กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แจงชัดประกาศกระทรวงสาธารณสุข สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 มีข้อห้ามชัดเจน ห้ามจำหน่ายกัญชาแก่เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ ย้ำจุดประสงค์หลักการใช้กัญชา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามสื่อสังคมออนไลน์ จะพบภาพของเด็ก และ เยาวชนสูบกัญชา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีความห่วงใย ต่อเหตุการณ์เหล่านี้ และขอชี้แจงให้ทราบว่า การสูบกัญชา หรือการจำหน่าย ขาย แจก แลกเปลี่ยนกัญชาแก่เด็ก และ เยาวชน เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถือเป็นการจำหน่าย สมุนไพรควบคุม คือกัญชา โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษอาญาถึงขั้นจำคุก ตามประกาศ “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” ข้อ 1.3 กำหนดชัดในเรื่อง ห้าม จำหน่ายแก่เด็ก และ เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งการจำหน่ายหมายความรวมถึง การขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลในประเด็นนี้ จะเห็นว่า เด็ก และ เยาวชนนำกัญชามาใช้ในทางที่ ไม่เหมาะสม ได้ 2 ทาง ดังนี้
-
ทางที่ 1 คือ ได้รับการจำหน่าย จ่าย แจก มา ตามข้อนี้ กฎหมายสามารถเอาผิดกับผู้ที่จำหน่าย จ่าย แจกกัญชาให้เยาวชนได้ตามมาตรา 78 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ
-
ทางที่ 2 คือ เด็ก และ เยาวชน ปลูกกัญชาเพื่อไว้เสพ กรณีนี้ ผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลาน ต้องมีการควบคุมดูแล เช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ หรือ ดื่มสุรา ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิด จึงมีบทบาทที่ต้องเข้ามาเฝ้าระวัง และให้แนวทางที่ถูกต้องแก่เด็ก และ เยาวชน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวบทกฎหมายที่ออกมานอกจาก ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีแล้ว ยังห้ามจำหน่าย แก่สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ห้ามสูบกัญชาในสถานประกอบการ ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณากัญชาในทุกช่องทางเพื่อการค้า และห้ามสูบกัญชาในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรม ทางศาสนา หอพัก ตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก เป็นต้น
นพ.เทวัญ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มีจุดประสงค์หลักคือ ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชา และใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมทางการแพทย์ ที่สำคัญต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการควบคุม เพื่อการคุ้มครองบุคคล และสังคม เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคกัญชา และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด หากพิจารณาถึงผลจากการ สร้างคุณค่าของห่วงโซ่การผลิตกัญชา ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ ประชาชนจะได้มีโอกาสทางด้านการรักษา การเข้าถึงการใช้ยา การใช้กัญชาในชุมชน โดยย้ำชัดเจนผู้ที่ใช้กัญชา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือ ผู้บริโภค ต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เป็นทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพแก่กลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากัญชา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นายแพทย์เทวัญกล่าวทิ้งท้าย