ไฟใต้ที่ลุกโชนในห้วงเดือนแห่งการถือศีลอด ตอกหน้าแคมเปญ “รอมฎอนสู่สันติสุข” ของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทย…
หลายฝ่ายคาดการณ์เชิงฟันธงว่า นี่คือการสร้างแรงกดดันเพื่อเร่งเร้าให้รัฐบาลไทยรีบเปิด “โต๊ะพูดคุย” รอบใหม่ โดยจะมีคำสร้อยห้อยท้ายว่า “สันติภาพ” หรือ “สันติสุข” ก็ไม่ติด
เพราะ “โต๊ะพูดคุย” ถูกแช่แข็งมานานข้ามปี หลังมีกระแสคัดค้าน JCPP หรือ แผนปฏิบัติร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม ซึ่งคณะพูดคุยฯชุดเดิมของฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย เลขาธิการ สมช. นายฉัตรชัย บางชวด ไปรับหลักการเอาไว้กับคณะพูดคุยฯของ BRN
การก่อเหตุรุนแรงปรากฏถี่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่นั้น และเร่งเครื่องมากขึ้นในห้วงเดือนแห่งสัญลักษณ์ ขณะที่ทางการไทยมีการขยับเตรียมตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ มีชื่ออดีตนายทหารซึ่งเคยร่วมโต๊ะเจรจากับ BRN มาแล้วเมื่อปี 2556 เป็นหัวหน้า
สอดรับกับกระแสเรียกร้องของบางฝ่าย บางองค์กร ไม่เว้นแม้แต่สภาผู้แทนราษฎรในสภา ให้รัฐบาลเร่งเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาเป็นการด่วน เพื่อลดเหตุรุนแรง และสถาปนาสันติสุข สันติภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ทุกความเคลื่อนไหวเหมือนผสมผสาน ประเดประดัง คล้าย “ขนมผสมน้ำยา” จนทำให้เกิดทฤษฎีว่า ยิ่งเปิดเจรจาเร็วเท่าไร สันติภาพจะเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น
แต่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง สะบัดปากกาเขียนบทความอย่างตรงไปตรงมาอีกชิ้นหนึ่ง กระตุกเตือนรัฐบาลว่า “อย่าติดกับดัก BRN” เพราะโดยทฤษฎีก่อการร้ายทั่วโลก การเจรจาคือเครื่องมือเอาชนะทางการเมือง ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายใช้เดินควบคู่ไปกับปฏิบัติการทางทหาร
อาจารย์สุรชาติใช้คำแรงและตรงว่า “คุยไป-ฆ่าไป/ฆ่าไป-คุยไป”
นำมาสู่บทความร้อนๆ ที่อธิบายความเป็นมาและเป็นของสถานการณ์ไฟใต้ กับทางออกที่น่าจะไม่ใช่การเร่งรีบเปิดโต๊ะเจรจา
@@ การเจรจาไม่ใช่ “ทุ่งลาเวนเดอร์” !
สถานการณ์การก่อการร้ายของกลุ่ม BRN มีแนวโน้มขยายตัวทั้งปริมาณการก่อเหตุ และความรุนแรงของการก่อการร้าย
โดยเฉพาะเหตุระเบิดใหญ่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และตามมาด้วยการซุ่มยิงและวางระเบิดในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เป็น “เสียงนาฬิกาปลุก” ที่ดังชัดเจน เพื่อบอกว่ารัฐบาลควร “ตื่นจากภวังค์” ได้แล้ว เพราะรัฐบาลนี้ในช่วงที่ผ่านมาดูจะไม่ให้น้ำหนักกับงานความมั่นคงเท่าที่ควร
ว่าที่จริง สถานการณ์ก่อการร้ายของ BRN ก่อนวันที่ 8 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการก่อเหตุที่กระทำคู่ขนานกับข้อเรียกร้องของกลุ่มให้ “เปิดโต๊ะเจรจา” ปัญหาภาคใต้ เสียงเรียกร้องนี้ประสานเข้ากับนักการเมืองบางคน และองค์กรแนวร่วมบางส่วน ภายใต้เข็มมุ่งหลักคือ “คุยไป-ฆ่าไป/ฆ่าไป-คุยไป”
การเรียกร้องเช่นนี้อาจต้องพิจารณาว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกังวลของผู้นำ BRN อันเป็นผลจากการตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นที่ปรึกษาของประธานอาเซียนในวาระปัจจุบันคือ นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซียนั้น การแต่งตั้งเช่นนี้อาจจะทำให้รัฐบาลไทยไม่สนใจการเจรจา และหันไปร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียมากขึ้น เนื่องจากกลุ่ม BRN แฝงตัวและได้รับความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือของมาเลเซีย ที่เป็นพื้นที่หรือเขตอิทธิพลของพรรคปาส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย
การเร่งขยายการก่อการร้ายของกลุ่ม BRN จึงเป็นการส่งสัญญาณว่า
1) รัฐบาลไทยจะต้องไม่ลืมพวกเขาด้วยการเปิดการเจรจา และ
2) เพื่อแสดงให้เห็นว่า พวกเขายังมีศักยภาพในการก่อความรุนแรงได้เสมอ
ฉะนั้น แม้การเจรจาระหว่างอดีตนายกฯ ทักษิณ กับนายกฯ อันวาร์ จะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม พวกเขาก็จะก่อเหตุรุนแรงต่อไป เพราะมีพื้นที่ที่เป็น “ฐานที่มั่น” ที่ชัดเจนอยู่ในอีกฝั่งของเส้นพรมแดนของรัฐไทย หรือที่ในภาษาทหารเรียกพื้นที่ของกลุ่ม BRN ในลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น “พื้นที่ส่วนหลัง” (rear area) ที่ใช้เป็นที่หลบซ่อน และพักพิง โดยจะไม่ถูกแตะต้องโดยอำนาจรัฐไทย (ไม่ต่างจากทั้งจีนและอินโดจีนเคยเป็นพื้นที่ส่วนหลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุคสงครามเย็นนั่นเอง)
ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการก่อการร้ายทุกขบวนมีทั้ง “ปีกการเมือง” และ “ปีกการทหาร” ซึ่งปีกการทหารมีความเชื่อแบบด้านเดียวตามทฤษฎีสงครามของประธานเหมาเจ๋อตุง คือ “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” ดังนั้นสำหรับปีกนี้แล้ว การก่อการร้ายและการสร้างเหตุรุนแรงจึงเป็นทิศทางหลัก
แต่หากปีกการเมืองอยาก “พูดคุย” กับรัฐไทย ก็เป็นความหวังว่า การพูดคุยกับฝ่ายรัฐจะเป็นปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อปฏิบัติการของ BRN ในภาพรวม เพราะการพูดคุยในความหมายของการเจรจานั้น เป็นรูปแบบการต่อสู้ส่วนหนึ่งในกระบวนการการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเมือง ตัวอย่างเช่นการเจรจาในสงครามกาซ่าปัจจุบัน
ดังนั้น จึงอาจกล่าวในทฤษฎีการสงครามได้ว่า การเจรจาคือ “สงครามการเมือง” ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง เพราะวัตถุประสงค์ของการเจรจาของขบวนติดอาวุธที่ดำเนินการต่อต้านรัฐนั้น มีความชัดเจนในตัวเองเสมอ คือ “การเอาชนะฝ่ายรัฐบนเงื่อนไขของข้อตกลงทางการเมือง” ไม่ใช่การเจรจาเพื่อยุติการก่อเหตุร้ายอย่างที่ฝ่ายรัฐต้องการ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การเจรจาคือ “การสร้างความได้เปรียบทางการเมือง” ที่ฝ่ายรัฐจะถูกกดดันให้ต้องยอมรับเงื่อนไขของขบวนติดอาวุธ ซึ่งก็คือ “ความพ่ายแพ้ทางการเมือง” และความพ่ายแพ้เช่นนี้ เป็นปัจจัยชี้ขาดการสงครามมากกว่าความพ่ายแพ้ทางการทหาร (บรรดาอดีต “คนเดือนตุลา” ต้องเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เพราะนี่เป็นหลักการพื้นฐานของทฤษฎีการสงครามของประธานเหมาเจ๋อตุง ที่เคยอ่านกันในยุคนั้น)
แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐทั้งในบริบทขององค์กรอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือตัวบุคคลที่มีตำแหน่งในรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบด้านความมั่นคง ตลอดรวมถึงคณะบุคคลที่ถูก “อุปโลกน์” ให้ขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบงานภาคใต้ จนถึงขั้นมีการเปิดเวทีที่ตั้งชื่ออย่างหรูว่า “แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุข” ที่จัดขึ้นในต้นเดือนมีนาคม ในโรงแรมที่กรุงเทพฯ นั้น น่าจะเชื่อไปในทิศทางที่ว่า การพูดคุยกับ BRN จะเป็นการยุติความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สิ่งที่เกิดกลับสวนทาง และเห็นถึงการขยายการก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องของ BRN
อยากขอฝาก สมช. ว่า เลิกใช้คำว่า “ความเป็นเลิศ” ได้แล้ว เพราะในมหาวิทยาลัยเลิกใช้คำนี้ไปนานมากแล้ว เนื่องจากเป็นภาษาที่เชยและไม่มีความหมายอะไร!
และความเป็นเลิศของแนวทางการปฏิบัติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เมื่อที่ประชุมในวันนั้นเริ่มต้นยอมรับ “JCPP” (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ซึ่งคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยชุดก่อนหน้านี้ ตกลงร่วมกับคณะพูดคุยฯฝ่าย BRN) อันเป็นกรอบการปฏิบัติที่สร้างความได้เปรียบแก่กลุ่ม BRN แต่คณะผู้เจรจาชุดเดิมดำเนินการภายใต้แนวคิด “เรายอมโจร แล้วโจรจะยอมเรา”
ฝ่ายการเมืองอาจต้องตระหนักและทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อไม่ทำให้การตั้ง “คณะพูดคุย” และการเจรจาที่จะเกิดในอนาคต กลายเป็นการพารัฐไทยเดินเข้าสู่ “กับดัก” ทางการเมืองของ BRN ด้วยความคาดหวังในแบบ “เรายอมโจรแล้ว โจรจะเห็นใจยอมเรา”
… ถ้าแนวคิดอย่างนี้เป็นจริง สงครามในยูเครนสงบไปนานแล้ว เพราะต่อให้ยูเครนยอมรัสเซียมากเท่าใด รัสเซียก็ไม่ยุติปฏิบัติการโจมตีทางทหาร
อีกทั้งผลที่เกิดจากปฏิบัติการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ได้ทำลายสมมติฐานเช่นนั้นของฝ่ายรัฐไปแล้ว และสะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อเช่นนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า “ความอ่อนหัด” ทางการเมืองของรัฐบาล (และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง)
พวกเขาอาจคาดหวังว่า การเจรจาจะเป็นเครื่องมือในการยุติความรุนแรง แต่ในความเป็นจริง BRN กำลังใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการบังคับให้รัฐต้องเจรจากับพวกเขา และในอีกด้านก็เป็นความรุนแรงที่กำลังบั่นทอนความน่าเชื่อถือทางด้านความมั่นคงของรัฐบาล ทั้งยังสะท้อนให้เห็นอาการ “หมดสภาพ” ของหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกับสถานะของกองทัพภาคที่ 4
ดังนั้น ถ้าวันนี้มีการตั้ง “หัวหน้าคณะพูดคุยฯ” และเตรียมเปิด “โต๊ะเจรจา” แล้ว ก็จะเป็นคำตอบในตัวเองถึง “ความอ่อนแอด้านความมั่นคง” ของฝ่ายรัฐ เพราะการตั้งเช่นนี้จะทำให้ถูกมองในเชิงภาพลักษณ์ว่า เกิดจากการกดดันด้วยการก่อการร้ายของกลุ่ม BRN อันมีนัยเท่ากับฝ่ายรัฐ “แพ้การเมือง” ตั้งแต่ยังไม่เจรจา
วันนี้ รัฐบาล สมช. และคณะบุคคลที่ถูกอุปโลกน์กันขึ้นมานั้น ควรต้องตระหนักว่า รัฐไทยไม่ได้เจรจากับกลุ่มติดอาวุธ BRN บน “ทุ่งลาเวนเดอร์” แต่เป็นการเจรจาอยู่บนสนามรบ ที่มีชีวิตของพี่น้องประชาชน และชีวิตเจ้าหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเดิมพัน…
อยากขอให้รัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้องเลิก “ฝันหวาน” และมองความเป็นจริงกับการก่อการร้ายและก่อความไม่สงบของ BRN ให้มากขึ้น เพื่อแสวงหาหนทางในการแก้ปัญหาที่อาจจะไม่จำเป็นต้อง “เป็นเลิศ” อย่างชื่อเวทีเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ แต่เป็นหนทางที่มียุทธศาสตร์และทิศทางกำกับ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง
——————————
หมายเหตุผู้เขียน: ผมไม่เคยปฏิเสธการเจรจาเพื่อแสวงหาลู่ทางในการสร้างความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทฤษฎียุทธศาสตร์สอนเสมอว่า การเจรจาที่เริ่มจากความอ่อนแอ และไร้ทิศทางที่ชัดเจนนั้น คือ ความพ่ายแพ้ที่ไม่น่าให้อภัย เพราะเงื่อนไขเช่นนั้นเป็นความพ่ายแพ้ในตัวเองตั้งแต่ก่อนการเจรจาจะเริ่มต้นเสียอีก โดยเฉพาะการเริ่มต้นยอมรับ JCPP แทนที่ฝ่ายการเมืองของรัฐบาลปัจจุบันจะกำหนด “กรอบใหม่” เพื่อพารัฐไทยออกจาก “กับดัก BRN” !