ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ชวนพรรคการเมืองร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์-นโยบายหาทางออกปัญหาข้อพิพาทถือครองที่ดิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 มูลนิธิชุมชนไท Chumchonthai Foundation (CTF.) เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ LAST LIVE AT LIPE เชิญชวนผู้สมัครเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2566 มาร่วมงานดีเบต ที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อให้เห็นถึงปัญหาในพื้นที่จริง และนําไปสู่การสร้างการตระหนักรู้ทางสังคม โครงการนี้จะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ชาวเลท้องถิ่นที่อาศัยอยู่บนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะได้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยมุ่งหวังให้ว่าที่นายกได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นบนเกาะหลีเปีะ หลังจากเกิดข้อพิพาทในการถือครองที่ดินกับธุรกิจท่องเที่ยวที่ขยายตัว ซึ่งเกิดการจัดสรรพื้นที่ที่ไม่เป็นธรรมกับชาวเลท้องถิ่นที่อยู่มาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงออกประกาศเชิญทุกพรรคการเมืองมาเข้าร่วมโครงการ 'LAST LIVE AT LIPE' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่สร้างสรรค์บนเกาะหลีเป๊ะที่อัดแน่นไปด้วยความเจริญธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน เพราะอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะทำได้ หากยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ LAST LIVE AT LIPE
ชาวเลหลีเป๊ะจึงออกจดหมายเชิญออนไลน์ ผ่านวิดีโอสั้นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพดีเบต เปิดพื้นที่ในการแสดงวิสัยทัศน์ให้กับทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ร่วมเสนอนโยบายของพรรคตนเองและแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวเลหลีเปีะ อีกทั้งชาวบ้านยังมีการเตรียมพร้อมในเรื่องอาหาร การแสดงและสถานที่ประชุมอย่างดีที่สุดในแบบพวกเขา
"อยากให้ทุกพรรคการเมืองรีบมาก่อนที่จะไม่ได้เห็นพวกเขาอยู่บนถิ่นเกิดอีกต่อไป" ชาวเลหลีเป๊ะระบุ
ทั้งนี้พบว่าสภาพปัญหาที่ดินที่มีการทับซ้อนทั้งภาครัฐและเอกชนของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. ที่ดินทับซ้อนอุทยาน จำนวน 34 แปลง 27 หลังคาเรือน 30 ครอบครัว
2. ที่ดินทับซ้อนเอกชน จำนวน 24 แปลง 24 หลังคาเรือน 28 ครอบครัว
3. ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 268 แปลง 247 หลังคาเรือน 281 ครอบครัว
ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ได้เกิดกรณีเอกชนที่อ้างสิทธิครอบครอง น.ส.3 เลขที่ 11 ได้ทำการปิดทางเข้าออกโรงเรียนและทางเดินสาธารณะ จึงได้มีการร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และได้มีการลงพื้นที่โดย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเปีะ จังหวัดสตูล ขึ้น โดยมี พล.ต...สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เป็นประธานโดยในระหว่างนั้นทางชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือและมอบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องให้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและครูในโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง
2. กระทรวงมหาดไทย เรื่องให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
3. องค์การสหประชาชาติ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
4. กระทรวงการคลัง เรื่องให้ดำเนินการเอาที่ดินคืนจากการบุกรุกของเอกชน
5. กระทรวงทรัพย์ เรื่องขอให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินอุทยาน
6. สำนักนายกรัฐมนดรีและพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เรื่องให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องสิทธิในที่ดิน
ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการทางด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเปีะ จังหวัดสตูล โดยมีการดำเนินการดังนี้
1. บังคับใช้กฎหมายกับกรณีการบุกรุกที่ดินกรมอุทยาน จำนวน 4 ราย
2. บังคับคดีเพื่อให้รื้อถอนกับกลุ่มที่ศาลฎีกาติดสินแล้วว่าบุกรุกที่ดินของรัฐ จำนวน 8 ราย
3. ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไปแล้ว 1 ราย
4. ดำเนินการให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายในแปลงเลขที่ 11 จากทั้งหมดที่ชาวเลร้องเรียนไป 4 แปลง ซึ่งอยู่ระหว่างการขอคำสั่งศาลเพื่อให้กรมที่ดินลงพื้นที่สำรวจรังวัดขอบเขตที่ดินที่จะเพิกถอน
5. ดำเนินการให้เอกชนที่อ้างสิทธิใน น.ส.3 แปลง 11 ทำการรื้อถอนรั้วที่ปิดทางเข้าโรงเรียนและทางเดินสาธารณะโดยอยู่ในขั้นตอนการอุธรณ์ของเอกชนรายดังกล่าว
6. ตรวจสอบโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะด้านใบอนุญาตประกอบการและใบอนุญาตการก่อสร้างอาคาร ผลสรุปคือพบโรงแรมจำนวน 108 แห่งที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบการและก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต