โลกกำลังจะจับเอาดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก 2024 PT5 เป็น ดาวบริวารชั่วคราว นาน 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. - 25 พ.ย. 2024
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “โลกจะจับดาวเคราะห์น้อยมาเป็นดาวบริวารดวงใหม่ในเดือนนี้ แต่ก็จะมีสถานะนี้ไม่นานนัก
โลกของเรากำลังจะจับเอาดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก 2024 PT5 เป็น “ดาวบริวารชั่วคราว” นาน 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2024 ถึง 25 พฤศจิกายน 2024 ทั้งนี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็กมาก
Advertisement
ต่างจากกรณี “ดวงจันทร์” ซึ่งเป็นดาวบริวารหลักของโลกที่อยู่คู่กับดาวเคราะห์ของเรามานานราว 4 พันล้านปี “ดาวบริวารขนาดจิ๋วดวงใหม่” ดวงนี้จะติดอยู่ในบริเวณวงโคจรโลกนานเพียง 2 เดือน โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยไม่ได้โคจรรอบโลกโดยตรงแบบดวงจันทร์ แต่มีตำแหน่งสัมพัทธ์กับโลกเสมือนว่าโคจรรอบโลกอยู่ ก่อนที่จะออกจากห้วงอวกาศบริเวณใกล้โลก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบในครั้งนี้ได้ตรวจพบคุณสมบัติทางพลวัตรที่แปลกประหลาดของดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 ในระหว่างที่พวกเขากำลังติดตามวัตถุที่ค้นพบใหม่ เพื่อพิจารณาหาวัตถุที่อาจมีลักษณะที่น่าสนใจ
Advertisement
“วัตถุที่กำลังมาใกล้พวกเราเป็นสมาชิกในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอรชุน (Arjuna asteroids) ซึ่งเป็นอีกกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรใกล้เคียงกับโลก โดยมีระยะห่างเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับโลกมาก ดังนั้น วัตถุในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยอรชุนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวเคราะห์น้อยและดาวหางใกล้โลก” ศาสตราจารย์การ์โลส เด ลา ฟูเอนเต มาร์โกส จากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด ประเทศสเปน และผู้นำทีมนักวิจัยทีมนี้กล่าว
มาร์โกสอธิบายว่าดาวเคราะห์น้อยสมาชิกส่วนหนึ่งในกลุ่มอรชุนสามารถเข้าใกล้โลกได้ในระยะ 4.5 ล้านกิโลเมตร และมีอัตราเร็วสัมพัทธ์กับโลกที่ค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 3,540 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
“ภายใต้สภาวะเหล่านี้ พลังงานของดาวเคราะห์น้อยเมื่อพิจารณากรอบที่มีโลกเป็นศูนย์กลางอาจกลายเป็นค่าติดลบ และวัตถุนั้นอาจกลายเป็นดาวบริวารชั่วคราวของโลก ซึ่งดาวเคราะห์น้อยเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่สัปดาห์หน้า และเกิดขึ้นนาน 2 เดือน แต่ว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ก็ไม่ได้โคจรรอบโลกโดยตรง”
มาร์โกสกล่าวเพิ่มเติม “ก็อาจเทียบได้ว่าดาวบริวารที่แท้จริงเปรียบเสมือนลูกค้าที่กำลังซื้อของข้างในร้าน แต่วัตถุอย่าง 2024 PT5 เปรียบเสมือนคนที่เดินดูสินค้าในตู้โชว์เล่น ๆ จากด้านนอกหน้าร้านโดยไม่ซื้ออะไรเท่านั้น”
เหตุการณ์ที่เกิดดวงจันทร์ชั่วคราวเช่นนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ
– แบบที่ 1 : เหตุการณ์กินเวลาต่อเนื่องนานกว่า โดยดาวเคราะห์น้อยอาจเสมือนว่าโคจรครบรอบ 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น โดยปฏิสัมพันธ์ของดาวเคราะห์น้อยกับแรงโน้มถ่วงโลกจะนานในระดับ 1 ปีขึ้นไป
– แบบที่ 2 : เหตุการณ์กินเวลาสั้นกว่า โดยดาวเคราะห์น้อยอาจเสมือนว่าโคจรรอบโลกแต่ไม่ครบรอบ ซึ่ง “การจับเป็นดาวบริวารชั่วคราว” แบบนี้จะนานเพียงไม่กี่วันไปจนถึงไม่กี่เดือน
มาร์โกสอธิบายว่าเงื่อนไขที่วัตถุขนาดเล็กจะกลายเป็น “ดาวบริวารขนาดจิ๋ว” ของโลกได้ วัตถุนั้นจะต้องเข้ามาใกล้โลกภายในระยะห่างราว 4.5 ล้านกิโลเมตร และมีอัตราเร็วสัมพัทธ์กับโลกตั้งแต่ราว 3,540 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น
“ภายใต้สภาวะเหล่านี้ เมื่อพลังงานของดาวเคราะห์น้อยหากพิจารณากรอบที่มีโลกเป็นศูนย์กลางสามารถเป็นค่าติดลบ และวัตถุนั้นจะกลายเป็นดาวบริวารชั่วคราวของโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่โลกจับมาเป็นดาวบริวารขนาดจิ๋วแบบกินเวลาที่นานกว่าเพียง 2 ดวง คือ 2006 RH120 และ 2020 CD3 ขณะที่แบบกินเวลาสั้นกว่านั้น มีตัวอย่างอยู่ 3 ดวง คือ 1991 VG, 2022 NX1, และ 2024 PT5” มาร์โกสกล่าวเพิ่มเติม
“เหตุการณ์ดาวบริวารขนาดจิ๋ว” ที่จะเกิดขึ้นกับ 2024 PT5 ในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นแบบกินเวลาสั้นกว่า ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ขณะที่แบบกินเวลานานกว่า จะเกิดขึ้นยากกว่า (ระดับ 1 ครั้ง ทุก ๆ 10-20 ปี)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 ถูกกักในห้วงอวกาศบริเวณใกล้โลก จะไม่สามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หรือแม้แต่อุปกรณ์ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น
“ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เล็กและริบหรี่เกินกว่าที่จะสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่นักดาราศาสตร์อาชีพใช้สังเกตการณ์เก็บข้อมูลทำวิจัย โดยกล้องที่จะใช้สังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ ควรมีขนาดหน้ากล้องอย่างน้อย 30 นิ้ว และติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบ CCD หรือ CMOS แต่ไม่ใช่การใช้ตามนุษย์ไปส่องดูกับกล้องโทรทรรศน์ 30 นิ้ว ซึ่งยังไวแสงไม่พอ” มาร์โกสกล่าวเพิ่มเติม
ทางมาร์โกสเพิ่มเติมว่าตนและนักวิจัยร่วมทีมตั้งใจจะสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 ทั้งในแง่สเปกตรัมและความสว่าง เพื่อทำความเข้าใจสภาพทางธรรมชาติของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ดีขึ้น
รายงานการวิจัยเรื่องดาวเคราะห์น้อย 2024 PT5 ของทีมนักวิจัยทีมนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัย The Research Notes of the AAS แปลและเรียบเรียง พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.