“…เป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่เด็กมีความกล้ามากขึ้น ว่าไปแล้วเป็นสิทธิเสรีภาพของเด็ก มีความเข้าใจผิดในผู้อำนวยการหลายโรงเรียนว่าโรงเรียนและนักเรียนต้องแยกการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกจากโรงเรียน อันนี้เป็นความเข้าใจผิดเพราะพื้นที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ทางการเมืองอยู่แล้ว เป็นการเมืองของรัฐ รัฐใช้หลักสูตร ใช้การเรียนการสอน สอนเรื่องการเมืองโดยไม่ใช้คำว่าการเมือง รัฐให้เด็กคิดตามที่รัฐต้องการให้คิด…ครูมักจะมีทัศนคติที่ไม่ให้เด็กร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมือง ต้องเปลี่ยนทัศนคติของครูเสียที…”
.................................
ปรากฎการณ์ "ชูสามนิ้ว" หลังการจัดชุมนุมโดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่าประชาชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 ดูเหมือนจะยิ่งเริ่มก่อตัวขยายตัวเป็นวงกว้างในสังคมไทยมากขึ้นทุกที
แต่กลุ่มคนที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ "ชูสามนิ้ว" มากเป็นพิเศษในห้วงเวลานี้ คงหนีไม่พ้น นักเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ เพราะกรณีดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิกริยาต่อต้านจากครูและผู้บริหารสถานศึกษา ในบางกรณีมีรายงานว่าครูกระทำรุนแรงต่อเด็กทั้งทางกาย วาจา ด้วย
ขณะที่รูปแบบการแสดงออก นอกจากการชูสามนิ้วแล้ว ยังมีกรณี "ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า" เพิ่มเติมเข้ามาด้วย
หากไล่เลียงปรากฎการณ์ "ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า" ในส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ จะพบข้อมูลดังต่อไปนี้
@ปรากฏการณ์ ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาว ชูกระดาษเปล่า
ปรากฏการณ์ชูสามนิ้วในรั้วโรงเรียนมัธยมศึกษา ถูกระบุว่า เป็นการสื่อความหมายถึงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างสันติวิธี ไม่ต่างจากการชูสามนิ้วเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในหลายพื้นที่การชุมนุมและแฟลชม็อบในหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงการชุมนุมครั้งล่าสุด ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา
ภาพนักเรียนชูกระดาษขาว จากไทยรัฐ
เช่นเดียวกับการผูกโบว์ขาวสื่อถึงความเป็นพลังบริสุทธิ์ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติวิธีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อต้านความอยุติธรรม, และการชูกระดาษเปล่าเพื่อสื่อถึงความเป็นพลังบริสุทธิ์
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ปรากฏการณ์นี้ กำลังแพร่หลายไปในโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.ขอนแก่น ภาคใต้ อาทิ อ.เบตง จ.ยะลา จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา ภาคตะวันออกเช่น จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา
ปรากฏภาพนักเรียนยืนชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติ หรือชูสามนิ้วเป็นกลุ่ม เป็นรายบุคคล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
@ กระแสต้านจากครู-ร.ร. ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทางกาย-วาจา-ประกาศห้าม
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ชูสามนิ้วในรั้วโรงเรียนมัธยมศึกษาดังกล่าว เริ่มถูกกระแสต่อต้านจากครูในโรงเรียน อย่างมากเช่นกัน ข้อมูลที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ของนักเรียนหลายคน พบว่า ครูในโรงเรียนมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังมีกรณีการใช้กำลังกับเด็กเช่นการตบโทรศัพท์ของเด็ก การตีมือเด็ก การนำโบว์ขาวของเด็กไปผูกคอเด็ก
รวมไปถึงการออกคำสั่งห้าม โดยอ้างว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ให้แสดงออกทางการเมือง
เห็นได้จากกรณี โรงเรียนบดินทรเดชา-สิงห์ สิงหเสนี-นนทบุรี ที่ออกประกาศเรื่อง มาตรการควบคุมพื้นที่ "ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง" ระบุว่า โรงเรียนไม่ส่งเสริมกิจกรรมใดๆ ที่ส่อเจตนาให้เกิดความขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตยในโรงเรียนแห่งรัฐ "ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง" จึงกำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่ภายในและภายนอกรั้วโรงเรียน คือ โรงเรียนไม่อนุญาตและไม่สนับสนุนให้ใช้พื้นที่หรือบุคลากร หรือ วัสดุอุปกรณ์เพื่อการชุมนุมหรือการแสดงออกใดๆ หรือ แอบอ้างชื่อโรงเรียนเพื่อการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องตามครรลองระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่ในบางโรงเรียน ครูก็อนุญาตให้เด็กๆ ได้แสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรี
@ สพฐ.ลดแรงเสียดทาน มีหนังสือให้ ร.ร.เปิดพ.ท.ให้นักเรียนใช้สิทธิเสรีภาพ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกระแสการต่อต้านจากครูในโรงเรียน เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เรื่องการชุมนุมของนักเรียนในสถานศึกษา
โดยเนื้อความระบุว่าตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติรับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ส.ค.63 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองไว้ จึงขอความอนุเคราะห์พิจารณาสั่งการให้สถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และความปลอดภัยของนักเรียน โดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม นั้นในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัด เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกและปลอดภัยของนักเรียน โดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม
@นักการศึกษาทางเลือก-อดีตนักเคลื่อนไหว ชี้ เป็นสิทธิเสรีภาพของเด็ก
ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย อดีตนักเคลื่อนไหวและนักการศึกษาทางเลือก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนทางเลือกตามแนวคิดของ เอ.เอส.นีล ( A.S. Neill ) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลที่ประเทศอังกฤษ มองปรากฏการณ์เรื่องนี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่เด็กมีความกล้ามากขึ้น ว่าไปแล้วเป็นสิทธิเสรีภาพของเด็ก อีกอย่างก็มีความเข้าใจผิด ในผู้อำนวยการหลายโรงเรียน เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา-สิงห์ สิงหเสนี-นนทบุรี ว่าโรงเรียนและนักเรียนต้องแยกการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกจากโรงเรียน อันนี้เป็นความเข้าใจผิด เข้าใจผิดเพราะพื้นที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ทางการเมืองอยู่แล้ว เป็นการเมืองของรัฐ รัฐใช้หลักสูตร ใช้การเรียนการสอน สอนเรื่องการเมืองโดยไม่ใช้คำว่าการเมือง รัฐให้เด็กคิดตามที่รัฐต้องการให้คิด
"ผอ.บดินทรเดชาฯ เข้าใจผิดอย่างมาก ที่ไม่รู้ว่า พื้นที่ของโรงเรียน ของห้องเรียน ตำราเรียนทุกเล่มของทุกโรงเรียนในโลกนี้ คือพื้นที่ทางการเมืองของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย หรือรัฐเผด็จการ หรือรัฐทุนนิยม หรือรัฐสังคมนิยม หรือรัฐคอมมิวนิสต์ เด็กๆ และนักศึกษาเหล่านี้ กำลังช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองกลับมาเป็นของตนเอง เท่านั้นเอง"
"เพราะฉะนั้น วันนี้ ที่เด็ก แสดงออกด้วยการชูสามนิ้ว เป็นการกระตุ้นมาจากการเคลื่อนไหว มาจากกระแสทางการเมืองข้างนอก แล้วเด็กก็สัมผัสได้ ถึงระบบเผด็จการ นอกจากนั้น เด็กยังสัมผัสได้ถึงระบอบเผด็จการในโรงเรียนด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ซึ่งในประเทศไทย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนสูงที่สุด ครูมีลักษณะใช้อำนาจนิยม เพราะฉะนั้น จะบอกว่าโรงเรียนปลอดพื้นที่ทางการเมืองนั้นไม่จริง เพราะว่าครูก็ใช้ความคิดทางการเมืองของตัวเอง โดยใช้หลักสูตร ตำราเรียน เป็นพื้นที่ทางการเมืองกล่อมเกลาเด็ก" นายพิภพ ระบุ
ภาพพิภพ จาก mgronline.com
@ กรณี ปรากฏข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่ามีครูบางโรงเรียนตีเด็ก ทำร้ายร่างกาย หรือใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมเมื่อเห็นเด็กแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ไม่ว่าครู กระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีอำนาจรัฐ ควรมีท่าทีอย่างใด ต่อการแสดงออกของเด็ก ๆ ?
นายพิภพ ยังกล่าวย้ำว่า "มีสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดกันคือ ประเด็นที่ 1.จิตวิทยาของครู ครูบางคนอาจมีการเก็บกดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กของตัวครู หรือจากครอบครัวของตัวครูเอง แล้วผ่านลักษณะที่ถูกฝึกมาแบบอำนาจนิยม แล้วก็ไปลงที่คนที่ด้อยกว่า แล้วคนที่ด้อยกว่า ในโรงเรียนก็คือนักเรียนนั่นเอง ครูจึงมักจะใช้ความรุนแรงกับเด็ก ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งห้ามการตีเด็ก หรือห้ามใช้ความรุนแรงกับเด็กไปแล้วแต่ก็ไม่สามารถที่จะขจัดให้หมดไป
ประเด็นต่อมา ครูตกอยู่ในระบบและระเบียบอำนาจราชการ ในการบริหารงานแบบทางดิ่ง คือ ใช้อำนาจเป็นชั้นๆ ลงมา สุดท้ายครูก็ไปลงกับเด็ก เพราะครูถูกครูใหญ่ใช้อำนาจลงมาอีกชั้นหนึ่ง สุดท้ายเด็กก็คือผู้ที่อ่อนแอที่สุด และเป็นธรรมดาที่ผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคมจะถูกใช้อำนาจจากผู้ที่แข็งแรงกว่า ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในชุมชน ในระบบข้าราชการชั้นผู้น้อย ตำรวจ หรืออะไรก็แล้วแต่ครูและ โรงเรียน มักจะมีทัศนคติ ไม่ให้เด็กเข้าไปร่วมกิจกรรมทางการเมือง เรื่องนี้ผมประสบกับตัวเองมาหลายที่ สมัยที่ผมต่อสู้คัดค้านเรื่องท่อแก๊สไทย-พม่า ที่เมืองกาญจน์ เด็กนักเรียนมาเยี่ยมผมที่ อ.ทองผาภูมิ เมื่อเด็กกลับไปโรงเรียน เด็กถูกครูหักคะแนนเลย"
" เพราะฉะนั้น ครูมักจะมีทัศนคติที่ไม่ให้เด็กร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมือง ต้องเปลี่ยนทัศนคติของครูเสียทีว่า การที่จะให้เด็กเข้าใจความเป็นจริงของสังคม เด็กจะต้องไปเรียนรู้ความทุกข์ยากของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุม ในการต่อสู้สิทธิชุมชน เกี่ยวกับการถูกรุกรานด้านอุตสาหกรรม จะดีที่สุดเลย ถ้าส่งเด็กไปอยู่กับชาวบ้านเลย แล้วให้เด็กเขียนหนังสือ ทำวิจัย เขียนบทความ สัมภาษณ์ชาวบ้าน นี่จะเป็นการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของเด็กมากที่สุด แต่เราจะเปลี่ยนทัศนคติของครูเหล่านี้ได้อย่างไรล่ะ อันนี้ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น เด็กๆ จึงกล้าที่จะฝืนเมื่อมีกระแสกระตุ้นจากภายนอกในเรื่องของประชาชนปลดแอก เด็กก็อยากจะปลดแอกเหมือนกัน"
นายพิภพ ยังเสนอแนวคิดด้วยว่า วิธีแก้ไขเรื่องนี้ อยากเสนอว่า 1. เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่ได้ไปดูเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนเลย 2. ประเทศไทยได้ลงนามในสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติ (หมายเหตุ : ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติถือเป็นสนธิสัญญาหลัก จำนวน 7 ฉบับ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก และถึงแม้ว่าปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศแต่ก็จัดเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเทศต่างๆ จำต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ในปฏิญญาฉบับนี้)
"ผมขอถามว่า มีครูกี่คนที่จะรู้กฎบัตรสหประชาชาติและกฎบัตรเรื่องสิทธิพลเมือง แล้วนำมาสอนเด็ก เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ผมอยากจะเสนอก็คือว่าควรนำเอากติกาสากลแห่งองค์การสหประชาชาติ นำเอาเรื่องสิทธิพลเมือง กติกาต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยไปลงนามไว้กับสหประชาชาติ เอามาสอนเด็ก แล้วก็เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นที่ปลอดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันนี้จะทำให้เด็กคลายความเก็บกด และทำให้เด็กแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงกดดันจากภายนอก "
เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลควรจะรับฟังหรือมีท่าทีต่อการแสดงออกของเด็กๆ อย่างไร นายพิภพตอบว่า "คือถ้ารัฐบาลฉลาด ควรจะฟังเด็ก ฟังนักศึกษา แล้วนำเอาสิ่งที่เขาแสดงออกนั้นมามองว่ามีความเป็นจริงอย่างไร แต่รัฐบาลกลับโง่เขลา กลับไปคิดว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีใครหนุนหลังอยู่ มีนักการเมืองไปหนุนหลัง เพราะรัฐบาลมักจะคิดว่าประชาชนโง่ มักจะคิดว่านักศึกษาโง่ คิดว่าเด็กโง่แล้วคิดอะไรไม่เป็น"
ส่วนมุมมองต่อกรณีที่ปรากฏว่ามีครูทำรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อเด็กแสดงออกทางการเมือง นั้น นายพิภพ มีความเห็นว่า " การที่ครูไปใช้โบว์สีขาวผูกคอเด็ก หรือหากมีกรณีที่ไปตบเด็กก็ตาม ผมว่าเด็กควรไปแจ้งความเลย เพราะนี่คือการละเมิดสิทธิเด็ก แล้วเรามีคณะกรรมการสิทธิเด็กอยู่ตามจังหวัดต่างๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าโรงเรียนมักจะไม่สอนให้เด็กรับรู้ว่ามีคณะกรรมการเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็กอยู่ประจำจังหวัดต่างๆ ต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้เด็กรู้ และให้ครูรู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่มีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กดูแลเด็กอยู่นะ ครูจะไปละเมิดสิทธิเด็กไม่ได้"
ส่วนความเห็นส่วนตัว กรณีเด็กๆ มัธยมศึกษา แสดงจุดยืนร่วมกับนักศึกษาและประชาชน นั้น พิภพ ยืนยันว่า "ผมชอบความฝันเขานะ ‘ให้จบที่รุ่นเรา’ กระแสการตื่นตัวของเยาวชนมีมาตั้งแต่ 14 ต.ค.2516 เป็นต้นมา หากคุณดูภาพตอนเดินขบวนจากธรรมศาสตร์ จะมีเด็กมัธยมอยู่ด้วย มีเด็กนักเรียน นักศึกษา อยู่แถวหน้า แต่ครั้งนั้นไม่จบไง ดังนั้น คำขวัญครั้งนี้ดีนะ ให้จบที่รุ่นเรา ไม่เลวนะ แต่จะจบอย่างไรเท่านั้นเอง "
นายพิภพ ยังยืนยันจุดยืนของตนเอง ต่อปรากฏการณ์นี้ ว่า "ขอให้ยืนอยู่บนหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน หรือกติกาสากลที่รัฐบาลไปลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ และควรจะให้ครูในทุกโรงเรียนได้รับรู้ว่ารัฐบาลไทยไปลงนามอะไรไว้ ผมว่าเรื่องนี้ต้องชูขึ้นมาและวันนี้ เด็กไม่ได้ทำเกินเลยไปกว่าที่รัฐบาลลงนามไว้เลย เป็นสิทธิในกติกาสากลระหว่างประเทศและไม่ได้ทำเกินเลยไปกว่า อนุสัญญาที่ว่าด้วยสิทธิเด็กเลย "
(หมายเหตุ : อนุสัญญาว่าด้วยเด็กประกอบด้วยบทบัญญัติ 54 ข้อ เน้นหลักพื้นฐาน 4 ประการ 1.การห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็กและการให้ความสำคัญแก่เด็กทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของเด็ก ในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิด หรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน2.การกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก3.สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม4.สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น)
ทั้งหมดนี่ คือ ภาพรวมปรากฏการณ์ "ชูสามนิ้ว" ในส่วนนักเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ห้วงเวลานี้
ภาพ :จากโซเชียลมีเดีย-เฟซบุ๊กของเยาวชนและโรงเรียนต่างๆ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage