“..เราต้องเตรียมความพร้อมสู่สหัสวรรษใหม่ ตรงนี้มันเป็น ครีเอทีฟดิสรัปชั่น การทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ เราต้องยอมรับว่า โลกเรากำลังอภิวัฒน์สู่อุตสาหกรรมใหม่ มันคงไม่อภิวัฒน์เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ดังนั้น เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อให้ประชากร แรงงาน นิสิตของเรามีความพร้อมสู่โลกยุคใหม่...”
ธุรกิจสื่อยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมามีสื่ออย่างน้อย 2 สำนัก ที่เลิกจ้างพนักงาน กรณีล่าสุดคือ โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ปิดฉากนับแต่ก่อตั้งเป็นหนังสือพิมพ์ร่วม 20 ปี ตามด้วย บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (เจเอสแอล) ที่ผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนหลายช่องมายาวนาน 43 ปี ออกแถลงการณ์ว่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาบริษัทขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมสื่อยังคงได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากมรสุมถาโถมหลายลูก ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ กล่าวในรายการ “ร่วม ZOOM สื่อ ทาง CHULA RADIO ถึง "ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขององค์กรสื่อ" ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบัน สื่อเผชิญกับสถานการณ์ดิสรัปชั่นหลายด้านตั้งแต่เทคโนโลยีดิสรัปชั่น เศรษฐกิจดิสรัปชั่น โควิดดิสรัปชั่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยถาโถมเข้ามา เช่น การตกของตลาดหุ้น ตลาดทุน ภาวะเงินเฟ้อ ยังมีวิกฤตซ้อนทับอีกจากวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทบอุตสาหกรรมสื่อทางตรงและทางอ้อมทั้งเรื่องรายได้โฆษณาที่จะลดลง นี่คือ สิ่งที่เราเผชิญมาในช่วง10 ปีที่ผ่านมาและอาจ 10 ปีจากนี้ด้วย
- ลดต้นทุน กระทบคุณภาพงาน
- รายการสร้างสรรค์ /ข่าวเจาะไม่มี
สิขเรศ กล่าวว่า การที่องค์กรสื่อบางแห่งทยอยปิดตัว ล่าสุดบริษัทเจเอสแอล ก็เป็นเหตุต่อเนื่องจากภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ บริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ รวมถึง การขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง เหล่านี้ส่งผลกระทบทีละเล็กทีละน้อยต่อแรงงานอุตสาหกรรมในภาคส่วนนี้หลายหมื่นคน รวมถึง แรงงานในครัวเรือน ดังนั้นในวงวิชาการเราต้องมาขบคิดภาวะถดถอยที่มันเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ ปัจจุบันเราจะเห็นการนำเสนอข่าวในที่วนลูป นำคลิปจากโซเชียล ติ๊กต๊อกมานำเสนอซ้ำไปซ้ำมาผ่านรายการเล่าข่าว ขยายเป็นเรื่องราวได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตรงนี้ทำให้รายการที่สะท้อนความหลากหลายในเชิงความคิดสร้างสรรค์หายไป เพราะสื่อส่วนใหญ่ต้องการประหยัดต้นทุน เมื่อบริษัทขาดทุนก็ส่งผลต่อเม็ดเงินในการพัฒนาเนื้อหาข่าวสาร จะเห็นว่า รายการข่าวที่ลงุทนทำข่าวเจาะลดน้อยลงเพราะลงทุนสูง
ขณะเดียวกัน หากพูดถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติบ้าง มันก็ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยด้วย เราจะเห็นว่า การที่สื่อปิดตัวลงส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อท้องถิ่น ถ้าลองไปดูในต่างจังหวัด อย่างน้อยวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่นก็ปิดตัวไปมากทำให้ไม่สามารถช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมสะท้อนเสียงในระดับภูมิภาคที่เป็นความสวยงามในระบอบประชาธิปไตยได้
“แน่นอนในสถานการณ์อย่างนี้ มันจำเป็นต้องลดต้นทุน เราก็ยอมรับ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูภาครัฐบาลที่ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ ตรงนี้ยังมีน้อย ไม่เห็นเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่าง สิ่งที่อาจทำได้ ซีรีส์เกาหลีต่างๆ รัฐบาลที่นั่น เขาสนับสนุนทั้งนโยบายและการปฏิบัติ หรือ ถ้าเราพูดถึงกิจการสื่อในยุคสมัย ภาครัฐก็ต้องมีการจัดการสื่อออนไลน์ในต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล หลายครั้งเขาใช้ข่าวของสำนักข่าวในประเทศไทยแต่ให้ผลตอบแทนน้อยนิด
สิขเรศ ยกกรณีศึกษาว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีวิวาทะกันระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับเฟซบุ๊ก ประเด็นคือ รัฐบาลออสเตรเลียต้องการส่งเสริมให้สำนักข่าวท้องถิ่นของประเทศเขาอยู่ได้ด้วยการเรียกร้องให้เฟซบุ๊ก ของอเมริกาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ข่าว ขณะที่เฟซบุ๊กพยายามตอบโต้ด้วยการลดอัลกอริทึ่มในการนำเสนอข่าวสื่อออสเตรเลีย แต่รัฐบาลเขาพยายามยืนหยัดเพื่อให้อุตสาหกรรมสื่อออสเตรเลียอยู่รอด ในที่สุดรัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายทำให้มีการเจรจากันระหว่างสื่อดิจิทัลออนไลน์หลายสำนักข่าวเพื่อมาพูดคุยเรื่องค่าตอบแทนในการใช้ข่าว ดังนั้น ตรงนี้ก็ต้องมาช่วยกันระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ
“กรณีเจเอสแอลเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทร เราต้องยอมรับความจริง สถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้ อาจมีบริษัทใหญ่ที่อาจมีมาตรการบางส่วนที่ลดทอนกำลังใจคนทำงาน ดังนั้น สถานการณ์ของสื่อ เราต้องมานั่งวิเคราะห์กันว่า สถานีทีวีที่เหลือใบอนุญาตประมาณ 7-8 ปี ถ้าเขายังขายโฆษณาออนไลน์ ตัวผู้ประกอบการก็สามารถอยู่ได้ แต่บริษัทก็อาจตัดสวัสดิการของพนักงานลงได้เช่นกันเพราะไม่มีความจำเป็นต้องผลิตเนื้อหาใหม่ๆ เนื่องจากมีการขายออนไลน์ตลอดเวลา ส่วนองค์กรเล็กๆ เช่น โปรดักชั่น ต้องดูว่า จะสามารถทำอะไรได้บ้าง นอกจากการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ก็อาจหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น ทำ podcast หรือ การหานิวมีเดียใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา มีสำนักข่าวใหม่ๆ ที่เจริญเติบโตตรงนี้ และมีการพัฒนาพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
- สื่อซีเนียร์เปลี่ยนได้
- ทำวิเคราะห์ /ผลิตคอนเทนต์ลงยูทูป
สิ่งสำคัญ สื่อกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ในช่วงปี ค.ศ.2020 -2030 เราเห็นแล้วว่า กิจการใหญ่ๆ ในโลกใบนี้กำลังเข้าสู่ เมต้าเวิร์สที่เป็นหัวใจ ดังนั้นก็ต้องเตรียมพร้อม
ส่วนนักวิชาชีพสื่อต้องปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะคนเก่าที่ทำงานตั้งแต่ยุคอนาล็อคเพราะหากถูกเลิกจ้างจะส่งผลต่อเขาพอควร สิขเรศ กล่าวว่า มี 2 แนวทาง 1.การเปลี่ยนที่ตัวเรา ซึ่งหากมองภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อ คนที่เป็นสื่ออาวุโส หรือ ซีเนียร์อาจบอกว่า ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี แต่ถ้ามองจากเนื้องานข่าว บทวิเคราะห์ต่างๆ ปัจจุบันหายลงไปอย่างมาก ดังนั้น ในองค์กรอาจต้องหารือว่า ถ้าเขาไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยี หรือ การอ่านค่าหลังบ้านต่างๆ ก็ควรจัดกลุ่มให้เขาอยู่ในทีมบรรณาธิการ ให้ช่วยโต๊ะข่าว ทำเรื่องลดเฟคนิวส์ หรือ ทำงานข่าวให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
2. หากที่สุดแล้ว มีการเลิกจ้างพนักงานซีเนียร์ เขาก็สามารถนำประสบการณ์มาผลิตเนื้อหาลงยูุทูป ติ๊กต๊อกแทนได้ ผันตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ บางคนทำเรื่องรายการท่องเที่ยว มียอดวิวจำนวนมาก หรือ บางคนก็ขายของออนไลน์สร้างจุดแข็งของตัวเอง
เมื่อถามถึง นักศึกษาจบใหม่จะหางานในอุตสาหกรรมสื่อได้ตรงตามจิตวิญญาณที่เรียนหรือไม่เพราะต้องไหลตามนโยบายองค์กรเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ สิขเรศ กล่าวว่า เราต้องกลับไปสู่อุดมคติบ้าง แน่นอนแม้เราต้องอยู่ด้วยเงิน ค่าตอบแทน แต่หลายปรากฏการณ์ที่ผ่านมา นักข่าวรุ่นใหม่อาจทำความผิดพลาดได้เช่น กรณีการนำเสนอข่าวหลวงปู่แสง แม้เราเป็นนักข่าว หรือ บรรณาธิการ สิ่งสำคัญ คือ จรรยาบรรณ ส่วนยอดวิว ยอดแชร์แม้จะมีผลตอบแทนกับองค์กร แต่การเป็นนักข่าว เราสามารถยืนหยัดสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ อะไรที่เป็นคำสั่งไม่ชอบธรรม หรือ อะไรที่เป็นกระแสโดยที่ไม่ได้เป็นคำสั่ง หรือ อาจารย์เคยสอนแล้วเช่น เรื่องการวางตัว จรรยาบรรณาการเป็นนักข่าว ความซื่อสัตย์ของวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวรุ่นเก่า รุ่นใหม่ถ้าไม่มีศีลธรรมจรรยาบรรณตรงนี้ เราก็ไม่สามารถทำวิชาชีพนี้ได้
สำหรับความมั่นคงของคนทำงานสื่อถูกพูดมาตลอด โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้มีสหภาพของคนทำงานสื่อ แต่ประเทศไทยกลับมีไม่มาก เป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะมีสหภาพทำหน้าที่ดูแลพนักงานตรงนี้ สิขเรศ ในฐานะ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ในไทย สหภาพแรงงานสื่อมีพัฒนาการตามลำดับ เช่น สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เกิดเมื่อปี 2555 แม้กระนั้นเรามีสหภาพบางส่วนในบางองค์กร เช่น อสมท แต่ปัญหาคลาสสิคของเราคือ การขาดอำนาจต่อรองในแรงงานอุตสาหกรรมเพราะส่วนใหญ่จะตกเป็นของนายทุน เจ้าของกิจการเป็นหลัก
นอกจากนี้ ภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญของการมีสหภาพแรงงานของอุตสาหกรรมสื่อเท่าไร ไม่มีนโยบายในเชิงสนับสนุนสหภาพแรงงานกิจกรรมสื่อและคนทำงานเองบางส่วนก็เป็นฟรีแลนซ์ เช่น งานในกองถ่าย ห้องตัดต่อ แม้แต่พิธีกร ผู้ประกาศข่าว นักแสดง เบื้องหน้าเหมือนเป็นพนักงานประจำแต่ก็เป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งเร็วๆ นี้ เริ่มมีการรณรงค์ดูแลการทำงานของลูกจ้าง โดยสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทยที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้กำกับ ผู้ผลิตงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่เห็นด้วยกับการทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน หรือ รณรงค์ไม่ให้ใช้แรงงานเด็กในการพรีเซ็นเตอร์ในบางเรื่อง ทั้งหมดมันมีพัฒนาการ แต่องค์กรวิชาชีพ ต้องร่วมมือกันไปสู่การผลักดัน ดูแลการทำงานทุกภาคส่วน
“ตรงนี้เราอยู่ในคลื่นสึนามิระลอกกลางต้องมีการเลย์ออฟจำนวนเยอะมาก องค์กรวิชาชีพไม่ควรตั้งรับ ต้องมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ประสานกับสภาทนายความให้ช่วยดูแลเรื่องการเลิกจ้าง ให้ได้ความรับยุติธรรม ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ควรมีเคสบายเคสเกิดขึ้น”
สิขเรศ ตอบคำถามที่ว่า วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันมีโอกาสที่องค์กรสื่อจะมีความหวังฟื้นตัวขึ้นมาหรือไม่ว่า สถานการณ์ช่วงนี้คือ ช่วงประคับประคองตัว หากมองภาพให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่เหลือจากนี้ องค์กรที่น่ามีบทบาทในการพัฒนาวิชาชีพ คือ กสทช. แต่วันนี้เรายังไม่มีการพูดว่า เมื่อถึงวันที่ต้องสิ้นใบอนุญาตแล้วจะมีอุตสาหกรรมสื่อกี่รายที่ได้ไปต่อ ตรงนี้ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ต้องมาหารือร่วมกับ กสทช.ว่า 7 ปีที่เหลือนี้ อุตสาหกรรมสื่อเราจะมีทิศทางไปอย่างไร เรามีการเตรียมความพร้อมแรงงานของเราที่กำลังไปสู่โลก เมตาเวิร์ส AI บล็อกเชน นิวอีคอนอมี อย่างไร
“เราต้องเตรียมความพร้อมสู่สหัสวรรษใหม่ ตรงนี้มันเป็น ครีเอทีฟดิสรัปชั่น การทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ เราต้องยอมรับว่า โลกเรากำลังอภิวัฒน์สู่อุตสาหกรรมใหม่ มันคงไม่อภิวัฒน์เรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว ดังนั้น เราจะช่วยกันอย่างไรเพื่อให้ประชากร แรงงาน นิสิตของเรามีความพร้อมสู่โลกยุคใหม่” สิขเรศ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มาเรื่อง : อุตสาหกรรมสื่อ ในคลื่นสึนามิระลอกกลาง มรสุมวิกฤต- เลย์ออฟยังไม่จบ - สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (tja.or.th)