อดีตรองนายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล" ชี้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากมาย แต่ก็มีสิ่งที่ถอยหลัง นั่นคือการเมืองไทย แนะไม่อยากให้ความขัดแย้งทางการเมืองบานปลาย ฝากฝ่ายปกคครองเสียสละ ใจเย็น เปิดใจให้กว้าง รับฟัง มีสติให้มากกว่านี้
วันที่ 4 กรกฎาคม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานในโอกาสครบรอบ 22 ปี ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า ตลอด 22 ปี สภาการฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ขณะที่ปัญหาใหม่ที่กำลังท้ายทายวิชาชีพสื่อสารมวลชน คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สื่อต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น แต่การหันมานำเสนอข่าวทางแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้นทุนการผลิตข่าวสารยังคงอยู่ การอยู่รอดและดำรงไว้ซึ่งวิชาชีพตามกรอบจริยธรรมจึงเป็นเรื่องท้าทาย
จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ "มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากมาย แต่ก็มีสิ่งที่ถอยหลัง นั่นคือการเมืองไทยถอยหลังไป 50 ปี
"ปัจจุบันมีเหตุการณ์เหมือนกับปี 2519 มาบวก เกิดเหตุการณ์ขวากระแทกซ้าย ซึ่งผมไม่อยากให้ความขัดแย้งทางการเมืองไปไกลกว่านี้ ฉะนั้น ฝ่ายปกคครองเสียสละ ต้องใจเย็น เปิดใจให้กว้าง รับฟัง มีสติให้มากกว่านี้ เห็นทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน รักชาติเหมือนๆ กัน เชื่อว่าจะเกิดความปรองดอง"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงมาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล ว่า วันนี้เห็นสื่อมวลชนเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ทั้งการส่งข่าวเหตุการณ์รวดเร็ว ทำได้ทุกรูปแบบ ความสะดวกนี้เองทำให้เราต้องปรับตัว และกลายเป็นช่องโอกาสที่ใหญ่ที่สุด ที่ส่งข่าวสารก็ไปถึงฐานคนหลายสิบล้านคน ขณะที่หนังสือพิมพ์ แม้จะปรับตัวแล้วก็ตาม แต่เนื้อหาไม่ได้แตกต่างจากออนไลน์ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ก็มีบางฉบับเสนอข่าวแบบสรุปประมวลเหตุการณ์ มีการวิเคราะห์ให้แตกต่างจากออนไลน์
"โลกดิจิทัล สิ่งแรกที่สื่อต้องทำ คือการปรับตัว นำเสนอข่าวสารอย่างรวดเร็ว มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม มีวิเคราะห์เพิ่มเติม"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อโดยประชาชนที่ประสบเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ผ่านโซเชี่ยลมีเดียนั้น ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง ที่สื่อมวลชนสามารถนำมาหาข้อมูล นำมาขยายต่อให้น่าสนใจ ทำความจริงให้ปรากฎได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องระวังการนำเสนอ รอบคอบ มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เป็นเรื่องจริงเสียก่อน "สื่อมวลชนในยุคดิจิทัล หรือไม่ดิจิทัล ผมมองว่า ไม่ต่างกัน เพราะระดับความเป็นมืออาชีพเหมือนกัน นั่นคือการทำความจริงให้ปรากฎ"
ช่วงท้าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงความอยู่รอดของสื่อในยุคดิจิทัล โดยได้ตั้งเป็นคำถามถึงค่าโฆษณาระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์ กับสื่อออนไลน์ ทำไมถึงแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่จำนวนผู้อ่านก็แตกต่างกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการอภิปรายหัวข้อ "สื่อ การปรับตัวและมาตรฐานความเป็นสื่อมืออาชีพ" โดยนายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย นายไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย และรศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)