"...ผู้สื่อข่าว นักข่าวเป็นอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง ทำงานภายใต้กรอบจรรยาบรรณ องค์กรวิชาชีพ มีทั้งคนดีและไม่ดี (ในทุกวงการ) ไม่ใช่ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่กระโถนรองรับอารมณ์ ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ด้อยหย่อนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ทำประโยชน์สาธารณะมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางคนด้วยซ้ำ..."
...................................
อีกครั้งหนึ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีท่าทีฉุนเฉียวต่อคำถามของผู้สื่อข่าว
คราวนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาล ยศพลเอก ไม่พอใจกับคำถามของผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคหรือไม่ ถึงกับหลุดคำ ‘ไอ้ห่า’ ทันทีด้วยเสียงอันดังว่า ‘คุณมาตั้งคำถามอย่างนี้ไม่ได้’
ก่อนหน้านี้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหญ่ก็เคยแสดงท่าทีอย่างนี้ และไม่นานมานี้ก็ใช้คำพูดคล้าย ‘ด้อยค่า’ ผู้ที่เรียนจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ แต่มาให้สัมภาษณ์แก้ในภายหลัง
ในฐานะบุคคลที่อยู่ในอาชีพเดียวกับคนที่ถูกด่า ‘ไอ้ห่า’ อยากขอเรียนว่า
1.ผู้สื่อข่าว นักข่าวเป็นอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง ทำงานภายใต้กรอบจรรยาบรรณ องค์กรวิชาชีพ มีทั้งคนดีและไม่ดี (ในทุกวงการ) ไม่ใช่ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่กระโถนรองรับอารมณ์ ศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ด้อยหย่อนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ทำประโยชน์สาธารณะมากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางคนด้วยซ้ำ
2. ประเด็นที่ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามในเรื่องตำแหน่งเลขาธิการพรรค มิได้ถามในเรื่องส่วนตัว (เรื่องส่วนตัวบางเรื่องที่มีผลต่อสาธารณะก็ต้องถาม เช่น นักการเมืองอ้างว่าโสด แต่ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้กับภรรยานอกสมรส หรือ คนใกล้ชิด ) ไม่ว่าคำถามจะมีที่มาจากการคิดตั้งคำถามของตัวนักข่าวเอง หรือ เกิดจากหัวหน้าข่าว บรรณาธิการสั่งให้ถาม ไม่เห็นว่าเป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์ เสียหาย ตรงไหน เพราะว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหญ่เกิดใหม่ (แม้บางคนบอกว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ? ) เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ย่อมเกี่ยวพันมีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์สาธารณะ แล้วผู้ถูกถามก็เป็นหัวหน้าพรรค ผู้สื่อข่าวจึงมีสิทธิ์ตั้งคำถาม แหล่งข่าวมีสิทธิ์ที่จะตอบหรือไม่ตอบ กรณีไม่ตอบก็มีวิธีการบริหารจัดการกับคำถามที่ไม่พึงประสงค์ที่จะตอบ (แบบมีวุฒิภาวะ) อาทิ นิ่งไม่ตอบ ปล่อยผ่าน หรือ ตอบว่า ‘ผมไม่ขอตอบคำถามคุณ’ เอาไว้ตอบภายหลัง หรือ เดินหนี (เยี่ยงอดีตนายกฯที่เสียชีวิตแล้ว) ฯลฯ เพียงแต่คำถามของผู้สื่อข่าวท่านนี้อาจไม่ถูกใจ หรืออาจทิ่มแทงใจเท่านั้น
3. เมื่อประมาณกลางปี 2562 เคยมีกรณี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอดีตตำรวจใหญ่ ก็หลุดคำ ‘ไอ้ห่า’ ระหว่างการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรจนเป็นข่าวฮือฮามาแล้ว การกล่าวด้วยถ้อยคำ ‘ไอ้ห่า’ สะท้อนถึงความคุ้นชินของผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา บริวารแวดล้อม ที่ทำอะไรไม่ถูกใจ ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อใช้บ่อยๆก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่คำรุนแรง ไม่มีอะไรเสียหาย แม้ว่าเป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่งก็ตาม
4.พยายามจะมองโลกในแง่ดีว่า ผู้ดำรงตำแหน่งใหญ่สูงวัย (วัยเท่านี้หรือน้อยกว่านี้บางคนเลือกพักผ่อนที่บ้าน บางคนเสียชีวิตไปแล้ว เช่น เจ้าของนาฬิกา ) ต้องแบกรับกับการบริหารงานในตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลและในพรรคซึ่งลูกน้องมาจากนักการเมืองร้อยพ่อพันแม่รวมกันอยู่ในพรรคเดียว อีกด้านหนึ่งอดคิดไม่ได้ว่า การสวมหัวโขน เป็นการรับอาสา มิใช่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ถ้ารับมือไม่ไหวน่าจะวางมือกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบที่บ้านโดยไม่ต้องผูกขาดความรักชาติเพียงผู้เดียวว่าจะไม่มีคนมาทำงานแทนได้
5.ผมเชื่อในโอกาสครั้งที่สอง ไม่ตัดสินคนที่ ‘กรรม’เดียว และมีความเชื่อเหมือนกับที่หลายคนคนเชื่อ การกระทำแค่ครั้งเดียวอาจเป็นแค่ความพลั้งเผลอ ชั่ววูบ หากเกิดขึ้นหลายครั้ง ซ้ำๆ ก็จะสรุปว่าเป็นเพราะ‘จิตใต้สำนึก’หรือไม่ก็จิตเดิมแท้
ต่างคน ต่างเคารพในการทำหน้าที่ โดยไม่ข้ามเส้นการคุกคาม ดีกว่าครับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/