สถานการณ์ปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทย พบอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็ว 40% เกิดขึ้นบนทางหลวง 4 ช่องจราจร รถยนต์นั่งนำโด่ง ตามด้วยรถปิคอัพ จักรยานยนต์ และรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ
จากกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายปรับเพิ่มความเร็วรถยนต์ส่วนบุคคล ให้วิ่งได้เร็วสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป โดยหวังแก้ไขปัญหารถติด พร้อมเอาผิดคนขับรถช้ากว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่วิ่งเลนขวานั้น
จากข้อมูลของมูลนิธิไทยโรดส์ ซึ่งเคยศึกษา สถานการณ์ปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทย พบว่า “การใช้ความเร็ว (Speeding)” เป็นสาเหตุหลักที่สำคัญมากที่สุดของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย
เสียชีวิตจากอุบัติเหตุใช้ความเร็วบนทางหลวง
อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็ว ถือได้ว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนทางหลวง คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวง (รูปที่ 10) โดยจากสถิติตัวเลขล่าสุดตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จำนวนผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง
เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุ ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2558 พบว่า อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็ว ที่เกิดขึ้นบนทางหลวงทุกๆ 100 ครั้ง โดยเฉลี่ยจะมีผู้เสียชีวิต 12 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 80 ราย (รูปที่ 11) โดยมีแนวโน้มความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของโอกาสการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ
และหากดูสถิติอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวงจำแนกตามช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จะพบว่า สถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554-2558) อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวงที่เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 46,059 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 มักเกิดขึ้นในเวลากลางวัน (06:00-17:59 น.) มากกว่ากลางคืน (18:00-05:59 น.)
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ดัชนีความรุนแรงเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนอุบัติเหตุ บ่งชี้ว่า อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน มักมีโอกาสทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่า (รูปที่ 12)
ยิ่งเมื่อแยกตามประเภทถนนด้วยแล้ว อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง (รูปที่ 13) สัดส่วนอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวงจำแนกตามประเภทถนน ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 โดยเมื่อพิจารณาจากจำนวนช่องจราจร พบว่า อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนทางหลวง 4 ช่องจราจร (ร้อยละ 40) และเมื่อพิจารณาตามประเภททางหลวง พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนทางหลวง 3 หลัก (ร้อยละ 34)
นอกจากนี้ จากการศึกษาอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง ของมูลนิธิไทยโรดส์ ยังได้จำแนกตามลักษณะถนนบริเวณที่เกิดเหตุ สถิติในช่วงปี พ.ศ. 2554-2558 พบว่า
- อุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณ ช่วงถนนทางตรง (ร้อยละ 65)
- รองลงมาได้แก่ ทางโค้ง (ร้อยละ 13)
- ทางแยกระดับเดียวกัน (ร้อยละ 7)
- และจุดเปิดเกาะกลางถนน (ร้อยละ 6) ดังรูปที่ 14
ขณะเดียวกัน ยังพบ ประเภทของพาหนะที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง (ร้อยละ 33) รองลงมา คือ รถปิคอัพ (ร้อยละ 28) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 16) และรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ
ทั้งหมดจึงเป็นข้อมูล สถานการณ์ปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทย ฝากไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมท่านใหม่ที่ก่อนขับเคลื่อนนโยบายใดๆ ควรคำนึงถึงการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประกอบกันไปด้วย