โควิดฯทำสะดุด! ผู้ตรวจการแผ่นดินรับโครงการเพิ่มทักษะอาชีพ 3 ปีผ่านมายังไม่สำเร็จเท่าที่ควร เหตุสารพัดอุปสรรค-โควิดฯระบาด ผู้ปกครองไม่เข้าใจ ชงสำนักงบฯขอเงิน เสนอ ครม.รับทราบ
..........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อจบการศึกษาภาคบังคับ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เด็กด้อยโอกาสมีความมั่นคงด้านอาชีพ ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยนำร่องโครงการที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา ก่อนขยายโครงการไปทั่วประเทศในปี 2563
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า โครงการนี้ถอดบทเรียนจาก จ.แม่ฮ่องสอน นำมาใช้เป็นโมเดล กับผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันในปี 2563 มีการขยายโครงการไปแล้วทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยการขับเคลื่อนโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรก ส่วนกลาง มีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานหลัก ระดับที่ 2 ส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งเป็นประธานในการขับเคลื่อนโครงการ โดยจัดอบรมตามบริบทและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละจังหวัด มีมากกว่า 50 หลักสูตร เช่น สาขาซ่อมรถยนต์ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก สาขาช่างเชื่อมไฟฟ้า สาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
“การเริ่มต้นโครงการปีแรก (2561) นั้น พบปัญหาข้อจำกัดการฝึกอบรมเนื่องจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับงบประมาณในจำนวนจำกัดในการฝึกอบรมประชาชนทั่วไป และเด็กผู้เข้าร่วมโครงการรวมอยู่ในจำนวนดังกล่าวด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจน ที่ไม่ได้เรียนต่อ จบการศึกษาภาคบังคับในปีงบประมาณ 2563 รวมนักเรียนที่เรียนจบ ม.3 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 20,781 คน ต้องการเข้าฝึกทักษะอาชีพ จำนวน 6,058 คน เข้าฝึกทักษะจริง 402 คน
(นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน)
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ตามแผนงานโครงการต้องดำเนินการจัดอบรมอาชีพให้กับเด็กกลุ่มเป้าหมาย เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จึงเลื่อนโครงการไปอบรมช่วงเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยปี 2563 ถือเป็นปีแรกทำให้จังหวัดมีการเตรียมการน้อย อีกทั้งมีข้อจำกัดของระยะเวลา การทำความเข้าใจกับผู้ร่วมโครงการ และผู้ปกครองไม่เข้าใจโครงการ จึงไม่สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ โดยมองว่าแม้อบรมไปก็ไม่ได้งาน สู้ไปทำงานเลยดีกว่า
“จากบทเรียนปี 2563 ดังนั้นในปี 2564 จึงหันมาให้ความสำคัญ กับคุณครูแนะแนวมากขึ้น เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการประสานงานระหว่างผู้ปกครอง กับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการ ดังนั้นดำเนินการในปี 2563 จึงยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร ทำให้การประชุมปีงบประมาณปี 2564 ที่ผ่านมา เราได้เชิญสำนักงบประมาณมาเข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดสรรงบประมาณให้กับผู้เข้าโครงการ ได้รับความอนุเคราะห์งบประมาณ จำนวน 3,000 คน ในปีงบประมาณ 2564 และปีนี้หลังจบหลักสูตรการอบรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะนำเสนอผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ” นายสมศักดิ์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage