กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ทุกตัวชี้วัด เป็นจังหวัดที่มี GPP สูงสุด มูลค่า 5 ล้านล้านบาท แต่ก็พบ สร้างประมาณขยะสูงสุด 1.3 หมื่นตันต่อวัน มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับร่างกาย คดีเกี่ยวกับทรัพย์ และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนนสูงกว่าทุกแห่ง
ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ที่สามารถใช้ระบุปัญหาความยากจน 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ รายได้ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการรัฐ ลงลึกตั้งแต่ระดับประเทศ ถึงระดับรายบุคคล ทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น สามารถออกแบบนโยบายในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้
ล่าสุด ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดขขจร นักวิจัย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ใช้ข้อมูลเปิด (Open Data) ปี 2560 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึง ความน่าอยู่ของแต่ละจังหวัด (Livable Provinces)
ความน่าอยู่ของแต่ละจังหวัด มากน้อยแค่ไหน ในมุมมองทางเศรษฐกิจและสภาพสังคม ดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว (Gross Provincial Product : GPP) หรือที่เรียกว่า GDP ของแต่ละจังหวัดไปพร้อมๆ กับข้อมูลปริมาณขยะ จำนวนผู้ก่อคดีเกี่ยวกับร่างกายและเพศสูง จำนวนผู้ก่อคดีเกี่ยวกับทรัพย์ และจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
จังหวัดที่มี GPP สูง (ลำดับต้นๆ) เป็นจังหวัดที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างปริมาณขยะต่อวันสูงเช่นกัน มีจำนวนผู้ก่อคดีเกี่ยวกับร่างกาย และเพศสูง จำนวนผู้ก่อคดีเกี่ยวกับทรัพย์ และจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทางกลับกัน จังหวัดที่มี GPP ต่ำ มีแนวโน้มสร้างปริมาณขยะต่อวันลดลง มีจำนวนผู้ก่อคดีที่เกี่ยวกับร่างกายและเพศลดลง มีจำนวนผู้ก่อคดีเกี่ยวกับทรัพย์ และจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน น้อยลง
ทั้งนี้ ข้อมูลความน่าอยู่ของแต่ละจังหวัด พบว่า 15 จังหวัด ที่มี GPP สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา สงขลา สระบุรี และเชียงใหม่
15 จังหวัดที่มี GPP ต่ำสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ สมุทรสงคราม หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร สิงห์บุรี ระนอง นครนายก บึงกาฬ อ่างทอง แพร่ อุทัยธานี น่าน ชัยนาท
หากไล่ดู กรุงเทพฯ พบว่า ติดอันดับ 1 ทุกตัวชี้วัด เป็นจังหวัดที่มี GPP สูงสุดลำดับที่ 1 มูลค่า 5 ล้านล้านบาท แต่ก็พบว่า สร้างประมาณขยะสูงสุด 1.3 หมื่นตันต่อวัน มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับร่างกาย 2 พันกว่าคน มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับทรัพย์ 5 พันกว่าคน และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนน 9.3 หมื่นคน
เมื่อเจาะดูปริมาณขยะต่อวันของแต่ละจังหวัด 5 อันดับแรก พบว่า กรุงเทพฯ สร้างปริมาณขยะต่อวันมากสุด ขึ้นอันดับ 1 ตามด้วย ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ ขอนแก่น และนนทบุรี
ส่วน "มุกดาหาร" นับเป็นจังหวัดที่สร้างปริมาณขยะน้อยสุด ปริมาณ 125 ตันต่อวัน อยู่ลำดับที่ 77
ขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดอันดับ 1 เกือบทุกตัวชี้วัด เป็นจังหวัดที่มี GPP ต่ำสุด อยู่ลำดับที่ 77 ซึ่ง GPP นั้น อธิบายภาพรวมด้านเศรษฐกิจของจังหวัดนี้ได้คะแนนต่ำสุด มีมูลค่า GPP 1.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดอื่นๆ ทั้งปริมาณขยะ คดีต่างๆ และอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็ต่ำกว่าทุกจังหวัด
เฉพาะ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor:EEC ) 3 จังหวัด น่าอยู่หรือไม่ พบว่า
- ฉะเชิงเทรา GPP อยู่อันดับ 8 มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท มีปริมาณขยะ 777 ตันต่อวัน ลำดับที่ 35 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับร่างกาย 207 คน ลำดับที่ 27 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับทรัพย์ 418 คน ลำดับที่ 33 และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนน 1 หมื่นคน ลำดับที่ 36
- ชลบุรี GPP อยู่อันดับ 3 มูลค่า 9.7 แสนล้านบาท มีปริมาณขยะ 2.5 พันตันต่อวัน ลำดับที่ 2 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับร่างกาย 371 คน ลำดับที่ 6 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับทรัพย์ 1,162 คน ลำดับที่ 3 และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนน 5.2 หมื่นคน ลำดับที่ 2
- ระยอง GPP อยู่อันดับ 2 มูลค่า 9.8 แสนล้านบาท มีปริมาณขยะ 989 ตันต่อวัน ลำดับที่ 21 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับร่างกาย 267 คน ลำดับที่ 19 มีผู้ถูกจับกุมคดีเกี่ยวกับทรัพย์ 948 คน ลำดับที่ 8 และมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตบนท้องถนน 2.4 หมื่นคน ลำดับ 9
ดังนั้น แม่ฮ่องสอน จึงได้นับได้ว่า เป็นจังหวัดน่าอยู่ แม้จะเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด แต่มีความสุขมากสุด ส่วนกรุงเทพมหานคร เศรษฐกิจดี แต่ก็พบปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงเช่นกัน
แล้วเราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะมีส่วนร่วมอย่างไร ในการทำจังหวัดของเราให้น่าอยู่บ้าง ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/