งานหลักของส่วนราชการไทย เราทุ่มเทคน แรงงาน ทรัพยากร ไปกับงานเล็กๆ ที่มีวงเงิน 5,000-100,000 บาท ไปกว่า 2 ล้านโครงการ ทั้งที่งานแค่ 2% วงเงินเกิน 500,000 บาทมีผลกระทบมาก เปรียบเหมือนคนทำมากแต่ได้น้อย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 สำนักงาน ป.ป.ช. จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” ปี 2562 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในงานเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนร่วมรู้กัน โดยแบ่งกลุ่มตามประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต ยุทธศาสตร์ที่ 3 สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต และยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก มุมมองผ่านการพัฒนานวัตกรรมของหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกรมบัญชีกลาง
สพร.
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โชว์นวัตกรรมภาครัฐกับการเปิดเผยข้อมูล ผ่านระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ “เว็บไซต์ govspending.data.go.th” และ “แอปพลิเคชัน ภาษีไปไหน” ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการป้องกันการทุจริตเชิงรุก ที่ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 แม้แต่รายได้ของท้องถิ่น ก็มีการเปิดเผยในระบบนี้แล้ว แม้จะยังไม่ครบสมบูรณ์ก็ตาม
ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ หน่วยงานไหนบ้างที่ต้องร่วมมือ มีตั้งแต่คณะกรรมการต่อการต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมบัญชีกลาง กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลฯ
รองผอ.สพร. ชี้ว่า ทุกหน่วยงานมีความตั้งใจและให้ความร่วมมือพยายามใส่ข้อมูลในฐานข้อมูลนี้ หากจะล้าช้าไปบ้าง คิดว่ามาจากความพร้อมของข้อมูล หรือแม้บางหน่วยงานมีข้อมูลจัดเก็บแบบดิจิทัล แต่การเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน จัดเก็บคนแบบกัน ซึ่งกว่าจะคุยหรือตกลงกันได้ ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่จะไหลเข้าสู่ระบบตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงกันได้ นี่คือความยากสุด
จากระยะแรก "ภาษีไปไหน" จนถึงระยะสอง "ภาษีมาจากไหน" รองผอ.สพร. ระบุว่า ระยะสาม รายได้มาจากไหน จะมีข้อมูลที่มากกว่าเรื่องของภาษีแล้ว และปัจจุบันประชาชนสามารถดูข้อมูลตั้งแต่ แหล่งรายได้รัฐบาลมาจากไหนบ้าง จัดเก็บได้เท่าไหร่ รวมถึงรายได้จากท้องถิ่น ทุกโครงการ ที่กรอกเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic GovernmentProcurement : e-GP) ของกรมบัญชีกลาง จะอยู่ในระบบภาษีไปไหน
ขณะเดียวกันพอจัดซื้อจัดจ้างได้ ผลปรากฎว่า บริษัทไหนได้งานภาครัฐ ก็จะอยู่ในระบบภาษีไปไหน รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างมาด้วยวิธีการแบบไหน
"ที่สำคัญ มีการตามต่อโครงการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว เบิกจ่ายไปหรือยัง มีการเชื่อมโยงกับข้อมูล การบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) และอีกมิติที่สร้างขึ้นมา คือ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ละโครงการจะมีช่องให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านแต่ละโครงการได้ รวมถึงหากโครงการไหนพบความไม่ถูกต้อง หรือผู้รับงานทำงานไม่เรียบร้อย ก็สามารถถ่ายรูปส่งข้อมูลผ่านหน่วยงานได้เลย"
นางไอรดา ยังให้ข้อมูลถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีไม่ต่ำกว่า 3 ล้านโครงการต่อปี ฉะนั้น ในระบบมีการเชื่อมโยงข้อมูลโครงการของภาครัฐตั้งแต่ปี 2558-2562 กว่า 10 ล้านโครงการ ประชาชนอยากสืบค้นของมูลแบบไหน สามารถเลือกเงื่อนไขดูได้ รวมถึงการทำรายงานพื้นฐานเบื้องต้น ถือเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่สามารถนำไปวิเคราะห์ใช้งานในมิติต่างๆ ได้ด้วย
ยกตัวอย่างการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเฉพาะปีงบประมาณ 2562 วงเงินงบประมาณ 9 แสนกว่าล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 8 แสนกว่าล้านบาท (ต่อรองราคา) จำนวนโครงการ ณ ขณะนี้ที่บันทึกอยู่ใน e-GP จำนวน 2.9 ล้านโครงการ
ระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเช่นนี้ คนที่ได้ประโยชน์มีตั้งแต่...
1. ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเก็บภาษี ได้จากจุดเดียว แทนที่จะไปขอทีละหน่วยงาน
2.ภาคเอกชนใช้ติดตาม ตรวจสอบ คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มการลงทุนของภาครัฐในด้านต่างๆ ได้ จะเห็นงบประมาณลงไปกระจุกที่ไหนบ้าง แม้แต่คู่แข่งในธุรกิจเป็นใครในการรับงานภาครัฐ
3. ประชาชนได้รับรู้เงินภาษีภาครัฐนำไปทำอะไร พัฒนาประเทศด้านไหน ทั้งยังมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส ในโครงการต่างๆ ได้ด้วย
กรมบัญชีกลาง
นายธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างของท้องถิ่น ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 7 พันแห่งทั่วประเทศนั้น อดีตกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของท้องถิ่นออกโดยกระทรวงมหาดไทย ระบบเบิกเงิน การเงิน บัญชี แยกออกต่างหาก ไม่เกี่ยวข้องกับระบบกลาง ซึ่งปัญหาแบบนี้แม้จะใช้งบประมาณเหมือนกัน แต่วิธีใช้วิธีจ่ายไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นปัญหาของท้องถิ่น คือ การควบคุมมาตรฐาน การกรอกข้อมูลเหมือนกัน คุณภาพแบบเดียวกัน
"ข้อดีของการมีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้เข้าไปบังคับท้องถิ่นได้มาก ซึ่งหากดูตัวเลขการกรอกข้อมูลเข้าระบบ ท้องถิ่นมีการกรอกข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อนาคตจะมีการนำข้อมูลเชื่อมกับเรื่องของการเบิกจ่ายเงิน GFMIS ให้เหมือนราชการ นำร่อง "เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ" ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า ข้อมูลของท้องถิ่นทุกโครงการ เปิดเผย โปร่งใส"
ส่วนทิศทางการพัฒนาระบบการ E-bidding นั้น นายธนะโชค มองว่า การมีกฎหมายไม่ได้หมายความว่า ทำให้แต่ละหน่วยงานกรอกข้อมูลได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งที่กรมบัญชีกลางทำได้นำขั้นตอนตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างมาออกแบบให้เป็นระบบ กรอกข้อมูลในระบบ e-GP และตั้งเบิกในระบบGFMIS
จากการทำสำรวจ พบจำนวนตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีทัศนคติว่า ไม่ทราบข้อมูล
"ประสบการณ์ที่ผ่านมา ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เราพบว่า มีขั้นตอนบางส่วนไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง e-Auction การประมูลจัดซื้อจัดจ้างแบบออนไลน์ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต พบปัญหาการฮั้วประมูล และสมยอมราคา โดยปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนการซื้อเอกสาร ดังนั้นต่อไปนี้ กรมบัญชีกลางจะทำออนไลน์ทั้งหมดทุกขั้นตอน หมายความว่า ภาครัฐและเอกชนต้องไม่เจอกันเลยจนกว่าจะเซ็นสัญญา"นายธนะโชค ระบุถึงการรื้อขั้นตอนจากการใช้กระดาษ หันมาใช้ bidding market นำร่อง และนำมาใช้แล้วบางแห่ง
กรณีการนำบล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในระบบป้องกันการทุจริต ผอ.กลุ่มงานพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ฯ มองว่า ไม่เหมาะทุกกิจกรรม เหมาะบางกิจกรรมเท่านั้น กรมบัญชีกลาง กำลังนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในขั้นตอน "การขอหลักประกันการเสนอราคา" จากที่มาเป็นกระดาษ ก็จะเปลี่ยนเป็นออนไลน์ เชื่อมเข้ากับระบบของธนาคารพาณิชย์ และให้ธนาคารตอบหลักประกันผ่านออนไลน์ คาดว่า เริ่มได้เดือนกันยายนนี้
ส่วนขั้นตอนการซื้อเอกสาร ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จากอดีตผู้ประกอบการต้องชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร นายธนะโชค กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross-Bank Bill Payment) บิล 1 ใบสามารถชำระได้ทุกธนาคาร กรมบัญชีกลางรื้อระบบกระบวนการชำระเงิน นำระบบนี้มาใช้ 15 กันยายน 2562 รวมไปถึงขั้นการเรียกสำเนาเอกสาร กรมบัญชีกลางกำลังพยายามลดการยื่นสำเนา เนื่องจากในกระบวนการจัดซื้อจัดข้าง มีการเรียกเอกสารจำนวนมาก ทั้งขั้นตอนการลงทะเบียน การขึ้นทะเบัยน การยื่นเสนอราคา และการทำสัญญา
ปัจจุบันนี้กรมบัญชีกลางพยายามไปเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานต้นทาง 8 หน่วยงาน 16 บริการ แต่การพัฒนาจุดนี้ เขายอมรับว่า อาจช้าไปบ้าง เพราะมีพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองอยู่
ช่วงท้าย นายธนะโชค ยังได้โชว์ข้อมูลจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วงเงินงบประมาณ ปี 2561
- 5,000-100,000 บาท จำนวน 2,308,115 โครงการ หรือ 92.22% มูลค่าโครงการ 75,428 ล้านบาท
- 100,000 - 500,000 บาท จำนวน 138,603 โครงการ หรือ 5.54% มูลค่าโครงการ 48,168 ล้านบาท
- เกิน 500,000 บาท จำนวน 56,144 โครงการ หรือ 2.24% มูลค่าโครงการ 433,766 ล้านบาท
"จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า งานหลักของส่วนราชการไทย เราทุ่มเทคน แรงงาน ทรัพยากร ไปกับงานเล็กๆ ที่มีวงเงิน 5,000-100,000 บาท ไปกว่า 2 ล้านโครงการ ทั้งที่งานแค่ 2% วงเงินเกิน 500,000 บาทมีผลกระทบมาก เปรียบเหมือนคนทำมากแต่ได้น้อย ผมตั้งเป็นคำถามถึงเวลาทบทวนการทำงานเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลางพยายามทำอย่างไรให้ ช่วงงบฯ 5,000-100,000 บาท มีกระบวนการที่สั้นลง มีประสิทธิภาพ ใช้คนน้อยลง เช่น บัตรจัดซื้อจัดจ้าง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกินหมื่นบาท ทำเป็นข้อตกลง framework agreement แบบช้อปปิ้งออนไลน์ เป็นต้น"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
6.9แสนล.-1.6 ล.โครงการ! ภาษีไปไหน?สรุปรบ.บิ๊กตู่จัดซื้อจ้างล่าสุดปี60-นนท์ พุ่ง3หมื่นล.
สัญญาเดียว1.3หมื่นล.!บ.จีนขายเรือดำน้ำไทยผงาดเว็บภาษีไปไหน? กรมทางหลวงเบอร์1จัดซื้อแสนล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/