'หมอธีระ' เผยทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีการใช้ชีวิต แต่ผู้เสียชีวิตในประเทศที่ได้รับวัคซีนมาก มีจำนวนน้อยกว่า ขณะที่ไทยผลบวก ATK ยังสูงเป็นอับดับ 1 ของอาเซียน ยกงานวิจัยอเมริกา แนะรัฐกระตุ้นเตือนประชาชนเรื่องการระบาดของโควิดที่ยังคุกคาม-อันตรายอยู่ ให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงสถานการณ์โควิดว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 431,961 คน ตายเพิ่ม 6,978 คน รวมแล้วติดไปรวม 251,510,421 คน เสียชีวิตรวม 5,078,636 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมัน และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 95.16% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.78%
หากดูแค่ทวีปยุโรป จะพบว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นคิดเป็น 58.66% ของทั้งโลก และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มนั้นคิดเป็น 57% ของทั้งโลก
ดูการกระจายของเคสติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นพบว่าเป็นกันถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะประเทศที่ได้วัคซีนมากหรือน้อยก็ตาม แนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้นนั้นน่าจะมาจากเรื่องการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน และการเปิดเสรีการใช้ชีวิต การเดินทาง ท่องเที่ยว พบปะกันมากขึ้น
ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตนั้น ชัดเจนว่าประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนครบมากจะมีจำนวนการเสียชีวิตน้อยกว่า ปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนครบโดสจึงน่าจะมีความสำคัญสูงที่จะส่งผลต่อเรื่องการเสียชีวิต
ดังนั้นการเปิดประเทศ เปิดท่องเที่ยว เดินทางพบปะกันของแต่ละประเทศนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญยิ่งนัก หากสัดส่วนประชากรที่ได้วัคซีนครบอยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงของการป่วยและเสียชีวิตย่อมมีสูง ถ้าไปเปิดในช่วงที่ยังไม่พร้อมหรือพร้อมน้อยกว่าเค้า การป้องกันตัวของประชาชนแต่ละคนจึงต้องเน้นย้ำให้เคร่งครัดมากๆ
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 6,904 คน สูงเป็นอันดับ 19 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,497 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก และยอดที่รวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
อัพเดตงานวิจัย
-
ทีมวิจัยจากเดนมาร์กศึกษาไวรัสโควิด สายพันธุ์เดลตาที่กลายพันธุ์ AY.4.2 พบว่าไม่ได้ดื้อต่อระดับภูมิคุ้มกันมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดลตาเดิม
-
การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมในการป้องกันการติดเชื้อ ของทีมวิจัยของอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่คนเรานั้นจะมีความเชื่อว่าตนเองจะสามารถป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเพื่อจะได้ไม่ติดเชื้อโควิด (self-efficacy) ได้นั้นมีปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ การที่เค้าต้องรับรู้และตระหนักว่าโควิดนั้นยังคุกคามหรืออันตราย (perceived threat), การทำให้เค้ามีความเชื่อมั่นในแหล่งข้อมูลวิชาการ, และการที่มีกฎระเบียบที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น การกำหนดให้ใส่หน้ากาก เป็นต้น
ดังนั้นในยามที่สังคมไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จึงต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การสร้างความเชื่อมั่นในข้อมูลความรู้วิชาการที่พิสูจน์ได้ เข้าถึงได้ และชัดเจน รวมถึงการที่ต้องช่วยกันทั้งรัฐ และเอกชน ในการกำหนดระเบียบปฏิบัติที่จำเป็น เช่น การใส่หน้ากาก และเว้นระยะห่าง นี่คือสิ่งสำคัญ ด้วยรักและห่วงใย
อ้างอิง
-
Lassauniere R et al. Neutralisation of SARS-CoV-2 Delta sub-lineage AY.4.2 and B.1.617.2+E484K by BNT162b2 mRNA vaccine-elicited sera. medRxiv. 9 November 2021
-
Hamerman EJ et al. Generalized self-efficacy and compliance with health behaviours related to COVID-19 in the US. Psychol Health. 2021 Nov 8;1-18.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage