"...สื่อหลักอันเป็นแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ประเทศอังกฤษนั้นถือว่าได้รับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงมาก จนทำให้สื่อที่มาจากโซเชียลมีเดียนั้นมีความสำคัญในระดับรองลงมา แน่นอนว่าการบิดเบือนข้อมูล ความสับสนก็ยังมีอยู่และมีจนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ เมื่อผู้คนมีความรับรู้มากขึ้นและรู้ว่าจะเช็คข้อมูลจากแหล่งไหนได้มากกว่าแต่ก่อน ก็จะทำให้ประชาชนนั้นสามารถยืนยันความคิดเห็นของตัวเองได้ว่ามันถูกต้องหรือไม่ ..."
....................
สืบเนื่องจากปรากฏข่าวกรณีรัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ระบุว่า “การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร”
ส่งผลทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่าง ๆ ต้องออกมาแสดงท่าทีความกังวลต่อข้อกำหนดดังกล่าวว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าสื่อหลายสำนักเคยมีการนำเสนอประเด็นเรื่องการรายงานข่าวและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส เอาไว้ดังนี้
ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของรัฐสภายุโรป ได้มีการจำกัดคำนิยามการทำหน้าที่สื่อมวลชน ว่าจะต้องมีคุณภาพในช่วงเวลาที่มีวิกฤติสุขภาพเอาไว้ โดยมีการสัมภาษณ์นายแพทริค เพนนินคซ์ หัวหน้าสมาคมสารสนเทศที่รัฐสภายุโรปเอาไว้ ในหัวข้อบทความที่มีชื่อว่า “ไม่ควรที่จะใช้วิกฤตการณ์เพื่อขัดขวางเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก” (Crises should not be used to hamper media freedom and freedom of expression)
นายแพทริค เพนนินคซ์ หัวหน้าสมาคมสารสนเทศที่รัฐสภายุโรป (อ้างอิงวิดีโอจากช่องรัฐสภายุโรป)
@อะไรคือขอบเขตของคำว่าข่าวปลอม,ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง,การบิดเบือนข้อมูลตั้งแต่เริ่มจะมีการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่า
นายแพทริค: เราจะต้องพึ่งพาข้อมูลที่มีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่งในการจะวัดว่าข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริงหรือไม่ เรามีความจำเป็นจะต้องพึ่งพาหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์,เจ้าหน้าที่อาชญากรรมทางไซเบอร์,หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ รวมไปถึงสื่อมวลชนด้วยกันเอง และหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ถึงจะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าจะเป็นข่าวปลอมหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงชื่อว่า EUvsDISINFO ได้มีการตรวจสอบกรณีความน่าจะเป็นข่าวปลอมอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 จำนวน 8,500 กรณี และพบว่า 500 กรณีนั้นพบว่าเป็นการสร้างเรื่องทฤษฎีสมคบคิดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นแค่กรณีเล็กน้อยที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะล่าสุด มีรายงานว่าหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นพบข้อมูลสแปมเพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์อันเกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19
@ในเชิงของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ในการจะสื่อสารสารไปยังอีกคนหนึ่ง คำถาม คือ ข้อมูลที่ผิดของคนอื่นที่ส่งต่อกันมานั้นจะถือว่าเป็นข่าวปลอมได้หรือไม่
นายแพทริค : ต้องบอกว่าในแง่ของการตีความนั้นค่อนข้างที่จะหลากหลายมาก
แต่คำว่าข่าวปลอมเริ่มมีการใช้กันตั้งแต่ที่มีคนพูดถึงบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยว่ามันเป็นข่าวปลอม แต่ทั้งนี้ เราจะต้องวิเคราะห์สิ่งนั้นในเชิงลึกด้วยถึงจะตัดสินได้
นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราต้องมีการศึกษา จนกระทั่งได้ข้อมูลเอกสารที่ระบุรายละเอียดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกมาได้ แล้วเราถึงจะจำแนกได้ว่านั่นคือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง, ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน หรือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกันแน่
ซึ่งการบิดเบือนข้อมูลนั้นมักจะเป็นนิยามที่มักจะถูกใช้เชื่อมโยงกับคำว่าข่าวปลอม แต่โดยพื้นฐานแล้วข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นมันก็มีสิ่งที่เรียกกันว่าระดับของความผิดพลาดและระดับของเจตนาที่เป็นอันตรายของข้อมูลนั้นอยู่
นั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่าการบิดเบือนข้อมูลนั่นเอง
ตราบเท่าที่เรากำลังพูดคุยกันถึงข้อเท็จจริงเดียวกัน และเรายังสามารถที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ว่าได้ด้วย เราก็จะสามารถที่จะมีความเห็นกับเรื่องนั้นได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันก็ตาม โดยที่เราจะมั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ข่าวปลอมเกิดขึ้นมาอีก
@ คุณจะเอาอะไรมาเป็นตัวบ่งชี้ถึงสื่อเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงของการระบาดใหญ่
นายแพทริค : ถ้าให้ผมยกตัวอย่างจากหน่วยงาน OFCOM ที่เป็นหน่วยงานด้านการกำกับดูแลโครงการโทรคมนาคมและผู้ควบคุมสื่อ เราจะเห็นว่าประชาชนที่ใช้และบริโภคสื่อนั้นมีความแตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่เกิดการระบาด ประชาชนจำนวนมากมีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นและแน่นอนว่า 99 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงข่าวเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งต่อวัน แน่นอนว่าจำนวนของผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นดังกล่าว ก็มีทั้งประชาชนที่เข้าถึงสื่อหลักมากขึ้น โดยเฉพาะการประกาศข่าวในช่วงทางสาธารณะเพื่อที่จะเข้าถึงข่าว
ซึ่งข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือว่าสื่อหลักอันเป็นแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ประเทศอังกฤษนั้นถือว่าได้รับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงมาก จนทำให้สื่อที่มาจากโซเชียลมีเดียนั้นมีความสำคัญในระดับรองลงมา แน่นอนว่าการบิดเบือนข้อมูล ความสับสนก็ยังมีอยู่และมีจนถึงปัจจุบัน
แต่ทั้งนี้ เมื่อผู้คนมีความรับรู้มากขึ้นและรู้ว่าจะเช็คข้อมูลจากแหล่งไหนได้มากกว่าแต่ก่อน ก็จะทำให้ประชาชนนั้นสามารถยืนยันความคิดเห็นของตัวเองได้ว่ามันถูกต้องหรือไม่
สำนักข่าวบีบีซีนำเสนอเนื้อหาข้อมูลรณรงค์ให้ผู้รับสารมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ทุกครั้ง (อ้างอิงวิดีโอจากบีบีซี)
@ ในเชิงของผู้ที่ทำหน้าที่ คิดว่าใครควรจะเป็นคนที่ทำให้สื่อนั้นมีความปลอดภัยจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง,การบิดเบือนข้อมูล และทำให้ข้อมูลที่สื่อให้กับเรานั้นเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ
นายแพทริค: จริง ๆ เรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครแค่คนใดคนหนึ่ง พวกเราทุกคนนั้นถือได้ว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว หมายความว่า นี่ไม่ใช่แค่หน้าที่ของหน่วยงานสื่ออย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐ,รัฐบาล,เจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะร่วมด้วยช่วยกัน
ขณะที่ประชาชนที่จะต้องมีบทบาทสำคัญร่วมด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องมีความรู้ในด้านสื่อให้มากขึ้น เราต้องคิดให้มีความเป็นเหตุเป็นผลให้มากขึ้นกับสิ่งที่เราได้รับมาและจะส่งต่อไป
ซึ่งนี่ถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่แท้จริง การที่จะรับมือกับการบิดเบือนข้อมูลได้ดีที่สุดนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะต้องกระทำร่วมกัน
@ มีแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนประกอบกันไหมเพื่อจะสร้างความมั่นใจว่าเราจะได้รับสารอย่างถูกต้อง
นายแพทริค: แน่นอน เสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ถึงแม้ว่าสิทธิในการแสดงออกนั้นจะไม่สามารถแสดงได้โดยเต็มที่ในช่วงที่มีเหตุการณ์การระบาด เพราะเราจะต้องมีการมาหารือกันว่าข้อจำกัดเรื่องการแสดงออกในเรื่องใดนั้นอาจจะเป็นความจำเป็นที่จะต้องห้ามเอาไว้
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องกระทำก็คือการต้องกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจนว่าอะไรนั้นจะเป็นสิทธิในการแสดงออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอะไรอาจจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดการแสดงความเห็นไว้ในบางช่วงเวลา
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องดำเนินการอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะว่าภายใต้คำว่าช่วงสถานการณ์วิกฤต คำนี้นั้นไม่ควรจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการละเมิดหรือหยุดและขัดขวางเสรีภาพสื่อและการแสดงออกของสื่อมวลชน
@ ในเชิงของเสรีภาพการแสดงออกที่บอกว่าถูกคุ้มครองโดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป คิดว่าจะต้องมีมาตรการใดๆเพิ่มเติมอีกหรือไม่
นายแพทริค: อันที่จริงแล้วคำว่าเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้
แน่นอนว่าเราอาจจะให้ศาลตีความเพิ่มเติมได้ว่าอะไรเป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก แต่ทั้งนี้เราก็จะต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมอันเป็นบวกให้กับสภาวะของสื่อและการแสดงออกอย่างเสรีด้วย แน่นอนว่านี่อาจจะหมายถึงการมีหลักการบางประการที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกเพื่อให้สื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก
เรียบเรียงจาก:https://www.coe.int/en/web/portal/covid-19-crises-should-not-be-used-to-hamper-media-freedom-and-freedom-of-expression
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage