เหตุการณ์ “ปิดเมืองโก-ลก” ระดมโจมตีทุกรูปแบบ เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ไฟใต้ที่ต้องบันทึกเอาไว้
เพราะจังหวะเวลาของการเกิดเรื่อง อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของหลายความเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์
หลักๆ คือ ความไม่ชัดเจนของการเดินหน้าโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้ พร้อมๆ กับข่าวลือเรื่องหัวหน้าคณะพูดคุยคนใหม่, การทบทวนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาปลายด้ามขวานที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ มีการพูดถึงนโยบาย 66/23 แต่ก็ยังไม่ขยายความต่อ
รวมไปถึงการลงพื้นที่ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พร้อมเอ่ยคำว่า “ขออภัย” โดยสื่อสารถึงประวัติศาสตร์บาดแผลตากใบ และการแก้ไขปัญหาไฟใต้ในภาพรวม ซึ่งผ่าน 2 ทศวรรษแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ
โดยรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯทักษิณ เข้ามามีอำนาจบริหารในห้วง 21 ปีนี้ถึง 5 รัฐบาล 4 นายกฯ
ล่าสุดกับเหตุการณ์ “ปิดเมืองโก-ลก” กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมอาวุธสงครามครบมือนับสิบคน ใช้รถกระบะเป็นพาหนะ บุกโจมตีเจ้าหน้าที่ อส. ประจำป้อมรักษาการหน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 8 มี.ค.68
ทั้งยังนำรถยนต์ที่ประกอบระเบิดเป็นคาร์บอมบ์เข้าไปจอดในบริเวณที่ว่าการอำเภอ เพื่อก่อเหตุระเบิดซ้ำ จนทำให้เจ้าหน้าที่ อส.เสียชีวิต 2 นาย และมีผู้บาดเจ็บอีก 10 กว่าราย
เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นับเป็นคาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 68
แม้ว่าในช่วงเดือน ก.พ.68 ที่ผ่านมา จะเกิดเหตุระเบิดขึ้นกับรถยนต์ถึง 5 เหตุการณ์ คือ
-ระเบิดรถยนต์กระบะของตำรวจ สภ.ศรีสาคร (4 ก.พ.68)
-ระเบิดรถยนต์เก๋งของปลัดอำเภอยี่งอ (4 ก.พ.68)
-ระเบิดรถกระเช้าในที่จอดรถเทศบาลตำบลรือเสาะ (6 ก.พ.68)
-ระเบิดรถยนต์กระบะของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงท่าอากาศยานนราธิวาส ( 23 ก.พ.68)
-เจอระเบิดติดมากับรถดับเพลิงเทศบาลตำบลต้นไทร (27 ก.พ.68)
ทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นราธิวาส แต่ทั้งหมดก็เป็นลักษณะของการ “ลักลอบติดระเบิดขนาดเล็ก” กับตัวรถของเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการต่างๆ ในทางทฤษฎีเรียก “บอมบ์ อิน คาร์” ไม่ใช่การนำรถทั้งคันไปประกอบระเบิดเป็น “คาร์บอมบ์” แล้วนำไปก่อเหตุ
การลักลอบติดระเบิดขนาดเล็กมากับรถยนต์ทั้ง 5 ครั้งที่เกิดขึ้นนั้น พบว่า เป็นระเบิดอานุภาพต่ำ แม้จะทำให้เกิดเสียงดัง แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเหมือนรถที่ถูกนำไปประกอบเป็นระเบิดในแบบที่เรียกว่า “คาร์บอมบ์” จึงไม่ได้ถูกนับรวมเป็นระเบิดในรูปแบบของ “คาร์บอมบ์”
จากการรวบรวมสถิติคาร์บอมบ์ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อช่วงต้นปี 2547 พบว่า คาร์บอมบ์ลูกแรกเกิดขึ้นในปี 2548 และนับต่อมาจนถึงครั้งล่าสุด (คาร์บอมบ์ที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ) นับรวมได้ทั้งหมด 66 ครั้ง แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.นราธิวาส เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 27 ครั้ง
จ.ยะลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 15 ครั้ง
จ.ปัตตานี เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 19 ครั้ง
ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งยังมีเหตุคาร์บอมบ์นอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ครั้ง คือ ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2558 ซึ่งเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน