรงหนัง Stand alone แห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ของตรัง ก่อนปิดกิจการ ที่นี่มีความทรงจำดี ๆ เกิดขึ้นมากมากมาย ร้านขนมหน้าโรงหนัง ซื้อน้ำอัดลมใส่ถุง ผลไม้ ไข่นกกระทา รวมทั้งขนมจุกจิกทั้งหลายก่อนเข้าไปกินในโรงหนัง ตั๋วฉีกเป็นกระดาษ เลือกที่นั่งไม่ได้ เรื่องไหนคนเยอะ ลุ้นอาจต้องนั่งเก้าอี้เสริมสีแดง เสียงแตกของลำโพงเวลาถึงฉากระเบิด เครื่องบินหรือยานอวกาศบินผ่าน บางวันแอร์เสีย ต้องเปิดพัดลมตัวใหญ่ๆแทน
“ตรังรามาผู้มาก่อนกาล ต้นแบบของระบบ 4D ดูเรื่องแบ็ทแมน มีค้างคาวตัวจริงๆบินไปบินมา รถแห่โปรแกรมภาพยนตร์ขับวนไปรอบเมืองพร้อมเสียงประกาศ และโปสเตอร์ที่วาดกับมือ รอบไหนคนแน่น เข้าจอดรถใต้ถุนแต่ละทีลำบากยากเย็น ขาออกก็ใช่ย่อย สมัยก่อนไม่มีห้าง ไม่มีคาเฟ่ โรงหนังคือจุดรวมของวัยรุ่น ถึงไม่ได้มาดูหนังเราก็ขี่รถวนแล้ววนอีกทั้งวันทั้งคืน หลายคนโดดเรียนมาดูหนัง จนครูต้องมาดักที่หน้าโรง และหลายคนเริ่มต้น..ความรักที่นี่ ตรังรามา หยุดฉาย 28 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่องสุดท้ายที่ฉาย หน้ากากแตนอาละวาด ของเจย์ โชว์ ... ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แด่ความทรงจำสีจางๆ”
หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีสมาชิกเข้ามากดถูกใจ 7.8 พันคน แสดงความคิดเห็น 767 รายการ และมีการแชร์ออกไปถึง 1.5 พันครั้ง
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามาได้ไปติดต่อขอคำปรึกษาจากสำนักการช่าง เทศบาลนครตรัง กรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนังตรังรามา เพื่อเตรียมการเรื่องการขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
สาเหตุมาจากการแบกรับภาระในการดูแล ตลอดจนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการคำนวณในอัตราใหม่ทั่วประเทศ ทำให้ที่ดินที่มีอาคารร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องจ่ายภาษีแพงมาก ซึ่งเป็นภาระแก่เจ้าของอาคาร
อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่มีผู้ติดต่อขอเช่าต่อ เนื่องจากอาคารได้ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ถึง 800 ที่นั่ง พื้นที่เน้นการใช้สอยเป็นโรงหนังมากกว่าทำธุรกิจอย่างอื่น
กระแสการทุบทิ้งโรงหนังตรังรามาจึงเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มช่างภาพและศิลปินในจังหวัดตรัง มีการนำภาพของโรงหนังตรังรามาอดีตในแต่ละมุมมองแต่ละช่วงเวลา มาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและแฟนเพจกันจำนวนมาก
@นายสัญญา ศรีวิเชียร
นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ให้สัมภาษณ์ยืนยันอิศราว่า ขณะนี้เจ้าของอาคารโรงหนังตรังรามายังไม่ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตทุบอาคารอย่างเป็นทางการ แต่ราว 2 เดือนก่อน เจ้าของอาคารได้มาติดต่อที่สำนักการช่าง เพื่อขอคำปรึกษากรณีการขออนุญาตทุบอาคารโรงหนัง
"โดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกเสียดายหากมีการทุบทิ้งจริง แต่เป็นทรัพย์สินของเอกชนคงจะห้ามไม่ได้ ซึ่งหากเทศบาลนครตรังมีเงิน คงจะซื้อเก็บไว้ เพื่อทำเป็น Theater(โรงละคร, โรงมหรสพ)ของเทศบาล สำหรับจัดกิจกรรม การแสดงศิลปะต่างๆ และส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมมีความผูกพันกับโรงหนังตรังรามาเช่นเดียวกัน รวมทั้งในอดีตที่ที่จังหวัดตรังมีโรงหนังเฉลิมรัฐ , ศรีเมือง , ตรังรามา เด็กวัยรุ่นในเมืองตรังนิยมดูหนัง เพราะถือเป็นแหล่งบันเทิงเดิมในสมัยนั้น ซึ่งตอนนี้ตรังรามาถือเป็นโรงหนังโรงสุดท้าย ที่ยังคงรูปแบบและเอกลักษณ์ของโรงหนังและมีตัวอาคารอยู่"
“ผมก็เสียดายนะ แต่มันก็ทรุดโทรมมาก เอกชนคงจำเป็นต้องตัดสินใจ แต่อยากฝากไปบอกว่าให้เสนอขายแก่เทศบาล อาจจะในราคา 70-80 ล้าน เพราะถ้าราคาสูงมาก เทศบาลก็ซื้อไม่ได้เพราะไม่สมเหตุสมผลต่อการประเมินตามระเบียบราชการ”นายสัญญา กล่าว
ส่วน นายตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง กล่าวกับอิศราว่า ในแง่ของสถาปัตยกรรม อาคารโรงพนังตรังรามาเป็นสถาปัตยกรรมแบบ อาร์ทเดคโค่(Art Decoration) จัดอยู่ในอิทธิพลการออกแบบในยุคเรเนซองส์(Renaissance) ที่สะท้อนถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทย
"เราจะเห็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ทเดคโค่ อยู่ในหลายแหล่งสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง เช่น สมาคมฮากกา ธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกสถานีรถไฟตรัง เป็นยุคใกล้เคียงกันกับตรังรามา เป็นอิทธิในการออกแบบอาคารสาธารณะซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น อาคารตรังรามามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมมาก เนื่องจากมีความเป็นอาร์ทเดคโค่ที่ชัดเจน มีโครงสร้างเป็นเสาสูงชะลูดขึ้นไปรับน้ำหนักหลังคาแบบเรียบ และมีหลังคาหน้าจั่วซ่อนอยู่ด้านในสวยงามมาก"
@ นายตรีชาติ เลาแก้วหนู
อาจารย์ตรีชาติกล่าวอีกว่า "หลายสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง และมีเมืองเก่าหลายหลาย ๆ เมือง ที่มีการทุบทิ้งไป ถือเป็นความท้าทายด้านการอนุรักษ์ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุม สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดมาตรการด้านกฎหมายที่จะรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไว้ ถ้าเป็นเมืองเก่าที่มีกระบวนการจัดทำแผนอนุรักษ์ จะมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกเป็นเทศบัญญัติ หรือกฎหมายเฉพาะพื้นที่ เช่น ภูเก็ต มีกฎหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีการควบคุมความสูงและรูปร่างหน้าตาของอาคาร ส่วนเมืองเก่าของตรังเพิ่งประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปเมื่อปี 2564 ขึ้นกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเมืองเก่าตรังตามการประกาศไปแล้ว"
“สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน แต่เป็นเพราะเพิ่งตั้งคณะอนุกรรมการ จึงยังไม่มีข้อเสนอแนะเชิงมาตรการออกมาดูแลอนุรักษ์แหล่งมรดกสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลังอาคารเก่าทั่วประเทศโดนรื้อถอนไปเยอะ ในส่วนของตรัง ตัวอาคารเรือนไม้เก่า ซึ่งเคยเป็นหน้าตาของเมืองเก่าทับเที่ยง ถูกรื้อไปแล้วสร้างอาคารสมัยใหม่มาทดแทน เช่น เรือนไม้หลังตลาดสดเทศบาลที่เดิมหลายหลัง เนื่องจากไม่มีมาตรการมารองรับการอนุรักษ์” อาจารย์ตรีชาติกล่าว
สำหรับปลายทางแห่งทางออก กรณีอนุรักษ์อาคารเก่าอันทรงค่า อาจารย์ตรีชาติบอกว่า ในเมืองหลายเมืองมีมาตรการทางการเงินมารองรับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า มีการตั้งกองทุน เป็นลักษณะ Matching Fund คือ เวลาจะซ่อมแซม หากซ่อมแบบดั้งเดิม เจ้าของอาคารจ่ายครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งรัฐจ่าย หรือ จะดึงเอกชนมาเป็นสปอนเซอร์ อีกมาตรการที่ใช้กันเยอะในการอนุรักษ์ คือ มาตรการด้านภาษี อาจจะลดภาษี ยกเว้นภาษีในกรณีที่จะอนุรักษ์อาคารแบบดั้งเดิม หรือ ใช้อาคารเดิมประกอบธุรกิจแบบเดิมไว้ รวมทั้งมาตรการในการคืนสิทธิ คือในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สีแดงตามผังเมืองรวม เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมให้ขึ้นตึกสูงได้ 7-8 ชั้น ถ้าหากอาคารที่มีอยู่เป็นอาคารอนุรักษ์ และหากเจ้าของต้องการอนุรักษ์ไว้ เจ้าของจะเสียสิทธิสร้างอาคารสูง รัฐจึงมีนโยบายคืนสิทธิให้เจ้าของอาคารนั้น แล้วเอาสิทธิการสร้างอาคารสูงไปใช้ในที่ดินอื่นที่อยู่นอกเขตพื้นที่สีแดงได้ ซึ่งมาตรการนี้ใช้เป็นมาตรการในเมืองเก่าทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก เช่น ปีนัง มะละกา หลวงพระบาง
“ของไทยมีบางเมืองที่ใช้มาตรการเหล่านี้ แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งมาตรการคืนสิทธิและมาตรการด้านภาษี ส่วนใหญ่จะเห็นในรูปแบบของกองทุน และเมืองตรังเองยังไม่มีเลยสักมาตรการ เนื่องจากเพิ่งประกาศขอบเขตเมืองเก่า โดยทางคณะสถาปัตย์ฯมอ.ตรัง ได้สำรวจอาคารเก่าในตรังมากกว่า 40 แห่ง เช่น โบสถ์คริสตจักรตรัง บ้านไทรงาม บ้านจริงจิตร ร้านสิริบรรณ แต่อาคารโรงหนังตรังรามายังไม่เคยมีการสำรวจตัวอาคาร ทั้งด้านโครงสร้างและพื้นที่ใช้สอย เนื่องจากไม่ทราบจะประสานกับใคร และกระบวนการรังวัดอาคารตรังรามามีความยากมาก เพราะเป็นอาคารสูง และยังประเมินไม่ได้ว่าด้านในจะเข้าไปทำการศึกษาได้หรือไม่ และสภาพแวดล้อมก็มีความยาก ไม่มีพื้นที่จอดรถกระเช้า ที่จะดึงขึ้นไปเพื่อศึกษาองค์ประกอบด้านบนของอาคาร”อาจารย์ตรีชาติระบุ
เนื่องจาก “ตรังรามา” เปิดกิจการตั้งแต่ปี 2514 และมาปิดตัวลง โดยฉายหนังเรื่องสุดท้าย ไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 รวมระยะเวลา 40 ปีเต็มๆ ทำให้ชาวตรังรุ่นแล้วรุ่นเล่า ล้วนมีความผูกพันกับ “ตรังรามา” และตัวอาคารวิกหนังที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ยังคงตั้งเด่นตระหง่าน อยู่กลางเมือง
@ โฆษิต มัธยวีรเกียรติ หรือ โกเต็ก
ด้านนายโฆษิต มัธยวีรเกียรติ หรือ โกเต็ก อายุ 77 ปี ช่างวาดป้ายคัตเอาท์หนังรุ่นแรกของจังหวัดตรัง ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย บอกกับอิศราว่า ตนวาดภาพโรงหนังเฉพาะตรังรามามา 10 ปี แต่วาดมาก่อนแล้วที่โรงหนังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วิกคิงส์ , วิกควีนส์ , วิกศรีเมือง , วิกลิโด ฯลฯ ย้อนกลับไป เมื่อตรังรามาก่อสร้างเสร็จวิกศรีเมืองก็ได้เข้ามาเช่าดำเนินกิจการ ยุคแรกที่เปิดโรงหนังตรังรามา คนที่มาดูหนังมีไม่มากเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นไป 1-2 ปี ตรังรามาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อมีโปรแกรมหนังใหญ่ ๆ คนจะมาดูกันมาก โดยเฉพาะช่วงงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯของในหลวงรัชกาลที่ 9 คนดูจะติดตามดูหนังจากผลงานพากย์ ของนักพากย์หนังที่มีชื่อเสียง เช่น “กรรณิการ์ อัมรา” และ “เริงชัย ช่อทิพย์” เป็นต้น
“เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีการทุบโรงหนังตรังรามาทิ้ง ผมก็รู้สึกเสียดาย แต่จะทัดทานอะไรได้ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เพราะในยุคนี้คงไม่มีใครมาเช่าดำเนินกิจการต่อแล้ว คนสมัยนี้หันไปเสพสื่อบันเทิงออนไลน์กันหมดแล้ว ในอดีตคนจะชื่นชอบการดูหนังโรง เพราะยุคนั้นไม่มีแหล่งบันเทิงอื่น บรรยากาศโรงหนังคึกคัก คนที่มีแฟนจะชวนแฟนมาดูหนัง หรืออาศัยนัดพบกันที่โรงหนัง ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ ที่การสื่อสารมีหลายรูปแบบ คนรักกัน หรือ คนที่เป็นแฟนกัน จะติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ในอดีตตรังเป็นเมืองที่เศรษฐกิจดี ยางพาราราคาดี จึงทำให้โรงหนังผุดขึ้นในจังหวัดอย่างมากมาย” โกเต็กเล่าย้อนกลับไป
“โกเต็ก” เล่าต่อว่า ยุคเฟื่องฟูของโรงหนังตรังรามา มีคนดูแห่มาดูหนังจากทั่วสารทิศ จากทุกอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง ยิ่งช่วงงานเหลิมฯ(งานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ) จะมากกว่าปกติ เพราะตรังรามาจะมีหนังฉายมากสุดถึง 3 เรื่อง และซ้ำหลายรอบต่อวันในช่วงงานเหลิมฯ ในขณะที่รถแห่ประชาสัมพันธ์หนังที่จะฉาย จะตระเวนไปทุกอำเภอของจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ทั้ง นครศรีธรรมราช , พัทลุง และกระบี่
ขณะที่ นายวิวัย จิตแจ้ง ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทายาท “โกเว้ง จิตแจ้ง” เจ้าของวิกหนังควีนส์ วิกหนังเก่าแก่อันดับต้นๆของตรัง(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลราชดำเนิน) เล่าให้อิศราฟังว่า ตั้งแต่อดีตผู้คนเมืองตรังนิยมดูภาพยนตร์มาตลอด ราคาดูหนังถูก และสามารถให้ความบันเทิงได้มาก ครอบครัวผมเป็นผู้บุกเบิกโรงหนังโรงแรกของจังหวัดตรัง ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ทำมาโดยตลอด ส่วนตรังรามาเริ่มประมาณ พ.ศ.2514 และเป็นโรงหนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะเจ้าของเข้าใจศิลปะบันเทิง เลือกหนังหลากหลาย ทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง หนังจีน มีการพัฒนาคุณภาพเป็นระบบสเตอริโอ ซึ่งแต่ก่อนหนังจะฉายเป็นระบบโมโน ระบบสเตอริโอถ้าเป็นเสียงซาวด์แทร็ก จะชัดเจนมาก คนดูจึงติดตรังรามา แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีหลายโรงหนัง แต่เมื่อมีตรังรามาชาวตรังก็แห่มาดูกัน และตรังรามาในยุคนั้นมีความทันสมัยสุดในภาคใต้อีกด้วย
ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ เล่าต่ออีกว่า มีค่ายหนังที่ให้การสนับสนุนโรงหนังตรังรามาเยอะ หนังทุกค่ายจึงมีฉายที่ตรังรามา และนักพากย์ดังๆก็มาพากย์ที่ตรังรามาทั้งนั้น เช่น “ชัยเจริญ ดวงพัตรา” และทุกครั้งที่ คุณชัยเจริญพากย์ ฉากเปิดบนจอภาพยนตร์จะต้องขึ้นชื่อของเขา นอกจากนี้ตรังรามาเน้นคุณภาพการเขียนภาพ เน้นการเขียนศิลปะ ภาพคัทเอาท์หน้าโรงหนัง เขาจะเขียนขนาดใหญ่มาก รถแห่มีความสวยงามทุกคัน เมื่อออกแห่หนังจะเปลี่ยนทุกสัปดาห์ แม้การลงทุนด้านศิลปะ จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่อาศัยว่ามีคนดูมาก ผู้คนในอำเภอต่างๆ เหมารถมาดู ในขณะที่โรงหนังอื่นๆทยอยปิดตัว เพราะคนนิยมโรงใหม่ สิ่งใหม่
“โรงหนังตรังรามาเขาทำอย่างจริงจัง เป็นอาชีพ การทุ่มเทของเขามิได้หวังกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะการฉายหนังไม่ได้มีกำไรทุกเรื่องเสมอไป แต่ตรังรามาอยู่ได้นานถึง 40 ปี ถือว่าไม่ธรรมดาเลย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ด้วยซ้ำไป เปิดตั้งแต่ปี 2514 มาเลิกกิจการปี 2554 เป็นโรงแรกในจังหวัดตรังที่อายุยืนยาวที่สุด” วิวัย บอก
@ นายวิวัย จิตแจ้ง
“วิวัย” ยังบอกกระบวนการของ “คนโรงหนัง” ในอดีตอีกว่า การฉายหนังแต่ละเรื่องมีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าเช่าหนังระยะ 4-5 วัน มีราคานับหมื่นบาทในยุคนั้น ค่านักพากย์ มีค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหนังแต่ละเรื่อง ทั้งป้ายคัทเอาท์หน้าโรงหนัง ป้ายคัทเอาท์รถแห่ ป้ายคัทเอาท์กลางสี่แยก สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ฉะนั้นการฉายหนังหนึ่ง เรื่องบางเรื่องอาจเสมอตัว บางเรื่องกำไร บางเรื่องขาดทุน เจ้าของต้องใจสู้ และการที่ตรังรามามีอายุยาวนานที่สุดในจังหวัดตรัง ถือว่าเขามีศักยภาพสูง เขาอดทนต่อสู้ มีความตั้งใจสูง ทำด้วยใจรัก โดยหลายปีก่อนตนพยายามสืบหาข้อมูล ทราบว่าเจ้าของตึกจะไม่ทุบ จะอนุรักษ์ไว้ ตนรู้สึกดีใจที่เขายังคงจะรักษาโรงหนังไว้เพื่อเป็นมรดกวัฒนธรรม แต่เมื่อทราบข่าวล่าสุดแล้วว่าเขาจะทุบทิ้ง เนื่องจากภาระที่ต้องแบกรับมาเป็นระยะเวลานาน ตนก็เข้าใจ แต่ก็อดเสียดายไม่ได้
ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ เชื่อว่า โรงหนังมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของจังหวัดตรังด้วย คนแห่มาดูหนัง การค้าขายก็เกิดตามมา เมื่อยางพาราราคาดี คนจะคิดถึงสถานให้ความบันเทิง สมัยนั้นต้องคิดถึงโรงหนังเป็นอันดับแรก ในขณะเดียวกันเมื่อผู้คนแห่เข้ามาดูหนังในเมืองกันมาก การค้าขายในเมือง ในตำบลทับเที่ยง ก็คึกคักเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ไม่มีโรงหนังสแตนอโลน มีแต่โรงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเสน่ห์มันต่างกันเยอะ และตอนนี้ผู้คนที่เดินห้างเอง ก็ไม่ได้ดูหนังมากเท่าไหร่ เพราะมีกำลังซื้อที่น้อย มีเพียงคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูโรงหนังในห้าง คนรุ่นเก่าที่เขารักศิลปวัฒนธรรมด้านนี้ ก็แก่ตัวลงหมดแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนตามกาลเวลา
“หากเป็นไปได้ เราควรอนุรักษ์ไว้ หรือ หาใครมาซื้อ แต่มันคงเป็นไปได้อยาก ผมก็รู้สึกเสียใจ โดยจังหวัดตรังเองตอนนี้ นอกจากตรังรามาแล้ว ยังมีโรงหนังเพชรรามา ของคุณสนอง เพชรวิจิตร ที่ยังเหลือเค้าโครงของความเป็นโรงหนังสแตนอโลนอยู่ แม้เพชรามาตัวโรงหนังจะทำอะไรไม่ได้ เจ้าของซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินจะประกาศขายอยู่ แต่ตัวอาคารโดยรอบ และตลาด ยังคงทำธุรกิจ ทำมาค้าขายได้ แต่ในส่วนของตรังรามานั้นตั้งอยู่โดดเดี่ยว อยากให้จังหวัดตรังเก็บอาคารตรังรามาไว้ แต่ไม่รู้จะมีใครมาซื้อกิจการ หรือ ทางเทศบาลนครตรังจะมีงบประมาณมาซื้อหรือไม่ ถ้าเขาขายไม่แพงก็น่าจะซื้อไว้เป็นอาคารโรงละคร น่าจะมีประโยชน์กว่าการทุบทิ้ง และด้านจิตใจของคนตรังก็มีความรักต่อโรงหนัง โรงหนังยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนตรังได้พัฒนาความรู้ความสามารถ การดูภาพยนตร์ได้ความรู้ สอนให้คิดเป็น แต่ทุกอย่างล้วนสลายไปตามกาลเวลาหรือ เรียกว่าหมดยุค” ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย
แน่นอนว่า ทุกสรรพสิ่ง..ใดๆแล้วย่อมมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามกาลเวลา อาจรวมถึง “ตรังรามา” ในความทรงจำสีจางๆแห่งนี้ ด้วยเช่นกัน
หรือเราจะมีหนทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากกรณี “ตรังรามา” ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนในขณะนี้