“…การระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหลายๆ ด้านของชีวิต แต่ผลกระทบเชิงบวกอย่างหนึ่งของการระบาดนี้ คือการหันมาใช้เทเลเมดิซีนอย่างกว้างขวาง หากปราศจากแรงผลักดันจากการระบาดใหญ่ และสถาบันสุขภาพหลายแห่งยังคงหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว หลายคนคงไม่อาจตระหนักถึงประโยชน์ทั้งหมดที่เทเลเมดิซีนมีให้…”
‘ระบบการแพทย์ทางไกล’ หรือ ‘เทเลเมดิซีน’ (Telemedicine) คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารกันแบบเรียลไทม์ ผ่านโทรศัพท์ แอปพลิเคชัน หรือวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่
เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยในบทความวิจัยเรื่อง The Evolution of Telemedicine จากเว็บไซต์ Sciencedirect ตอนหนึ่งเปิดเผยว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจดูผู้ป่วยในระยะไกลได้
แต่เทคโนโลยีดังกล่าวกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปทั่วโลกในช่วงการระบาดของโควิด อย่างสหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ชิลี อาร์เจนตินา คอสตาริกา หรือเม็กซิโก เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง การเติบโตของระบบการแพทย์ทางไกล : บทเรียนจากโรคระบาดทั่วโลก (The Rise of Telemedicine : Lessons from a Global Pandemic) ของผู้เขียน Samatha Seivert และ Melissa E. Badowski พบว่า ในช่วงที่มีการระบาดไปทั่วโลกเทเลเมดิซีนได้เข้ามาเป็นตัวช่วยตรวจคัดกรองและประเมินอาการของผู้ป่วย ป้องกันบุคลากรการแพทย์จากการติดเชื้อ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ระบบสุขภาพจำนวนมากหันมาใช้เทเลเมดิซีนมากยิ่งขึ้น
สำหรับข้อดีของเทเลเมดิซีน พบว่าสามารถให้ประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ผู้ให้บริการ และระบบการดูแลสุขภาพ ดังนี้
-
ผู้ป่วย : ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีขึ้น, เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์นอกเวลาทำการคลินิกทั่วไปได้, ลดภาระการเดินทาง, ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าที่จอดรถ หรือลดการสูญเสียค่าจ้างทำงานล่วงเวลา และมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะกลับมาติดตามผลการรักษามากขึ้น เพราะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
-
ผู้ให้บริการ : สามารถให้บริการได้ทุกที่, ลดการเดินทาง, สามารถรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ชนบท โดยไม่ต้องเดินทางไกล และมีแนวโน้มพึงพอใจต่อการทำงาน
-
ระบบการดูแลสุขภาพ : สามารถดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆ ได้, สามารถขยายบริการทางคลินิก แม้พื้นที่จะไม่เอื้ออำนวย และลดความเบื่อหน่ายในการทำงานของบุคลากรการแพทย์ภายในสถานพยาบาล เพราะได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรการแพทย์ที่ให้บริการผ่านเทเลเมดิซีน
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้เทเลเมดิซีนได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการรักษาทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์
ประโยชน์ของเทเลเมดิซีนต่อผู้ป่วย ผู้ให้บริการ และระบบการดูแลสุขภาพ
‘เทเลเมดิซีน’ก่อนการระบาดใหญ่
Samatha Seivert และ Melissa E. Badowski ระบุถึงอดีตว่า การใช้เทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้นในปี 2548-2560 แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ถูกใช้ในระบบสุขภาพบ่อยนัก ในขณะที่การใช้เทเลเมดิซีนด้านสุขภาพจิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2559-2560 ส่วนการใช้งานในด้านอื่นๆ พบว่าในปี 2553 มีการใช้งาน 35% และต่อมาเพิ่มขึ้นมาเป็น 76% ในปี 2560 ของโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา
แต่ในขณะนั้นหลายคนมักมองว่าเทเลเมดิซีนคือทางเลือกสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วยของตน แทนที่จะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันในการดูแลผู้ป่วยโควิด
ก่อนเกิดการระบาดของโควิดมีอุปสรรคมากมายในการดำเนินงาน อาทิ การส่งยาทางไกล การขาดระเบียบการประกันภัย การขาดการชำระเงินคืนสำหรับบริการ และการขาดกฎระเบียบอย่างของสหภาพยุโรปที่ตรงกัน รวมถึงเทคโนโลยีนี้นั่นมักถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในชนบทเพียงอย่างเดียว ทำให้การใช้การเทเลเมดิซีนไม่ใช่เรื่องด่วนที่จะต้องทำ
