กสม. มีมติทบทวนรายงานผลการตรวจสอบใหม่ กรณีพนักงานรายวัน ขสมก. ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารจากการเก็บเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามสิทธิที่พึงได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับการร้องขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิแรงงานกรณีพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประเภทพนักงานประจำรายวัน ได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารจากตั๋วกระดาษรายวันลดลงตั้งแต่มีการนำเครื่องจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติหรือเครื่องอีดีซี (Electronic Data Capture: EDC) มาใช้แทนเงินสด โดยเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิประโยชน์และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบ และมีมติให้ยุติเรื่องไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 เนื่องจากเห็นว่า การที่ ขสมก. นำระบบ EDC มาใช้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารในการจ่ายเงิน มิใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดย ขสมก. ยังคงจ่ายเงินส่วนแบ่งจากการจำหน่ายบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้กับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิม อีกทั้งได้มีคำสั่งให้จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ย้อนหลังไปถึงวันที่มีการติดตั้งระบบ EDC ถือว่าได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กสม. ได้แจ้งรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องทราบ ทางผู้ร้องได้ให้ข้อเท็จจริงมายัง กสม. ว่า ขสมก. ยังมิได้จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากระบบ EDC ให้แก่พนักงานประจำรายวัน และคำสั่งที่ให้มีการจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ย้อนหลังก็ไม่ได้ไปถึงวันที่มีการติดตั้งระบบ อีกทั้งเป็นกรณีการจ่ายค่าตอบแทนจากการจำหน่ายบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตัวแทนที่ ขสมก. แต่งตั้งเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนแบ่งให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงขอให้ กสม. พิจารณารายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 อีกครั้ง
กสม. ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เครื่อง EDC ไม่สามารถแสดงรายได้เป็นรายวันเพื่อมาคำนวณเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กับพนักงานประจำรายวันได้ จึงทำให้พนักงานรายวันไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ในกรณีที่ผู้โดยสารชำระค่าโดยสารด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะแตกต่างจากพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ประสบปัญหาในการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ผ่านเครื่อง EDC ตามระบบเงินเดือน
จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอให้พิจารณาใหม่นี้ ถือเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 115/2564 เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ดังนั้น จึงมีเหตุอันสมควรให้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบใหม่ในประเด็นข้อเท็จจริงว่า ขสมก. ได้จ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้จากบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่พนักงานประจำรายวันหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาทบทวนใหม่ว่า ขสมก. ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพนักงานประจำรายวันของ ขสมก. ด้วยการลดสิทธิประโยชน์และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรือไม่ ต่อไป
“กรณีนี้ ทราบจากผู้ร้องที่สองซึ่งเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารว่า ผู้ร้องที่หนึ่งซึ่งเป็นพนักงานขับรถได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยก่อนเสียชีวิตก็ได้ฝากฝังให้ผู้ร้องที่สองต่อสู้เรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อสิทธิประโยชน์ของเพื่อนพนักงานโดยรวม ซึ่ง กสม. ก็ได้มีมติพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เพื่อให้สิทธิแรงงานของพนักงานหน่วยงานรัฐแห่งนี้ได้รับการคุ้มครอง” นายชนินทร์ กล่าว