ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาคที่ 3 จับกุมเรือประมงอินโดนีเซียรุกล้ำน่านน้ำไทย ได้ของกลางเป็นเรือประมง 1ลำ พร้อมลูกเรือ 15 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 น.อ.ณฐพงศ์ เศวตรักต ผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) พร้อมด้วย น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน โฆษก ศรชล ภาค 3 ผู้แทนตำรวจน้ำ ผู้แทนประมงจังหวัดภูเก็ต และนายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย พร้อมไต๋ก๋งและลุกเรือรวม 11 คน ซึ่งลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ระยะห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 45 ไมล์ทะเล
น.อ.ณฐพงศ์ เศวตรักต ผู้บังคับหมวดเรือเฉพาะกิจ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.ร.ท.สมพงษ์ นาคทอง ผอ.ศรชล.ภาค 3 สั่งการให้หมวดเรือเฉพาะกิจ ศรชล.ภาค 3 จัดกำลังทางเรือออกปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมาย หลังได้รับแจ้งจากเครือข่ายประมงว่า พบกลุ่มเรือประมงต่างชาติ กำลังลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทยบริเวณ แลตติจูด 7 องศา 41 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ลองติจูด 97 องศา 38 ลิปดา 59 ฟิลิปดา หรือประมาณ 45 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต โดยหมวดเรือเฉพาะกิจได้นำเรือหลวงแหลมสิงห์ออกปฏิบัติการในทันที จนกระทั่งช่วงค่ำของวันดังกล่าวได้ตรวจพบกลุ่มเรือประมงต่างชาติทำการประมงในน่านน้ำไทย และสามารถจับกุมได้ 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 11คน ส่วนเรือที่เหลือได้หนีออกจากน่านน้ำไทยไปทางทิศตะวันตก
ขณะที่ น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน โฆษก ศรชล ภาค 3 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับเรือประมงที่จับได้มีขนาดยาวประมาณ 60 ฟุต มีลูกเรือเป็นชาวอินโดนีเซีย จำนวน 11 นาย โดยเรือหลวงแหลมสิงห์ได้นำเรือประมงที่จับได้พร้อมลูกเรือเข้าฝั่งบริเวณหลักจอดเรือตำรวจน้ำภูเก็ต ท่าเรือรัษฎา และนำลูกเรือทั้งหมดส่งพนักงานสอวน สภ. ฉลอง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับสถิติการรับแจ้งว่ามีเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย ต่างชาติ ลักลอบเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทย ในแต่และปีนั้น ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งมากกว่า 10 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาลักลอบขโมยอุปกรณ์ดักจับปลาของเรือประมงไทยที่วางดักปลาไว้ เมื่อทาง ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งจะนำเรือออกไปจับกุม แต่เรือเหล่านั้นก็หนีออกไปยังน่านน้ำอินโดนีเซียไม่สามารถจับกุมได้ทัน สร้างความเสียหายให้กับชาวประมงไทยอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ในปี 2564 มีการจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำประเทศไทยจำนวน 1 ครั้ง ปัจจุบันผู้ต้องหายังคงถูกจำขังอยู่ในประเทศไทย ส่วนของกลาง (เรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย) ยังคงจอดเก็บไว้ที่ท่าเรือรัษฎา และในปี 2565 จับแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 จับได้ 2 ลำ ได้แก่ เรือประมงชนิดวางเบ็ดราว ยาว 20 ฟุต พร้อมลูกเรือ 6 คน กับเรือประมงชนิดอวนล้อมจับและปั่นไฟ ตัวเรือสีขาว เก๋งเรือสีส้ม ขนาดกว้าง 3.2 เมตร ยาว 13.05 เมตร ขนาดเรือน้อยกว่า 25 ตันกรอส พร้อมลูกเรือ 5 คน และปลาโฮ 5 กิโลกรัม ขณะกำลังทำการประมงในน่านน้ำประเทศไทย ที่ระยะประมาณ 38.5 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของเกาะภูเก็ต ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ได้ตรวจสอบพบเรือประมงอินโดนีเซียกำลังลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย บริเวณแนวชายแดนทางทะเลไทย-อินโดนีเซีย ทางทิศตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล จำนวน 3 ลำ เป็นเรือวางเบ็ดราว มีตัวเรือมีความยาวประมาณ 20 ฟุต โดยจับกุมได้ 1 ลำ พร้อมด้วยผู้ต้องหาอีก 6 คน ส่วนที่เหลืออีก 2 ลำ ได้ปิดไฟบนเรือเพื่อทำการอำพลางเรือของตนเองและได้เร่งเครื่องยนต์ทำการหลบหนีเข้าไปในเขตน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 จับกุมเรือได้ 1 ลำ พร้อมลูกเรือ 11คน
ในส่วนของความเสียหายและผลกระทบ นั้นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลถูกแย่งชิง ทำให้มีจำนวนลดลง ในบางครั้ง มีการทำลายเครื่องมือทำการประมง (ซั้งและลอบดักปลา) ของชาวประมงไทย สร้างความเสียหาย ต่ออุปกรณ์โดยตรง ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นมีมูลค่าประมาณ 40,000 บาท