“ผกร. (ผู้ก่อเหตุรุนแรง) ภาคใต้ไม่เคยใช้ปืนเลเซอร์ รถถัง ปืนใหญ่ถล่มค่ายทหาร ทำได้แค่มุกเดิมๆ”
เป็นคำตอบของ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามถึงเหตุรุนแรงถี่ยิบช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.68 ที่คนร้ายใช้กลยุทธ์ผูกหรือแปะระเบิดใต้ท้องรถ และเกิดระเบิดขึ้นขณะนำรถไปจอดในสถานที่ราชการ
เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น 2 ครั้งในวันเดียวกัน คือ วันที่ 4 ก.พ.68
เหตุการณ์แรก เป็นรถกระบะของตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส คนร้ายจุดระเบิดขณะรถจอดอยู่ที่ลานจอดรถหน้าโรงพัก ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย
เหตุการณ์ที่ 2 เป็นรถยนต์เก๋งของปลัดอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส คนร้ายจุดระเบิดขณะรถจอดอยู่ในที่ว่าการอำเภอ จนรถเกิดเพลิงไหม้วอดเกือบทั้งคัน ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายเช่นกัน
จากนั้นวันที่ 6 ก.พ. ยังเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถกระเช้าของเทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส ขณะจอดอยู่ในโรงจอดรถของเทศบาล แรงระเบิดทำให้เพลิงไหม้ และลุกลามไปเผารถกับเรือด้านข้างอีกหลายรายการ
ทั้ง 3 เหตุการณ์เป็นแผนประทุษกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจนคือทำให้เกิดระเบิดในสถานที่ราชการ และ 2 จาก 3 เหตุการณ์ยังใช้วิธีติดระเบิดใต้ท้องรถ ซึ่งแม้จะเคยเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ก็ถือเป็นรูปแบบการก่อเหตุที่รุนแรง น่าหวาดกลัวสำหรับบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย
ด้วยเหตุนี้ ผู้สื่อข่าวจึงนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปถามกับโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้รับคำตอบว่าเหตุการณ์วางระเบิดลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแค่มุกเดิมๆ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงหลังนี้ดูเหมือนพุ่งเป้าไปใช้รูปแบบของการแขวนระเบิดใต้ท้องรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปลัดอำเภอ กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ก่อเหตุแบบนี้ซ้ำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่มีประเภทใช้ปืนเลเซอร์ยิง ไม่มีการยิงมาจากอวกาศ ไม่มีการใช้รถถังหรือปืนใหญ่ถล่มค่าย ไม่มีเลย มุกที่เขาใช้เป็นมุกเดิมๆ แบบเดิมๆ พอเจ้าหน้าที่ไปดักอีกทาง เขาก็ไปทำอีกทาง เป็นการปฏิบัติที่หลบหลีกเจ้าหน้าที่ไปเรื่อยๆ”
เป็นคำอธิบายของ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ซึ่งมารับตำแหน่งโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. รอบ 2 ในปีงบประมาณ 2568 นี้
ผู้สื่อข่าวยังถามถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ หลังมีคนร้ายใช้วิธีผูกระเบิดใต้ท้องรถยนต์ พ.อ.เกียรติศักดิ์ บอกว่า มาตรการที่เป็นการตรวจใต้ท้องรถ หน่วยงานของทหารมีการทำเป็นปกติ และเข้มงวดมาตลอดอยู่แล้ว แต่บางหน่วยอาจจะละเลยมาตรการนี้ไป เช่น ข้าราชการพลเรือนหรือหน่วยที่ไม่ค่อยมีความเสี่ยง ความเข้มข้นก็จะน้อยกว่า และละเลยมาตรการ
“โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ บางทีไม่มีที่จอดรถในบ้าน จะจอดรถไว้นอกบ้าน หรือจอดในที่ไม่มิดชิด ใครก็เข้าได้ ของพวกนี้ สามารถเอาไขควงตัวเดียวถอดออกมาแล้วยัดระเบิดใส่ แล้วก็ปิดกลับ เราก็ไม่รู้แล้ว มันก็เป็นมุกเดิมๆ ที่ทำ”
“วันที่ 6 ก.พ.ก็ทำกับเทศบาล ทั้งๆ ที่เทศบาลก็เป็นหน่วยบริการประชาชน อะไรที่สร้างเหตุการณ์ ทำแล้วเกิดความรุนแรง สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน เขาก็ทำหมด ถามว่าอะไรคืออุดมการณ์ รถกระเช้าทำแล้วได้อะไร แทนที่จะได้ใช้บริการประชาชน ยังไปวางระเบิดเขาอีก” พ.อ.เกียรติศักดิ์ กล่าว
@@ มุกเก่าแต่ป้องกันไม่ได้ ความเชื่อมั่นอยู่ที่ไหน?
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การลอบผูกระเบิดใต้ท้องรถจะเคยเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 22 ครั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่การก่อเหตุครั้งล่าสุดนี้มีนัยที่น่าสนใจ และแตกต่างจากเหตุอื่นๆ ในอดีตพอสมควร
อ่านประกอบ : เปิดสถิติผูกบึ้มใต้ท้องรถปลายด้ามขวานทะลุ 22 ครั้ง!
กล่าวคือ 1.วัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง จุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรล
2.ความหมายก็คือ คนร้ายคือคนที่สั่งให้เกิดระเบิด ซึ่งสามารถจุดระเบิดช่วงที่มีคนอยู่บนรถได้ แต่ไม่ทำ พวกเขาเลือกทำช่วงที่ไม่มีคนอยู่ในรถ และรถจอดอยู่ในสถานที่ราชการแล้ว
3.ความน่ากลัวของการสร้างสถานการณ์รูปแบบนี้ก็คือ คนร้ายก่อเหตุและสร้างความเสียหายที่ไหน เมื่อใด และอย่างไรก็ได้ โดยมีฝ่ายรัฐแทบไม่สามารถป้องกันได้เลย
ฉะนั้นแม้จะเป็นมุกเดิม แต่ป้องกันไม่ได้ ก็น่าคิดต่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไร เพราะหน่วยงานของรัฐเองยังโดนระเบิดสัปดาห์ละ 3 วัน!