บทสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นคน Gen Z โดย รศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ พบว่าส่วนใหญ่รู้สึกไร้ความหวังกับรบ.ประยุทธ์-ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างชาติซื้อที่ดิน-เห็นด้วยกับผลิต ขาย โฆษณาเหล้าเบียร์เสรี-ควรยกเลิกการห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ-ควรยกเลิกการใส่ชุดนศ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เผยแพร่ บทสรุปผลสำรวจความคิดเห็นของคน Gen Z ผ่านเฟซบุ๊กธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ มีรายละเอียด ดังนี้
บทสรุป งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) เมื่อช่วงปลายปี 2565 จากผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 412 คน เกี่ยวกับทัศนคติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย
ผลการวิจัยพบว่า
1. คำถามว่า 'ในช่วง 8 ปีกว่าภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านคิดว่ารัฐบาลนี้ได้ทำให้ท่านมีความหวังต่อความเจริญของชาติและชีวิตที่ดีขึ้นของท่านและครอบครัว ในระดับใด' ทัศนคติคน Gen Z มีในระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 80.9 รองลงมาคือ ระดับน้อย ร้อยละ 12.2 หรือกล่าวรวมได้ว่า คน Gen Z ส่วนใหญ่รู้สึกไร้ความหวังต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ถึง 93.1% มีความหวังระดับปานกลาง ร้อยละ 5.0 มีความหวังระดับมาก ร้อยละ 0.7 ระดับมากที่สุด ร้อยละ 1.2 หรือรู้สึกมีความหวังกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นี้เพียงร้อยละ 1.9
นัยทางการเมืองในข้อนี้คือ พรรคการเมืองที่ชูพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรีในสนามเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมาถึง มีแนวโน้มว่าพรรคเหล่านั้นจะได้รับคะแนนเสียงจากคน Gen Z ในระดับน้อยมาก
2. คำถามว่า 'ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะให้คนต่างชาติที่ลงทุนธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 40 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ 1 ไร่' คน Gen Z ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายนี้สูงถึงร้อยละ 86.1 เห็นด้วยเพียงร้อยละ 3.2 ไม่แสดงความเห็นร้อยละ 10.7
แม้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะได้ยกเลิกนโยบายนี้ไปแล้ว แต่นัยทางเศรษฐกิจและการเมืองในข้อนี้คือ คน Gen Z มีพลังความคิดด้านชาตินิยมสูง และมีความไม่มั่นใจในทุนจีนต่อผืนแผ่นดินประเทศไทยอยู่สูงมาก
3. คำถามว่า 'ท่านคิดว่า ควรให้ประชาชนสามารถผลิตเหล้าเบียร์และขายได้อย่างเสรี รวมทั้งโฆษณาสินค้าได้ ภายใต้การกำกับควบคุมด้านคุณภาพและสุขอนามัย หรือไม่' คน Gen Z เห็นด้วยต่อแนวทางเหล้าเบียร์เสรี ทั้งผลิต ขาย โฆษณา นี้สูงถึงร้อยละ 75.4 รองลงมาเห็นว่า ไม่ควรเปิดเสรี ร้อยละ 18.5 และไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 6.1
นัยทางสังคมเศรษฐกิจของข้อนี้คือ คน Gen Z ต่อต้านระบบทุนผูกขาดในประเทศไทยที่สูงมาก
4. คำถามว่า 'ท่านคิดว่า วันพระสำคัญของศาสนาพุทธ ควรยังต้องมี หรือ ควรยกเลิก ข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ของประชาชนทั้งประเทศ' คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 53.2 รองลงมาเห็นว่า ควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 30.6 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 16.2
นัยทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองของข้อนี้คือ คน Gen Z คิดว่าควรแยกศาสนาออกจากชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองของคนทั้งชาติ ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ในประเทศไทย แนวโน้มความคิดนี้กำลังจะมีระดับเพิ่มสูงมากขึ้น และจะกลายเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสังคมไทย
5. คำถามว่า 'ท่านคิดว่า ควรยกเลิกกฎระเบียบและการบังคับใส่เครื่องแบบของนิสิตนักศึกษา หรือไม่' คน Gen Z ส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกสูงถึง ร้อยละ 65.3 รองลงมา เห็นว่าไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 23.5 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 11.2
นัยทางสังคมการเมืองของข้อนี้ คือ คน Gen Z กำลังต่อต้านคัดค้านเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่รัฐทหารสร้างสมมาอย่างยาวนานที่เน้นการสร้างสำนึกในหน้าที่และระเบียบวินัยของประชาชนตั้งแต่เยาว์วัย แต่คน Gen Z มุ่งสร้างชีวิตเน้นไปที่การมีสิทธิและเสรีภาพของแต่ละบุคคล
ข้อมูลพื้นฐาน
งานวิจัยทัศนคติของคน Gen Z ต่อ 5 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 4-11 พฤศจิกายน 2565 โดยเก็บจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ภาคกลางที่ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี อยุธยา ภาคเหนือที่พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ เลย อุดรธานี ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวม 24 จังหวัด รวม 31 สถาบันอุดมศึกษา รวม 412 คน
เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 249 คน (60.4%) ชาย 122 คน (29.6%) เพศหลากหลาย 41 คน (10.0%)
โรงเรียนที่ท่านจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากเขตภูมิภาคใด : กรุงเทพฯ 91 คน (22.1%) ภาคกลาง 128 คน (31.1%) ภาคเหนือ 35 คน (8.5%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 คน (26.9%) ภาคใต้ 47 คน (11.4%)
อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม อายุ 18 ปี 102 คน (24.8%) อายุ 19 ปี 129 คน (31.3%) อายุ 20 ปี 67 คน (16.3%) อายุ 21 ปี 50 คน (12.1%) อายุ 22 ปี 28 คน (6.8%) อายุ 23 ปี 15 คน (3.6%) อายุ 24 ปี 11 คน (2.7%) อายุ 25 ปี 10 คน (2.4%)