จากเหตุการณ์ระเบิดรถยนต์ภายในลานจอดรถ สภ.ศรีสาคร และบริเวณลานจอดรถที่ว่าการอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อวันที่ 4 ก.พ.68 ที่ผ่านมา
โดยคนร้ายใช้วิธีลอบติดระเบิดไว้ใต้ท้องรถของเจ้าหน้าที่ แล้วรอให้ขับเข้าไปในหน่วยราชการ จอดรถเรียบร้อย จึงจุดระเบิด เพื่อให้เกิดระเบิดในที่ตั้งของส่วนราชการต่างๆ
รูปแบบแผนประทุษกรรมเช่นนี้ ถือเป็นยุทธวิธีเก่าของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคยใช้มาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งต่อมาได้หยุดไป กระทั่งเพิ่งโผล่ถูกนำกลับมาใช้อีกในเหตุการณ์ดังกล่าว
แม้ระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลรุนแรงหรือสร้างความเสียหายอะไรมากมาย เนื่องจากขนาดระเบิดที่เล็ก และมีอานุภาพไม่มากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นการสะท้อนถึงความหละหลวมในมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของส่วนราชการนั้นๆ
หลังเกิดเหตุส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการเฝ้าระวังหน่วยหรือที่ตั้งของส่วนราชการอย่างเข้มงวดขึ้น อย่างที่ จ.ปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งด่วนไปยังหน่วยงานราชการทั้ง 12 อำเภอ ให้เพิ่มความเข้มงวดมาตราการตรวจรถเข้า-ออกสถานที่ราชการทุกคันอย่างละเอียด ทำให้ที่ตั้งของหน่วยงานราชการ เริ่มใช้อุปกรณ์การตรวจใต้ท้องรถ ทั้งกล้องตรวจใต้ท้องรถ หรือกระจกส่องใต้ท้องรถ
ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า อุปกรณ์เหล่านี้ก็มีอยู่แล้วแทบทุกหน่วยราชการ แต่บางหน่วยละเลยจนอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ก็ให้เจ้าหน้าที่ก้มลงตรวจดูใต้ท้องรถแทน
เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาให้ข่าวว่า ยุทธวิธีการก่อเหตุด้วยการผูกหรือติดตั้งระเบิดใต้ท้องรถยนต์ เป็นมุกเก่า ไม่มีอะไรใหม่ และหน่วยราชการมีมาตรการป้องกันเข้มงวดอยู่แล้ว โดยเฉพาะหน่วยทหาร แต่ที่ผ่านมามีบางหน่วยงานที่ไม่ค่อยตกเป็นเป้าหมาย อาจจะหละหลวมไปบ้าง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะเป็นมุกเก่าของกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น
จากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว “ทีมข่าวอิศรา” จึงลงพื้นที่สำรวจเส้นทางเข้าออกเมืองยะลา จำนวน 4 จุด เพื่อตรวจสอบมาตรการเฝ้าระวังระเบิดติดใต้ท้องรถ ว่าเข้มงวดจริงตามที่ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ให้ข่าวหรือไม่
โดยจุดตรวจทั้ง 4 จุด ประกอบด้วย
1.จุดตรวจสะเตง เฝ้าระวังรถที่จะมาจากพื้นที่ อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง
2.จุดตรวจมลายูบางกอก เฝ้าระวังรถที่มาจากพื้นที่ อ.รามัน
3.จุดตรวจท่าสาป เฝ้าระวังรถที่มาจากพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.กาบัง
4.จุดตรวจขุนไว (ตลาดเก่า) เฝ้าระวังรถที่มาจากพื้นที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ผลการลงพื้นที่พบว่า จุดตรวจทั้ง 4 จุดตรวจก่อนเข้าเมืองยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยอาสาในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงตัวบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ โดยจะมีการเน้นหนักไปยังกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมผิดสังเกตุ
ส่วนอุปกรณ์ในการตรวจหาการติดระเบิดมากับใต้ท้องรถที่ผ่านเข้า–ออกจุดตรวจตัวเมืองยะลาทั้ง 4 แห่งนั้น เจ้าหน้าที่มีเพียงอุปกรณ์เป็นกระจกส่องใต้ท้องรถ ไม่ได้มีระบบสแกนใต้ท้องรถเหมือนสถานที่ราชการขนาดใหญ่ อย่างศาลากลางจังหวัดแต่อย่างใด
ส.ต.ท.ปรัชญา มากนคร เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำจุดตรวจด่านท่าสาป กล่าวว่า ด่านตรวจท่าสาปเป็นด่านหลักที่เฝ้าระวังรถเข้าออกเมืองยะลา จึงมีรถยนต์และรถจักรยายนต์ผ่านไปมาจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ประจำด่านจะทำการตรวจสอบรถและบุคคลต้องสงสัยที่เข้าออกอย่างเต็มที่ รวมถึงรถที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน ทั้งรถยนต์และรถจักรยายนต์ รวมถึงบุคคลที่เข้าออกที่น่าสงสัย มีการใส่หมวกกันน็อกปิดบังใบหน้าหรืออำพรางใบหน้าหรือมีพิรุธ
“แม้การตรวจสอบรถหรือรถยนต์ที่เข้า-ออกของด่านนี้ จะไม่ได้มีตัวสแกนใต้ท้องรถ แต่เจ้าหน้าที่มีความเข้มงวดในการสังเกตุและตรวจสอบเป็นพิเศษ ทำให้ที่ผ่านมาตรวจพบและจับกุมการนำเข้า-ออกยาเสพติดได้หลายครั้ง ส่วนวัตถุต้องสงสัยเจ้าหน้าที่ไม่เคยตรวจพบ มีแค่เพียงในส่วนของอวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนที่พบบ่อย” เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจฯ ระบุ
นอกจากนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ยังได้เดินทางไปตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังจุดตรวจทางเข้า-ออกของหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ อย่าง ศาลากลางจังหวัดยะลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ( ศปก.ตร.สน.) ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองยะลา
รวมถึงจุดตรวจทางเข้า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง พ.อ.เกียรติศักดิ์ บอกว่า มีมาตรการเข้มงวดตรวจใต้ท้องรถทุกคัน แตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ
จากการตรวจสอบของทีมข่าว พบว่า การตรวจยานพาหนะเข้า-ออกหน่วยงานราชการขนาดใหญ่เหล่านี้ จะมีระบบสะแกนใต้ท้องรถ หรือ ระบบกล้องตรวจสอบใต้ท้องรถยนต์ ทีเรียกว่า Under Vehicle Surveillance System (UVSS) โดยมีอุปกรณ์กล้องจับภาพหลายตัว เพื่อจับภาพใต้ท้องรถทุกด้าน ทุกมุม มาแสดงผลบนจอมอนิเตอร์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้ง่ายและถี่ถ้วนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ดีกว่าใช้กระจกสะท้อนตรวจใต้ท้องรถ
พ.อ.ปองพล สิทธิเบญจกุล รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า เมื่อมีรถมาถึงจุดตรวจ จะมีการสอบถามข้อมูล และมีการตรวจสอบบัตรเข้า-ออกสำหรับผู้ได้รับอนุญาต หรือเป็นเจ้าหน้าที่ภายในหน่วย ไม่มีการละเลยหรือยกเว้น แต่หากเป็นบุคคลภายนอกก็จะมีการให้แลกบัตร และมีการตรวจใต้ท้องรถ หลังรถ ในฝากระโปรงรถ และภายในห้องโดยสารของรถทุกคันอย่างละเอียด โดยขณะนี้มีการเพิ่มมาตรการตรวจสอบรอบๆ ค่ายสิรินธรอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน
สรุปผลจากการลงพื้นที่ของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าหน่วยราชการแทบทุกแห่งเพิ่มมาตรการป้องกันตนเองจากระเบิดอย่างเข้มงวดมากขึ้นจริง แต่ด่านตรวจประชาชนในพื้นที่สาธารณะทั่วไป ปรากฏว่าอุปกรณ์ยังไม่พร้อมและสมบูรณ์เท่ากับหน่วยราชการ รวมถึงปฏิบัติของคนร้ายซึ่งเป็นคนพื้นที่ รู้เส้นทางหลบหลีกจุดตรวจเป็นอย่างดี
เหล่านี้จะทำให้ประชาชนอุ่นใจได้หรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป