สื่อไทยยืนบนจุดไหน ในยุคโควิด-19 อดีตกรรมการสิทธิฯ เเนะทำหน้าที่สุจริต องค์กรกำกับต้องร่วมมือ ไม่ปกป้องพวกพ้อง หากพบสื่อมวลชนละเมิดเอง ด้านนักวิชาการ จุฬาฯ ชี้ข่าวการเมือง สังคม ไม่ค่อยมีเสรีภาพ 'เลขาธิการ ครป.' หวังใช้สถานการณ์ตีเเผ่ปัญหาเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การเเก้ไข
บทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในประเทศไทยห้วงสถานการณ์การเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ถูกสังคมจับตา โดยเฉพาะประเด็นเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพราะมีความคาดหวังจากผู้เสพสื่อในการได้รับองค์ความรู้จากการรับข้อมูลข่าวสาร มากกว่าการรายงานเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิต
ทั้งอยากจะเห็นสื่อมวลชนรายงานสถานการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศควบคู่ไปด้วย เช่น กรณีการเข้าร่วมข้อตกลงความเข้าใจเเละความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามเเปซิฟิก หรือ CPTPP หรือ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ได้เเก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเเก้ไขปัญหาเยียวยาเเละฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินเเก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเเละความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 เเละพ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอกนิกส์ พ.ศ. 2563
เเน่นอนว่า การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนเเละประเทศชาติ ย่อมต้องยึดหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ไม่ถูกปิดกั้นข้อมูล ข้อเท็จจริง เเละไ่ม่ถูกฟ้องกลั่นเเกล้งหรือปิดปาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาการหนังสือพิมพ์เเห่งชาติเเละ CoFact Thailand จึงหยิบยกประเด็นขึ้นมาพูดคุยในเวทีเสวนาออนไลน์ มีเดีย ฟอรั่ม ครั้งที่ 11 หัวข้อ เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด-19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ เริ่มต้นปูพื้นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ว่าองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ เเละวัฒนธรรมเเห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เสนอต่อสมัชชาใหญ่เเห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อรำลึกถึงบทบาทของสื่อมวลชนทั่วโลกที่อุทิศตนทำงานในฐานะเป็นผู้นำสารเผยเเพร่ให้ความรู้เเละเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ
โดยในทุกปี ยูเนสโกจะจัดให้มีการรำลึก อภิปราย เเละเสวนาใหญ่ เเต่กลับพบว่า ไม่ค่อยเห็นการจัดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเเละเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ เสรีภาพสื่อมวลชนยังมีความสำคัญอย่างยิ่งกับบรรยากาศในความเป็นประชาธิปไตย อดีตกรรการสิทธิฯ ให้เหตุผลว่า เสรีภาพสื่อสะท้อนเสรีภาพประชาชน หากสื่อมวลชนสามารถรายงานข้อเท็จจริงได้ โดยไม่ปิดบัง ปราศจากความกลัว ถูกข่มขู่คุกคาม จะทำให้ประชาชนมีข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้อง ประเทศจะเข้มเเข็ง เเละประชาชนจะสามารถเเลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเเถลง เเสดงความเห็นของโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลได้ โดยอิสระเเละปราศจากความกลัว
"ประเทศไทยให้อนุสัญญาสัตยาบันหลายฉบับ เเละเมื่อ มี.ค. 2560 ไทยได้รายงานตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยต้องส่งรายงาน เพื่อตอบคำถามของคณะกรรมการ ทำให้มีข้อกังวลต่อรายงานของประเทศไทย คือ เรื่องการข่มขู่ก่อกวนนักหนังสือพิมพ์ไทยเเละต่างประเทศ คนทำงานด้านสื่อ นอกจากนั้น กรรมการสหประชาชาติยังกังวลต่อการฟ้องร้องคดีสื่อมวลชนเเละผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่มีความเข้มงวด ทำให้เสรีภาพสื่อมวลชนถูกจำกัด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยังมีข้อเสนอเเนะให้ประเทสไทยมีหลักประกันในการป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนอย่างพอเพียง โดยเฉพาะให้ยุติการข่มขู่คุกคาม การฟ้องกลั่นเเกล้ง เเละปิดปาก"
สื่อไม่ควรรายงานโควิด-19 เฉพาะยอดคนเจ็บ-คนตาย
นางอังคณา กล่าวต่อว่า ในช่วงโรคระบาดใหญ่เชื้อโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยเท่านั้น เเต่ยังกระทบต่อพลเมืองทั่วโลก มีการเดินทางการเคลื่อนย้ายถิ่นของพลเมืองในประเทศทั่วโลก เรียกว่ากระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม เเละวัฒนธรรม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด ปกป้องตัวเอง เเละครอบครัว เพราะโรคระบาดนำมาซึ่งการเปลี่ยนเเปลง
"ต่อไปต้องอยู่เเบบชีวิตวิถีใหม่ หากประชาชนไม้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีเสรีภาพในการตั้งคำถาม สอบถาม หรือถกเเถลง จะทำให้ประชาชนไม่สามารถดูเเลตนเองได้ โดยเฉพาะคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง"
การระบาดของโควิด -19 จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก ไม่เฉพาะรัฐบาล เเต่ยังท้าทายต่อเศรษฐกิจ การค้า การทำงาน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มเปราะบาง การเข้าถึงข้อมูลถูกต้องเเม่นยำ จะสร้างองค์ความรู้กับสังคม ชุมชน ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมมือกันในการป้องกัน ทำอย่างไรให้เกิดการเกื้อกูลกันระหว่างรัฐกับประชาชนเเละประชาชนกับประชาชน
"นักข่าวเเละคนทำงานด้านสื่อจึงมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจของประชาชนในการเเก้ปัญหาเพื่อการอยู่รอด ต่อสู้กับการระบาดของโรค ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่จะกระทบต่อพลเมืองทั้งในประเทศเเละโลก หากเราได้ข้อมูลผิดพลาด ย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจผิดพลาด"
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่ผ่านมา เธอบอกว่า เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกร้องรัฐบาลทุกประเทศให้รับประกันว่านักข่าวจะสามารถทำงานได้ตลอดการระบาดของเชื้อโควิด-19 เเละให้รัฐบาลทุกประเทศปกป้องสื่อมวลชนเเละให้มีหลักประกันของเสรีภาพ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม เเละสันติภาพ
"ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หลายประเทศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เเละในบางประเทศพบว่า มีนักข่าวถูกจำกัดเสรีภาพการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวลบที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม บางครั้งเสรีภาพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอาจถูกจำกัดได้ เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เเต่ไม่ได้หมายความว่าสิทธิเสรีภาพทุกอย่างจะต้องถูกจำกัด" นางอังคณา กล่าว เเละชี้ให้เห็นว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะไทย ดังนั้นการเเก้ไขโดยกลไกภายในประเทศ ทั้งการรายงานข้อเท็จจริง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่เฉพาะในประเทศใด เเต่รวมถึงในระดับระหว่างประเทศ จึงมีความสำคัญ
"ในประเทศอิตาลี ช่วงที่มีการระบาดรุนเเรง จะเห็นสภาพว่า เเพทย์ต้องเลือกจะรักษาใครที่มีโอกาสอยู่รอด เห็นข่าวผู้ป่วยสูงอายุ เมื่อไปรพ.เเล้ว จะไม่มีโอกาสได้พบกับญาติอีก เสียชีวิตโดดเดี่ยว ทำให้เกิดความเศร้าสะเทือนใจมาก ตอนนั้นมองว่าหากเกิดสถานการณ์เเบบนี้ในประเทศไทย เราจะจัดการหรือสื่อสารอย่างไร เเต่น่าดีใจ ที่ประเทศไทยสามารถป้องกัน โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนดีมาก ทำให้ไปไม่ถึงสถานการณ์ร้ายเเรงนั้น"
อดีตกรรมการสิทธิ์ฯ กล่าวถึงการรายงานข่าวช่วงโรคระบาดโควิด-19 ถือว่าเป็นโรคระบาดร่วมสมัยเเละเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น การรายงานข่าวที่มีความสำคัญ คือ สื่อมวลชนไม่ควรรายงานเฉพาะอุบัติการณ์ การเกิด การเเพร่กระจาย จำนวนคนเจ็บ คนตาย เท่านั้น เเต่ควรรายงานครอบคลุมเรื่องการอยู่ร่วมกันดูเเลครอบครัวคนป่วย การให้กำลังใจ การเกื้อกูลช่วยเหลือกัน ทำให้การรายงานข่าวเเนวการเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นเชิงบวก ถึงเเม้จะทำให้รู้สึกหดหู่ใจบ้าง เเต่จะนำมาสู่การเเก้ไขปัญหาได้
"ไม่ได้มีเรื่องที่สำคัญเฉพาะโรคระบาดอย่างเดียว เเต่มีหลายเรื่องที่จะกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ การลงทุน สิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช เมืองต้นเเบบอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เรื่องเหล่านี้สื่อมวลชนมีความสำคัญมากที่จะให้ความสำคัญเเละเป็นปากเป็นเสียงเเละให้ข้อมูลเเก่ประชาชนเเละนำข้อมูลข่าวสารจากประชาชนสะท้อนไปยังรัฐด้วย"
นางอังคณา สะท้อนมุมมองสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่อย่างสุจริตเเละองค์กรสื่อควรร่วมมือกันในการกำกับดูเเลสื่อด้วยกันเอง กรณีที่สื่อมวลชนถูกคุกคาม ทำร้าย องค์กรจะต้องออกมาปกป้อง รัฐบาลต้องสืบสวนสอบสวน นำคนผิดมาลงโทษ ได้รับการเยียวยา เรียกร้อง รณรงค์ ไม่ให้มีการฟ้องสื่อมวลชนที่รายงานข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นเเกล้ง หรือปิดปาก เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมาก เเละกรณีทีสื่อมวลชนเป็นผู้ละเมิดเอง องค์กรสื่อต้องตรวจสอบ ไม่ปกป้องพวกพ้อง ทำหน้าที่ปกป้องประชาชน กรณีพบมีการละเมิดให้ชดใช้ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ขอโทษสาธารณะ ใช้กฎหมาย เเละเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่มีโรคระบาดสามารถควบคุมได้ในระดับน่าพอใจ คิดว่า หากอนาคตจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก ควรรับฟังเสียประชาชนด้วย เพราะจะทำให้สิทธิเสรีภาพจะหายไป โดยสนับสนุนให้นำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาใช้เเทน
ข่าวการเมือง-สังคม สื่อไทยมีเสรีภาพไม่เต็ม 100
ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เวลาพูดถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน จะจำเเนกเป็น 2 กลุ่ม คือ สื่อบันเทิง เเละสื่อข้อมูลข่าวสาร
1.สื่อบันเทิง หากมองสื่อบันเทิงของไทย คนจะบอกว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น การใช้คำพูดกลั่นเเกล้ง การใช้คำสร้างความเกลียดชัง นำเสนอเรื่องละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเราจะมองเป็นเรื่องบันเทิง ขำ ๆ ไม่ต้องจริงจังอะไรมาก เเละการไปสร้างภาพตีตราคนกลุ่มต่าง ๆ จะพบเห็นในกลุ่มนี้ ทั้งที่ความจริงเเล้ว มองว่า สื่อบันเทิงเป็นสื่อที่มีผลต่อการปลูกฝัง ตอกย้ำความคิด ทัศนคติคนในสังคมมาก เเต่หน่วยงานด้านการกำกับดูเเลไม่จริงจังมากนัก เช่น กรณีทีวี จะเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เเละกิจการโทรคมนาคมเเห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)จะตั้งรับ ถ้าไม่มีคนร้องเรียนก็จะไม่ทำอะไร เเต่ถ้ามีคนร้องเรียน ปรากฎว่ากระบวนการร้องเรียนใช้เวลานานมาก บางครั้งผ่านไปครึ่งปี เพิ่งหยิบเรื่องขึ้นมาพิจารณา เพราะมองว่าเป็นสื่อบันเทิง ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่
2.สื่อข้อมูลข่าวสาร เเบ่งย่อยเป็น ข่าวเบา ได้เเก่ ข่าวบันเทิง ข่าวอาชญากรรม พบว่า จะมีเสรีภาพใกล้เคียงกับสื่อบันเทิงค่อนข้างมาก ถูกมองเป็นเรื่องบันเทิง มองไม่เห็นว่าชีวิตของคนในข่าวเป็นขีวิตของคนจริง ๆ เเต่เป็นการเล่าเหมือนละคร มีพระเอก นางเอก ผู้ร้ายในสังคม เเละมีการตีตรา ตำหนิ โดยลืมนึกถึงว่าคนเหล่านี้อยู่ในสังคมเเละมีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย เพราะฉะนั้นการนำเสนอข่าวที่เป็นกลุ่มข่าวเบาเหล่านี้ มีโอกาสละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเเละปัญหาความรับผิดชอบต่อสังคมสูงเช่นกัน
"การทำภาพซีจี การจำลองเหตุการณ์ฆาตกรรมต่าง ๆ กลายเป็นว่า เห็นชัดทุกอย่างหมด มีขั้นตอนกรรมวิธีอย่างไร หั่นเเบบไหน เลือดกระฉูดมากน้อยเเค่ไหน หรือคดีทางเพศ ถูกรุมโทรมเเบบไหน หรือละเมิดตามติดชีวิตบุคคลในสังคมที่สนใจ เช่น เซเลป ดารา หรือกรณีเหตุกราดยิงโคราช มีการเเย่งกันนำเสนอข่าวค่อนข้างเร็ว กลายว่า ออกเร็วกว่า จะชนะ เเต่นำเสนอข่าวผิดหรือถูกอย่างไร กลับไม่ตรวจสอบ จนทำให้ถูกตำหนิในสังคมค่อนข้างมาก
เวลาเห็นข่าวไม่เหมาะสม บางทีตำหนิหรือเเชร์มาโพสต์ด่า กลับสร้างยอดวิว ยอดเเชร์ให้สื่อเหล่านั้น เป็นปัญหาว่าสื่อทำไม่ดี เเต่สามารถสร้างยอดวิว เรตติ้งได้สูง จะกลายเป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม เเล้วเวลาคนนอกมองปัญหาเสรีภาพสื่อมวลชนไทย บางทีจะไปจับสื่อข่าวเบา เช่น กรณีข่าวอาชญากรรมไม่เหมาะสม ถ่ายทอดสดเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือกรณีที่ไปตามชีวิตหรือถ่ายตอนที่มีงานศพของผู้มีชื่อเสียง ทำให้คนนอกนำมาร้องเรียนว่าสื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพมากเกินไป จะต้องมีการควบคุม จำกัด ขึ้นทะเบียน ให้ใบอนุญาต"
ส่วนข่าวหนัก นักวิชาการ จุฬาฯ ระบุได้เเก่ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม ซึ่งสื่อมวลชนไทยไม่ค่อยมีเสรีภาพ เเละคนในสังคมอาจยังไม่ค่อยมองเห็นชัด เพราะข่าวถูกจำกัดตั้งเเต่ข่าวจะนำเสนอออกไป เเม้ทุกวันนี้จะมีสื่อหลากหลายจำนวนมาก เเต่ยังมีผู้คนจำนวนมากอยู่ในห้องเล็ก ๆ ในเรื่องของเสียงสะท้อน เป็นห้องที่อยู่เฉพาะกลุ่มคนที่คิดถึงกัน เสพสื่อที่เราเห็นด้วยหรือชอบ หรือมีความเชื่อทางการเมืองเหมือนกัน ทำให้ภาพว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอาจถูกจำกัดจากผู้มีอำนาจ คนบางกลุ่มอาจมองว่าไม่ได้เป็นขนาดนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดขนาดนั้น เพราะเราอยู่ในห้องของกลุ่มไหน รวมถึงต้องยอมรับว่า ปัญหาการเเตกเเยกในสังคมทุกวันนี้ มีการฝังรากมายาวนานเป็นสิบปี ยิ่งเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา เเทบเป็นยุคความเเตกเเยกเป็นเสี่ยง ๆ ในสังคม
ผศ.ดร.มรรยาท กล่าวถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนในยุคโควิด-19 ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาของสังคมไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนไป ปัญหาเดิม ๆ สังคมเดิม ๆ ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ ความรับผิดชอบของสื่อที่มีมากเเละน้อยต่างกัน ความเเตกเเยกเหลื่อมล้ำคนในสังคม เกิดขึ้นมายาวนาน เพียงเเต่การมีโควิด-19 ทำให้ภาพนั้นถูกขยายใหญ่ จนกระทั่งมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเป็นวิกฤตส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นความตาย ทำให้เสริมขึ้นมา เป็นช่วงเวลาที่คนในสังคมยินยอมให้จำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเอง ในเรื่องการติดต่อสื่อสาร การเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ การเข้าร่วมประเพณี เป็นสิ่งที่ถูกจำกัดไปหมดเลย
ขณะเดียวกันไม่ใช่เเค่คนเรายินยอมให้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ เเต่ยังใช้สายตาของตนเองมองไปที่คนอื่น ใช้เเว่นของตนเองไปตัดสินว่า ฉันมีความรับผิดชอบต่อสังคม เเต่คนนั้นทำไมไม่รักชาติ สร้างความเดือดร้อนให้สังคม จนลืมที่จะมองมุมอื่น ๆ ของสังคมด้วย ฉะนั้นเมื่อใครไม่ยอมให้ถูกจำกัดเสรีภาพ ทำให้เกิดความรังเกียจ เเละการล่าเเม่มด ทำให้เกิดความเเตกเเยกในสังคม เมื่อสื่อมวลชนนำเสนออีก จะเป็นการขยายรอยเเยก ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความสับสนของชีวิต ข้อมูลข่าวสารเยอะมาก คนไม่รู้อันไหนจริง หรือไม่จริง เเม้เเต่ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ปลอมหรือไม่ปลอม จึงเกิดเป็นวิกฤตสับสนของข้อมูลข่าวสาร
"สื่อมวลชนเน้นรายงานสถานการณ์เกิดขึ้นว่ามีคนเท่าไหร่ พื้นที่ไหนเสี่ยง บางทีเมื่อรายงานภาพรวม ทำให้คนกลัว เช่น ห้างเเทบไม่มีคนเดิน ในเวลายังไม่ถูกปิด พอนำเสนอออกไป เกิดผลกระทบ เพราะเกิดจากความกลัว เพราะสื่อมวลชนทำให้เข้าใจได้ว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ข้อมูลเเปลว่าอะไร ต้องป้องกันเเละตั้งรับอย่างไร ทำให้เกิดความตื่นกลัวมากกว่าตื่นตัว เมื่อตื่นกลัวเเล้ว ทำให้สื่อมวลชนมีการชี้หน้ากัน คนในสังคมชี้หน้าด่ากัน ฉันทำถูก เธอทำผิด ฉันคือคนรับผิดชอบ เธอขาดความรับผิดชอบ กลายเป็นการชี้หน้ากันมากกว่าชี้ทางออกให้กับสังคม" นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ระบุ
สื่อใช้โอกาส 'โควิด-19' ตีเเผ่ปัญหาเหลื่อมล้ำ
"วัคซีนเสรีภาพที่มีอยู่ คือ ความรับผิดชอบ คาดหวังว่า สื่อมวลชนจะใช้เสรีภาพนั้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์เเละรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การเเก้ไขปัญหา ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ" นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดประเด็นขึ้น
เขากล่าวต่อว่า น่าเเปลกใจ! ในปีนี้ องค์กรนักข่าวไร้พรมเเดน ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 กลับทำให้เป็นภัยคุกคามต่อสื่อมวลชนเลวร้ายลง สำหรับประเทศไทย สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนตกไปอยู่ในอันดับ 140 ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ เเละอำนาจที่ใช้อยู่ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่ถูกใช้เพื่อสังคมโดยรวมหรือไม่ มากน้อยเท่าไหร่ เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีการประเมิน
"ตอนนี้ทุกคนมีเสรีภาพส่วนตัว เเต่เรายอมให้ถูกจำกัดลง เพื่อความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อกฎหมายพิเศษฉุกเฉิน หรือกฎหมายโรคติดต่อ เเต่สิ่งเหล่านี้ สังคมต้องตรวจสอบว่า สิ่งที่เราถูกลิดรอนสิทธิเพื่อให้ภาครัฐเข้าไปเเก้ไขนั้น ปัญหาถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เเละผลพวงจากการใช้อำนาจนั้นมีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่"
ทั้งนี้ หากมองในภาพบวก เลขาธิการ ครป. ระบุเราเห็นภาพภาคเอกชน ภาคประชาสังคมร่วมกันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันเเละกันมาก ในการผ่านพ้นวิกฤต มีความเห็นอกเห็นใจกัน เเม้กระทั่งตู้ปันสุข ถือเป็นโครงการที่น่าชื่นชมเเละฟื้นความต้องการให้น้ำใจไมตรีของมนุษยชนขึ้นมา จึงนับเป็นเรื่องที่ดี เเต่ในส่วนของการจัดการภาครัฐนั้น เราพูดกันเรื่องความรับผิดชอบของสังคม ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่อยู่เเล้ว เเต่เสรีภาพบนความรับผิดชอบของทุกฝ่ายมีความสมดุลอย่างไร
"หลายเรื่องรัฐประเมินเองทั้งหมด รวมถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน องค์กรสื่อต่าง ๆ ประเมินกันเองได้เเค่ไหน เพราะจากตัวเลขที่สื่อมวลชนไทยถูกจัดอันดับตกลงไป เพราะอะไรบ้าง กฎหมายลิดรอนสิทธิอย่างไร ให้การทำหน้าที่มีส่วนในการพัฒนาสังคม เปิดโปงข้อเท็จจริง เเละตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันฝ่ายค้านหรือสภาผู้เเทนราษฎรยังไม่เปิด การทำหน้าที่ของสื่อจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริง กลั่นกรอง เเละนำไปสู่การตรวจสอบเรียกร้องให้ภาครัฐเเก้ไขปัญหา"
เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีศูนย์ ศบค. เพื่อควบคุมเเเละบริหารข่าวสารที่ชัดเจนเเละมีประสิทธิภาพ เเต่ต้องตรวจสอบว่าการสื่อสารทางเดียวนี้มีผลต่อสังคม ทั้งด้านดีเเละไม่ดีอย่างไร เเละด้านไม่ดีจะเเก้อย่างไร ไม่ใช่เป็นภาระหรือบทบาทของหน้าที่ของภาครัฐจะใช้อำนาจอย่างเดียว การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉุกเฉินเหมาะสมหรือไม่ ใช้กลไกอย่างมีประสิทธิภาพหรือใช้อำนาจไม่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทของสื่อมวลชนต้องตรวจสอบเเละนำเสนอข้อมูลข่าวสาร นอกจากบทบาทของฝ่ายค้านต่าง ๆ หรือภาคประชาชน
"สถานการณ์โควิด-19 เป็นยุคที่ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนที่สุด คนยากคนจนต้องซื้อสินค้าประทังชีวิตเเต่ละวัน เศรษฐกิจของคนจนหมุนไปกับ 20 มหาเศรษฐีที่รัฐบาลออกจดหมายขอความร่วมมือ ซึ่งมีทรัพย์สิน 3.6 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมาก ในขณะที่คนจนมีมากถึง 10 ล้านคน มีเงินเดือนไม่ถึง 1 หมื่นบาท เป็นปัญหาสำคัญ ที่ใช้วิกฤตโควิด-19 ไปเเก้ปัญหาโครงสร้างไม่เป็นธรรมทั้งระบบได้หรือไม่" นายเมธา กล่าว
**********************************
สถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นโอกาสให้สื่อมวลชนไทยได้ใช้ศักยภาพเเละเสรีภาพบนความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวเเละช้อนความผิดหวังของประชาชนที่ซุกอยู่ใต้พรมมาตีเเผ่ขยายให้สังคมได้รับรู้ จนนำไปสู่การเเก้ไขต่อไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/