ประเด็นส่งกลับ “อุยกูร์” 40 ชีวิต กลายเป็นกระแสร้อนรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเกิดขึ้นวันเดียวกับที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอกพอดี
เรื่องนี้ทำท่าไม่จบง่าย แต่มีแนวโน้มบานปลาย เพราะมหาอำนาจฝั่งตะวันตกออกมาเคลื่อนไหว
ฟังข้อมูลจากอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเคยแก้ปัญหาอุยกูร์มาแล้วด้วย ก็จะพบว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนจริงๆ และไทยเหมือนยืนอยู่ระหว่างเขาควาย การตัดสินใจจึงต้องรอบคอบสุดๆ
คำถามคือการตัดสินใจส่งกลับ ได้คิดอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง บวกกับมาตรการที่นำมาใช้เหมาะสมแค่ไหน
อดีตบิ๊ก สตม.รายนี้ เล่าว่า สมัยหนึ่ง “อุยกูร์” กับ “โรฮิงญา” ลอบเข้าไทยมาเยอะ เป็นปัญหาคล้ายๆ กัน คือจับกุมได้ แต่ส่งกลับไม่ได้
กรณี “อุยกูร์” ต้องการเดินทางผ่านไทยไปมาเลเซีย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศตุรกี ซึ่งมีเครือข่ายรองรับอยู่แล้ว ทั้งชาวอุยกูร์เอง และกลุ่มชาวเติร์กที่สนับสนุน โดยที่มาเลเซียก็มีคนรอรับ เพื่อส่งต่อไปยังตุรกี
แต่ปัญหาของไทย คือ กฎหมายคนเข้าเมือง (พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) เขียนเอาไว้ว่า ถ้าพบคนหลบหนีเข้าเมือง เมื่อจับกุมได้ต้องส่งกลับประเทศต้นทางที่ตนเองมีสัญชาติ ซึ่งกรณีของ “อุยกูร์” ก็ต้องส่งกลับจีน เพราะทุกคนมีหนังสือเดินทางของจีน
แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาไม่ยินยอม ทั้งยูเอ็น ชาติมหาอำนาจไม่ยินยอม อ้างว่าส่งกลับไปจะเป็นอันตราย ถูกลงโทษหนักถึงแก่ชีวิต และขู่จะคว่ำบาตร เพราะชาวอุยกูร์ขัดแย้งกับรัฐบาลจีน
ขณะที่ไทยจะส่งชาวอุยกูร์ต่อไปยังตุรกีตามที่คนเหล่านี้ต้องการก็ไม่ได้ เพราะจีนไม่ยอม เกรงว่าจะไปฝึกอาวุธ ฝึกการก่อการร้าย แล้ววนกลับไปก่อเหตุในจีน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยจับกุมได้หลายครั้ง ไทยจึงเหมือนอยู่หว่างกลางเขาควาย
ฉะนั้นการส่งกลับตามกฎหมายไทย จึงต้องเป็นความลับทุกครั้ง เพราะถ้าไม่ส่งกลับ ก็จะถูกขังลืม และเสียชีวิตในห้องกัก ตายในห้องกัก กลายเป็นการทรมานมากกว่า และคนเหล่านี้กระทำผิดด้วยโทษเพียงเล็กน้อย คือ หลบหนีเข้าเมือง
“ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยทำอะไรไม่ได้ ต้องรับภาระ และควบคุมในห้องกักตลอดมา พามาออกกำลังกาย คนเหล่านี้ก็หลบหนี นำตัวไปกักทางภาคใต้ก็ไม่ได้ เพราะพยายามหนีลงใต้อยู่แล้ว เนื่องจากทะลุไปมาเลเซียได้ จึงต้องกระจายไปทางภาคอีสาน”
@@ ยอมรับเคยเป็นชนวนเหตุระเบิดศาลพระพรหมกลางกรุง
อดีตบิ๊ก สตม. ยอมรับว่า การส่งกลับชาวอุยกูร์แบบลับๆ ในอดีต เคยเป็นต้นเหตุของความไม่พอใจ และนำมาสู่การลอบวางระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 มาแล้ว โดยครั้งนั้นส่งกลับไปร้อยกว่าคนทางเครื่องบิน จากนั้นไม่นานก็เกิดระเบิด
ส่วนการส่งกลับครั้งนี้ ทราบว่ามีการยืนยันถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีข้าราชการระดับสูงฝ่ายความมั่นคงของไทยตามไปสังเกตการณ์ด้วย (นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ) รัฐบาลจึงตัดสินใจ มิฉะนั้นก็จะคาราคาซังต่อไป
สำหรับการก่อเหตุในลักษณะ “ก่อการร้าย” ในจีน เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 มีกลุ่มบุคคลก่อเหตุใช้มีดไล่แทงบุคคลอื่น ทำให้มึผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บอีก 5 คน เหตุเกิดในเมืองหนึ่งของมณฑลซินเจียง
@@ เตือนไทยส่งกลับอุยกูร์ เข้าทาง “อเมริกันสายเหยี่ยว”
มีความเห็นในมุมมองจากซีกโลกตะวันตก ผ่านนักวิชาการอิสระของไทยซึ่งใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นั่น อย่าง อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง โดยอาจารย์มองว่ากรณีไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ให้จีนว่า เป็นประเด็นอ่อนไหวหลายมิติ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับสหรัฐ
“ต้องไม่ลืมว่าไทยเพิ่งปรับการประเมิน GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็น 2.5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 2.9% ฉะนั้นหากรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเรื่องอุยกูร์ผิดใจอเมริกา แล้วประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เป็นหนูทดลอง หรือเชือดไก่ให้ลิงดู โดยประกาศขึ้นภาษีศุลกากร 25% ลองจินตนาการว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ดัชนีหุ้นและเงินลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นอย่างไร?” นักวิชาการอิสระจากรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ตั้งคำถาม
อาจารย์กฤษฎา ยังวิเคราะห์เชิงตั้งคำถามว่า
1.เรื่องอุยกูร์ เป็นแผนของจีนที่วางหมากไว้แล้ว เพื่อให้ไทยถูกกดดันจากสหรัฐ จะได้ขยับใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นหรือไม่
2.ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นักการเมืองสายเหยี่ยวของสหรัฐก็ฉวยโอกาสกดดันจีน และได้เครดิตเรื่องสิทธิมนุษยชนจากหลายฝ่ายไปพร้อมกัน
อาจารย์กฤษฎา สรุปว่า ภาพลักษณ์ในปรากฏต่อสาธารณะระหว่างไทยกับจีน คือ เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะของจีน เดินทางเข้า-ออกไทยโดยประสานงานกับไทยอย่างใกล้ชิดในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีของไทยก็ไปเยือนจีน และประกาศเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากโครงการที่จีนลงทุนไว้ในลาว
ทั้งหมดนี้เหมือนมีความสัมพันธ์พิเศษ และมีข้อตกลงลับ แสดงถึงการขาดความเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจในบริบทภูมิรัฐศาสตร์โลกหรือไม่
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การขอความร่วมมือและคำเตือนจากทั้งสองสภาของสหรัฐ คือ สภาสูงและสภาล่าง เรื่องอุยกูร์ กลับถูกรัฐบาลไทยเพิกเฉย อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่มีทางเลือกอื่น อาจมีมาตรการบางเรื่องกับไทย
สอดคล้องกับความเห็นจากนักวิชาการผู้้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของไทย ที่บอกว่า ไทยแสดงบทบาทไปในทางเดียวกับจีนมากเกินไปหรือไม่ เพราะบางเรื่องยึดหลักมนุษยธรรมได้ ไม่ได้เสียหาย แต่กลับเดินไปอีกทาง เรื่องนี้ถือว่าล่อแหลม และมาเกิดในช่วงที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียวพอดี ปัญหานี้สะท้อนว่างานความมั่นคงและต่างประเทศของไทย อ่อนแอมากๆ
@@ “จีน - อุยกูร์” ประวัติศาสตร์บาดแผล ณ อูหลู่มู่ฉี
ปัญหา “อุยกูร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความซับซ้อน เนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติพันธุ์ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอุยกูร์มุสลิมไม่อาจรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้กับชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีน
“อุยกูร์” เป็นเชื้อสายหนึ่งของชาติพันธุ์เติร์ก ซึ่งแผ่อิทธิพลและตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบเอเชียกลางมาตั้งแต่อดีต โดยอุยกูร์กลุ่มใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนที่เป็นมณฑลซินเจียงของจีนในปัจจุบัน คือภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมอันลือลั่นมาแต่ครั้งโบราณกาล
เมืองอูรุมซี หรือ “อูหลู่มู่ฉี” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ เป็นเมืองหน้าด่านบนเส้นทางสายไหม เป็นจุดเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลางและเอเชียใต้ โดยเฉพาะเมื่อจีนควบรวมซินเจียงเข้ามาอยู่ใต้อธิปไตยของตน
ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยนโยบาย “ไม้นวม” คือการยอมให้มณฑลซินเจียง มณฑลใหญ่ที่สุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งมีชาวอุยกูร์เป็นประชากรส่วนใหญ่ สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ / พร้อมให้อิสระในการนับถือศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจ และการเลือกผู้นำของตนเองในระดับหนึ่ง / แต่นโยบายในด้านอื่นๆ ที่ดำเนินควบคู่กันไป ประกอบกับสถานการณ์การก่อการร้ายในระดับโลก ทำให้ดินแดนแห่งนี้ร้อนระอุไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรง
มณฑลซินเจียงมีประชากรราวๆ 19.6 ล้านคน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่คือ ชาวอุยกูร์ซึ่งมีเชื้อสายเติร์ก นับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณ 8.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 รองลงมาคือชาวจีนฮั่นประมาณ 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ลำดับที่สามคือชาวคาซัค ประมาณ 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ที่เหลือเป็นชนชาติอื่น
จริงๆ แล้ว ดินแดนมณฑลซินเจียง มีประวัติศาสตร์บาดแผล เพราะอาณาจักรเดิมของอุยกูร์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ในคริสตวรรษที่ 16 ช่วงนั้นชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี
ความขัดแย้งเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้าครองอำนาจเบ็ดเสร็จในจีน มีความพยายามใช้นโยบายต่างๆ เพื่อจัดการชาวอุยกูร์ในมณฑลแห่งนี้ให้ราบคาบ ทั้งปราบปราม ผสมกลมกลืนโดยสนับสนุนให้ชาวฮั่นเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และพยายามปิดกั้นการนับถือศาสนาและการปฏิบัติศาสนกิจ ก่อนจะมีการปรับนโยบายให้ผ่อนคลายลงในภายหลัง เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่ชาวอุยกูร์พื้นเมืองเพื่อให้ทัดเทียมกับชาวฮั่น รวมทั้งเสรีภาพด้านการใช้ภาษา แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 เคยมีการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ จนรัฐบาลจีนต้องตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม กระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คน และตั้งแต่บัดนั้น ดินแดนแห่งนี้ก็ร้อนระอุมาตลอดกระทั่งถึงปัจจุบัน เคยมีชาวอุยกูร์ถูกจับฐานต้องสงสัยก่อการร้าย / และเคยมีความพยายามก่อเหตุในลักษณะก่อการร้ายหลายครั้งในจีน ซึ่งทางการจีนเพ่งเล็งว่าเป็นฝีมือของชาวอุยกูร์
อ่านประกอบ : ประวัติศาสตร์บาดแผล "อุยกูร์-จีน"