โควิดทำการแพทย์ทางไกลเติบโตทั่วโลก
Samatha Seivert และ Melissa E. Badowski ระบุอีกว่า เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้เทเลเมดิซีนถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อให้บุคลากรการแพทย์นำไปดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ ที่ต้องอาศัยการเว้นระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่สำคัญยังช่วยให้ดูแลผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอีกและลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างชุด PPE ในช่วงที่โลกขาดแคลนได้ นอกจากนี้ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่รวมผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้านการดูแลสุขภาพและเรียนรู้จากทีมแพทย์ โดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล
และยังใช้เทเลเมดิซีนในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สถานพยาบาลและรับความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด ซึ่งหากไม่มีการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้และชะลอการดูแลออกไปจากความกลัวของผู้ให้บริการหรือผู้ป่วยเอง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพในอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องมีการติดตามดูแลและติดตามอาการเรื้อรังของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันเป็นผลมาจากโควิด ยกตัวอย่างประเทศต่างๆที่มีการใช้เทเลเมดิซีนช่วงการระบาดดังนี้
สถานพยาบาลในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา แผนกฉุกเฉินได้เริ่มใช้เทเลเมดิซีน เพื่อให้แพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยโควิด โดยไม่ต้องเข้าไปในห้องของผู้ป่วย ซึ่งช่วยลดการใช้ชุด PPE ของแพทย์ได้เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องเดินไปยังห้องแยกโรคบ่อยนัก และยังช่วยให้ควบคุมปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ส่วน มหาวิทาลัยดุ๊ก รัฐนอร์ทแคโรไรนา ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะมีการใช้เทเลเมดิซีนมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด จุดสูงสุดของผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพทางไกลกลับพุ่งสูงมากกว่า 1,000 ครั้งต่อวันผ่านทางโทรศัพท์และการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกสถาบันที่ใช้เทเลเมดิซีนตั้งนานแล้ว ก่อนการระบาดของโควิด เทเลเมดิซีนถูกใช้ในคลินิกผู้ป่วยนอกประมาณ 25 แห่งเท่านั้น จากทั้งหมด 500 แห่ง โดยมีการเข้ารับการตรวจสุขภาพทางไกลน้อยกว่า 100 ครั้งต่อวัน และเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ได้ขยายการใช้เทเลเมดิซีนไปยังคลินิกผู้ป่วยนอกทุกแห่ง ภายใน 10 วัน มีผู้เข้าตรวจมากกว่า 7,000 ครั้ง คิดเป็น 70% ของปริมาณการเยี่ยมชมผู้ป่วยนอกทั้งหมด แะความพึงพอใจของผู้ป่วยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตลอดวิกฤตโควิดนี้โดยอิงจากการสำรวจผู้ป่วย
ในทางตรงกันข้าม West Tennessee Health รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีแผนที่จะใช้เทเลเมดิซีนก่อนเกิดการระบาดใหญ่ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่ม จนเกิดการระบาดของโควิดจึงดำเนินการตามแผนการใช้เทเลเมดิซีนอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้บุคคลที่มีสุขภาพดีต้องอยู่ในห้องรอ ซึ่งตลอดเดือน มี.ค.2563 มีผู้เข้ารับบริการตรวจสุขภาพทางไกลเพิ่มขึ้น 1,300%
ขณะที่ มหาวิทยาลัยคิงอวนคาร์ลอส เมืองมาดริด ประเทศสเปน ได้ใช้เทเลเมดิซีนเพื่อคัดแยกผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินที่สามารถดูแลได้เสมือนจริง เพื่อลดความแออัดภายในสถานพยาบาลและรักษาทรัพยากร
โรงพยาบาลถงจี้ เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ใช้เทเลเมดิซีน เพื่อเสริมเวิร์กโฟลว์ในการเฝ้าติดตามดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่รักษาตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยอาการน้อย เพื่อลดความแออัดในห้องแผนกฉุกเฉิน ทั้งนี้เมื่อมีทีมหนึ่งจากโรงพยาบาลถงจี้ได้ทำการศึกษาย้อนหลัง เพื่อประเมินผลลัพธ์ของผู้ป่วยที่กักกันตัวเองที่บ้าน ระหว่างวันที่ 6 ม.ค.-31 ม.ค.2563 ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อจะได้รับแบบสอบถามเบื้องต้นเพื่อพิจารณาว่าจะต้องได้รับการดูแลแบบผู้ป่วยใน หรือสามารถเฝ้าระวังที่บ้าน หากมีสิทธิ์ในการเฝ้าระวังตัวเองที่บ้าน ระบบนี้จะอนุญาตให้มีการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและทีมสหวิทยาการกับแพทย์ 2 คน แพทย์เวชศสตร์ฟื้นฟู 1 คน พยาบาล 3 คน และนักจิตวิทยา 1 คน
ผู้ป่วยจะอัปเดตอาการของพวกเขาทุกวันโดยตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของพวกเขาผ่านแอปพลิเคชันให้คำปรึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์ของพวกเขา จากนั้นทีมแพทย์จะประเมินอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ และความอิ่มตัวของออกซิเจนของผู้ป่วย และให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ป่วย เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 74 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด มีสิทธิ์ได้รับการกักกันตนเอง ผู้เข้าร่วม 68 ราย ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างการกักกันตนเอง โดยไม่ต้องมีการดูแลผู้ป่วยใน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย 6 ใน 74 ราย มีสถานะที่แย่ลงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ในระหว่างการศึกษานี้ ด้วยความช่วยเหลือของเทเลเมดิซีน ผู้ป่วย 74 รายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพจากบุคลากรทางการแพทย์เพียงเจ็ดคนเท่านั้น โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ผู้ป่วยรายอื่น หรือประชาชนทั่วไป
และ สถาบันฟื้นฟูผู้ป่วยนอก เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ก็ได้เปลี่ยนการเข้ารับตรวจแบบตัวต่อตัวไปเป็นเทเลเมดิซีน ตั้งแต่ 16 มี.ค.2563 โดยจะให้เข้าตรวจแบบตัวต่อตัวเมื่อจำเป็นเท่านั้น จากผลการสำรวจระหว่าง 16 มี.ค.-3 เม.ย.2564 พบว่าจากจำนวนผู้เข้ารับบริการแบบเทเลเมดิซีน 1,207 ราย มีเพียง 1 ใน 200 รายเท่านั้นที่ต้องนัดหมายแบบตัวต่อตัวหลังการปรึกษาการแพทย์ทางไกล เนื่องจากไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลการประเมินความพึงพอใจต่อระบบเทเลเมดิซีน 2.8 เต็ม 3
“ผู้เข้ารับบริการและผู้ให้บริการน ต่างมีความสุขในการใช้เทเลเมดิซีน แม้แต่แพทย์ที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีก่อนการเปลี่ยนแปลงก็ยังรู้สึกประหลาดใจกับความพึงพอใจระดับสูงที่พวกเขามี ขณะให้บริการการแพทย์ทางไกลในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยนอก” แพทย์สถาบันฟื้นฟูผู้ป่วยนอก กล่าว
ก้าวต่อไปต้องคำนึงถึงคนรายได้น้อย-ผู้สูงวัย
Samatha Seivert และ Melissa E. Badowski ระบุด้วยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทเลเมดิซีนอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันกฎการแพทย์มีความผ่อนคลาย และครอบคลุมบริการการแพทย์ทางไกล ทำให้อุปสรรคในเรื่องของระเบียบประกันภัยและการขาดชำระเงินคืนสำหรับบริการหมดไป โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ได้มีการประกาศให้ระเบียบประกันภัยครอบคลุมการคุ้มครองในการใช้บริการการแพทย์ทางไกลด้วย เมื่อ 17 มี.ค.2563
นอกจากนั้นในปัญหาเรื่องการขนส่งยาไปให้ผู้ป่วย หลายสถานพยาบาลก็ได้แก้ไขและปรับปรุงจนเกิดระบบขนส่งขึ้น อย่างมหาวิทยาลัยดุ๊กก็เริ่มขนส่งยาทางไกลตั้งแต่ มี.ค.2563 ขณะเดียวกันหลายประเทศได้มีการมุ่งเน้นให้บุคลากรการแพย์ได้รับการฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่อีกด้วย เพื่อให้สามารถให้บริการได้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก
จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้เทเลเมดิซีนถูกใช้ในการดูแลเฉพาะทางเท่านั้น แต่ในปัจจุบันที่ต้อเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิดก็สามารถนำไปดูแลผู้ป่วยได้เหมือนปกติ เทคโนโลยีนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนจากโหมดวิกฤตให้กลายเป็นความยั่งยืน อย่างไรก็ตามเมื่อก้าวไปข้างหน้ากับเทเลเมดิซีน จะต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้มีรายได้น้อยหรือผู้สูงอายุในการเข้าถึงอุปกรณ์หรือเครือข่ายที่จำเป็นสำหรับการให้บริการด้วย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษา
ทั้งนี้ Samatha Seivert และ Melissa E. Badowsk ระบุทิ้งท้ายว่า การระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหลายๆ ด้านของชีวิต แต่ผลกระทบเชิงบวกอย่างหนึ่งของการระบาดนี้ คือการหันมาใช้เทเลเมดิซีนอย่างกว้างขวาง หากปราศจากแรงผลักดันจากการระบาดใหญ่ และสถาบันสุขภาพหลายแห่งยังคงหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว หลายคนคงไม่อาจตระหนักถึงประโยชน์ทั้งหมดที่เทเลเมดิซีนมีให้
อาร์เจนตินาใช้เทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้นกว่า 200%
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ IDB ได้กล่าวถึงการใช้เทเลเมดิซีนเพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยว่า ในปี 2562 ชิลีให้บริการด้วยเทเลเมดิซีนกว่า 65% และในอาร์เจนตินา คอสตาริกา เม็กซิโก เปรู และโคลัมเบียต่ำกว่า 30% อย่างไรก็ตามเมื่อการระบาดใหญ่ของโควิดเทเลเมดิซีนได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศอื่นๆ และอาร์เจนตินา ต่างยอมรับว่าการแพทย์ทางไกลเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถให้บริการสุขภาพได้ถ้วนหน้า
โดยในอาร์เจนตินาพบว่าในช่วงสัปดาห์วันที่ 13 มี.ค.2564 มีผู้เข้ารับบริการจากเทเลเมดิซีนเพิ่มขึ้น 233% และ 226% ตามลำดับ ส่งผลให้มีการสั่งยาเพิ่มขึ้น 342% การเพิ่มขึ้นนี้ยังคงต่อเนื่องอยู่ในช่วงหลายเดือนต่อมาของการล็อกดาวน์ และแม้กระทั่งคลายล็อกแล้ว จะมีการส่งยาทางไกลลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงถาวรที่อาจนำไปสู่การยอมรับแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่
ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ใช้รายใหม่ที่แตกต่างจากช่วงการระบาดใหญ่ แต่ลักษณะของผู้ใช้บริการยังเปลี่ยนไป โดยในช่วงปี 2562 ผู้ใช้บริการมีอายุเฉลี่ย 30 ปี ไม่มีปัญหาสุขภาพซ่อนเร้น แต่หลังเกิดการระบาดนั้น กลับพบกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้มีโรคประจำตัวใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะผู้รับบริการเทเลเมดิซีนข้างต้น ไม่อาจทราบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะชัดเจนเพียงใด เพราะสถานการณ์ในอาร์เจนตินาเป็นเช่นเดียวกับละตินอเมริกาส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด นอกจากนี้ยังไม่มีกลุ่มควบคุมที่เหมาะสม ทำให้พฤติกรรมในอดีตเป็นเพียงจุดเปรียบเทียบเท่านั้น สถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ทิ้งคำถามที่ไม่มีคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่ามีปัจจัยที่ทำให้สับสนอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความต้องการใช้เทเลเมดิซีนในช่วงการแพร่ระบาดหรือไม่
จำนวนผู้เข้ารับบริการจากเทเลเมดิซีนช่วงสัปดาห์วันที่ 13 มี.ค.2564
ลักษณะของผู้ใช้บริการเทเลเมดิซีน
ไทยนำร่องดูแลผู้ป่วยออนไลน์กว่า 40 แห่ง
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2563 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เคยกล่าวภายในงานแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไว้ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประชาชนมีความกังวลว่าการมาโรงพยาบาลค่อนข้างลำบากมากขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ (New Normal Medical Service) ให้มีการรักษาออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอลและส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลและให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในสถานการณ์โควิด ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติ เพิ่มขีดความสามารถการรักษา และนำเทคโนโลยีการรักษาส่งถึงบ้าน
อย่างไรก็ตามบริการดังกล่าว ได้เปิดให้บริการนำร่องให้บริการใน 27 โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด มาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.2563 ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลสงฆ์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม สถาบันประสาทวิทยา สถาบันพยาธิวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลเวชชารักษ์ จังหวัดลำปาง
ขณะเดียวกันก็ยังมีโรงพยาบาลเครือข่าย BDMS อีก 17 แห่ง ที่เปิดให้บริการผ่านระบบเทเลเมดิซีน และโรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลเวชธานี โรงพยาบาลพระราม 9 โรงพยาบาลบำรุงราฎร์ เป็นต้น
อ้างอิงจาก :
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0167739X98000673
https://emj.emg-health.com/wp-content/uploads/sites/2/2021/02/The-Rise-of-Telemedicine-Lessons-from-a-Global-Pandemic.pdf
https://blogs.iadb.org/ideas-matter/en/covid-19-and-the-rise-of-telemedicine/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage