เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เผย 17-20 ม.ค. 2566 เข้ายื่นข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง เรียกร้อง 3 ประการ สร้างสัตยาบันนโยบาย-สร้างประชาธิปไตย-สร้างรัฐสวัสดิการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เฟซบุ๊ก We Fair หรือเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม เผยแพร่เนื้อหาการแถลงข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมพบพรรคการเมือง วันที่ 17-20 มกราคม 2566 เดิมพันพรรคการเมืองการเลือกตั้งครั้งใหม่ สร้างสัตยาบันนโยบาย สร้างประชาธิปไตย สร้างรัฐสวัสดิการ มีรายละเอียดดังนี้
ในโอกาสการเลือกตั้งภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติเฉพาะหน้าที่ซ้อนอยู่ในวิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำ อันผูกโยงกับระบบอำนาจนิยมและระบบทุนนิยมผูกขาด นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความเปราะบางของประชาชนเลวร้ายลง
กระทั่งในปี 2564 คนจน 4.4 ล้านคน อยู่บนเส้นความยากจน 2,803 บาทต่อเดือน ผู้ว่างงานปี 2565 จำนวน 546,600 คน หนี้สิ้นครัวเรือนขยายตัวมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาทเป็นร้อยละ 90 ของ GDP หนี้สินสาธารณะ 10.4 ล้านล้านบาท ในทางกลับกันมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 52 คน เป็นอันดับ 10 ของโลก โดยที่เศรษฐี 40 อันดับแรก มีมูลค่าทรัพย์สินร้อยละ 28.01 ของ GDP ครัวเรือนกลุ่มรายได้สูง 10% มีส่วนแบ่งมูลค่าสินทรัพย์ร้อยละ 31.2 ของประเทศ
ส่วนสถานการณ์ความเปราะบาง เด็กและเยาวชนออกจากการศึกษาเพิ่มตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 238,277 คน คนรวยที่สุดกับคนยากจนที่สุด 10% มีรายได้ต่างกัน 19 เท่า มีทรัพย์สินต่างกัน 375 เท่า บุตรครัวเรือนยากจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยได้เพียงร้อยละ 4 (2563) ข้อมูลการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมระบุว่า หากพ่อแม่มีฐานะครึ่งล่างของสังคม ลูกมีโอกาสอยู่ในลำดับชั้นเดิม 65% หรือตกอยู่จนสุด 35% ส่วนเด็กเกิดในกลุ่มคนรวยสุด 25% มีโอกาส 46% ที่จะคงฐานะเดิม
แน่นอนว่า วิกฤติสังคมไทยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สาเหตหลักเกิดจากการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประยุทธ์ อันประกอบด้วย รัฐราชการที่ไร้ประสิทธิภาพไม่ตอบสนองประชาชน ทุนใหญ่รวมศูนย์ผูกขาด กลไก ส.ว. 250 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ปฏิเสธเจตจำนงประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การรวมตัวเครือข่ายประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เป็นเครื่องมือจับกุมนิสิตนักศึกษาเยาวชน และผู้เห็นต่างจำนวนมาก
ย้อนกล่าวถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นพัฒนาการสำคัญของการเมืองไทย เมื่อพรรคการเมืองประชันขันแข่งนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิต การยกระดับสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่การบริหารประเทศของประยุทธ์ นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ไม่มีการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียง อาทิ มารดาประชารัฐ เกิดปั๊บรับแสน การเรียนฟรีถึงปวส. ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท การประกันรายได้ 120,000 บาทต่อปี การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ
ในขณะที่สวัสดิการสังคมมีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน แต่สวัสดิการยุครัฐบาลประยุทธ์ เน้นระบบสงเคราะห์เชิงอุปถัมภ์ พิสูจน์ความจน การเข้าไม่ถึงสิทธิเสมอกัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ดังนี้
(1) เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท/เดือน สำหรับครอบครัวรายได้ 100,000 บาท ทำให้เด็ก 4.2 ล้านคน ได้รับเพียง 2.8 ล้านคน
(2) ลูกคนจนเข้าถึงมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 4
(3) งบประมาณการรักษาพยาบาลเหลื่อมล้ำ ประกันสังคม 3,959 บาท บัตรทอง 3,800 บาท ข้าราชการ 15,000 บาท
(4) ที่อยู่อาศัยราคาแพง
(5) แรงงานมีชั่วโมงการทำงานตรากตรำ การลาคลอดไม่เพียงพอต่อพัฒนาการเด็ก
(6) แรงงานนอกระบบเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม
(7) การไม่รับรองกฎหมายระบบบำนาญประชาชน 5 ฉบับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ปรับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2554
(8) เบี้ยความพิการต่ำกว่าเส้นความยากจน 3.5 เท่า
(9) ระบบภาษีขาดบทบาทในการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขาดการพัฒนาภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีกำไรจากการลงทุน ภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) งบประมาณการจัดสวัสดิการสังคมเหลื่อมล้ำ
การเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้ จึงมีเดิมพันระหว่างสังคมไทยที่มีความหวังกับความสิ้นหวัง ประชาธิปไตยกับเผด็จการขวาจัด รัฐเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนกับอาวุธยุทธภัณฑ์เพื่อความมั่นคงกองทัพ โอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมกับธุรกิจการศึกษาที่สร้างหนี้สิน การเข้าถึงสิทธิเสมอกันถ้วนหน้ากับระบบสงเคราะห์ตีตราคนจนแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยกับการคงอยู่ของระบอบประยุทธ
เครือข่าย We Fair ในฐานะภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ นโยบายสวัสดิการสังคม และร่วมกันขับเคลื่อน 'ชุดข้อเสนอรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน' ประกอบด้วย
(1) เงินอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า
(2) การศึกษาฟรีตลอดชีวิต
(3) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าเทียม
(4) การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน
(5) งานและรายได้ที่เป็นธรรม สิทธิลาคลอด 180 วัน
(6) การพัฒนาสิทธิประโยชน์ระบบประกันสังคม
(7) การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญถ้วนหน้า
(8) สิทธิทางสังคม เงินอุดหนุนคนพิการ สิทธิสวัสดิการการข้ามเพศ สวัสดิการผ้าอนามัย ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สาธารณะ
(9) ระบบภาษีและงบประมาณเพื่อสวัสดิการสังคม
เครือข่าย We Fair จึงได้จัดกิจกรรม 'รณรงค์ชุดข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการต่อพรรคการเมือง' เพื่อนำเสนอนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมต่อพรรคการเมือง ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย และมีบทบาทในการจัดสรรภาษีงบประมาณและกระจายประโยชน์ไปยังประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างเจตจำนงร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคม ระหว่างภาคประชาสังคมกับพรรคการเมือง อันจะนำไปสู่การลงหลักปักฐานรัฐสวัสดิการและการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในสังคมไทย
พรรคการเมืองที่จะยื่นข้อเสนอ พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ รวม 15 พรรค ในวันที่ 17-20 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค และอาคารสัปปายะสภาสถาน ดังนี้
วันที่ 17 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค
เวลา 13.00 น. พรรคสร้างอนาคตไทย
เวลา 14.30 น. พรรคประชาชาติ
เวลา 16.30 น. พรรคสามัญชน
วันที่ 18 มกราคม 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน
เวลา 10.00 น. พรรคพลังประชารัฐ
เวลา 11.00 น. พรรคเพื่อชาติ
เวลา 13.00 น. พรรคเพื่อไทย
เวลา 14.00 น. พรรคชาติไทยพัฒนา
เวลา 16.30 น. พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย
วันที่ 19 มกราคม 2566 ณ อาคารสัปปายะสภาสถาน
เวลา 10.00 น. พรรคประชาธิปัตย์
เวลา 11.00 น. พรรคภูมิใจไทย
เวลา 13.30 น. พรรคเสรีรวมไทย
เวลา 14.30 น. พรรคก้าวไกล
วันที่ 20 มกราคม 2566 ณ ที่ทำการพรรค
เวลา 10.00 น. พรรคชาติพัฒนากล้า
เวลา 14.00 น. พรรคไทยสร้างไทย
เวลา 16.30 น. พรรคแรงงานสร้างชาติ
เครือข่าย We Fair มีข้อเรียกร้องสำคัญต่อพรรคการเมือง 3 ข้อ หรือ 3 สร้าง ได้แก่
1) สร้างสัตยาบันต่อประชาชน ในการผลักดันนโยบายหาเสียงสร้างเป็นนโยบายของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร และผลักดันกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ
2) สร้างประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถอนตัวจากระบอบประยุทธ์ ส่งทหารกลับกรมกอง
3) สร้างรัฐสวัสดิการ นโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมและประชาชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการเสมอกันทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ค่าแรงที่เป็นธรรม บำนาญถ้วนหน้า เงินอุดหนุนรายได้พื้นฐาน สร้างสังคมประชาธิปไตยที่คนในสังคมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์