สัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.68 ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีระเบิดเกิดขึ้นแทบทุกวัน
เป้าหมายของการโจมตีเป็นสถานที่ราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐชัดเจน
วันอังคารที่ 4 ก.พ. คนร้ายลอบผูกหรือติดระเบิดไว้ใต้ท้องรถกระบะของตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และเกิดระเบิดขึ้นขณะรถจอดอยู่ในลานจอดรถหน้าโรงพัก
วันเดียวกัน คนร้ายยังผูกหรือติดระเบิดไว้ใต้ท้องรถยนต์เก๋งของปลัดอำเภอยี่งอ จ.นราธิวาส และเกิดระเบิดขึ้นขณะรถจอดอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอ ทำให้รถเกิดเพลิงไหม้วอดทั้งคัน
วันพฤหัสบดีที่ 6 ก.พ. คนร้ายลอบติดตั้งระเบิดไว้ใกล้ถังน้ำมันของรถกระเช้าสีส้ม ซึ่งเป็นรถของเทศบาลตำบลรือเสาะ จ.นราธิวาส และเกิดระเบิดขึ้นหลังจากช่างของอู่ซ่อมรถขับรถไปจอดไว้ที่โรงจอดรถของเทศบาล หลังซ่อมรถเสร็จ และนำไปส่งมอบ แรงระเบิดทำให้รถเกิดเพลิงไหม้ ลุกลามสร้างความเสียหายให้กับรถและเรือของเทศบาลอีกหลายรายการ
วันศุกร์ที่ 7 ก.พ. คนร้ายลอบวางระเบิดริมถนนสายปัตตานี-หาดใหญ่ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43) ดักทำร้ายตำรวจชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัย ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บหลายนาย
สถานการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ถูกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ หรือได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก ด้านหนึ่งเป็นเพราะทุกฝ่ายกำลังพุ่งเป้าความสนใจปฏิบัติการตัดไฟฟ้าและท่อน้ำเลี้ยงเมืองคอลเซ็นเตอร์ บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นปัญหาสังคมและอาชญากรรมข้ามชาติที่หนักหนาสาหัสเช่นกัน
ขณะที่เหตุระเบิดในภาคใต้ไม่มีผู้เสียชีวิต และเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปีแล้ว ทำให้ผู้คนเริ่มชาชิน
แต่การพุ่งเป้าระเบิดถึงในสถานที่ราชการ ทั้งโรงพัก ที่ว่าการอำเภอ และเทศบาล รวมถึงตำรวจชุดลาดตระเวนถูกโจมตีได้รับบาดเจ็บกลางถนน ส่งผลทางจิตวิทยาต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนไม่เชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะสามารถคุ้มครองความปลอดภัยและดูแลพื้นที่ให้ปลอดเหตุรุนแรงได้
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ยังเกิดขึ้นในช่วง “สุญญากาศ” ของทิศทางดับไฟใต้ เพราะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงสั่งให้ สมช. หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ และยังไม่มีการตั้ง “คณะพูดคุยสันติสุข” เพื่อเปิดการพูดคุยรอบใหม่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้ยุทธศาสตร์ที่ทบทวนมีความชัดเจนเสียก่อน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล กล่าวเรื่องนี้่เอาไว้ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 เพื่อต่ออายุ ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ข้อสั่งการของรองฯภูมิธรรม สรุปได้แบบนี้
- วิธีการทำงาน ยุทธศาสตร์ในการกำหนดเป้าหมายทั้งหมด และวิธีการทำงานทั้งหมดว่าทำมาถูกต้องและถูกทางแล้วหรือไม่
- ทำไมสถานการณ์เกือบ 20 ปียังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น
- อยากให้ทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ หรือประเมินยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่
- ยังไม่ตั้งคณะพูดคุยฯ จนกว่ายุทธศาสตร์จะมีความชัดเจน
- ขอคำตอบภายในสิ้นเดือน ม.ค. โดยให้ สมช.เป็นแม่งาน
ต่อมา วันที่ 17 ม.ค.68 รองฯภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์เรื่องยุทธศาสตร์ดับไฟใต้อีกครั้ง โดยย้ำว่าช่วงสิ้นเดือน ม.ค.จะมีการพูดคุยหารือกัน
ข้อมูลเพิ่มเติมก็คือ รองฯภูมิธรรม บอกว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก แล้ว ส่วนกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดหลังจากนี้
ต่อมา วันที่ 29 ม.ค.68 รองฯภูมิธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 56 มีการพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง แต่เป็นการพูดคุยกันกว้างๆ ไม่มีรายงานการลงลึกในรายละเอียด
อย่างไรก็ดี ช่วงสิ้นเดือน ม.ค. มีข่าวว่า รองฯภูมิธรรม ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ที่ได้สั่งการไป แต่ยังไม่มีการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุป เพราะมีปัญหาใหม่แทรกเข้ามาคือการตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังเมืองคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมา
@@ ตั้ง “บิ๊กแป๊ะ” เปิดวงรับฟังความเห็นหน่วยปฏิบัติ
กระนั้นก็ตาม มีข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า ในกระบวนการทบทวนและเสนอปรับปรุงยุทธศาสตร์ รองนายกฯภูมิธรรม ได้แต่งตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในงานด้านความมั่นคง ยุครัฐบาลอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน และยังเคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม รู้เรื่องงานภาคใต้เป็นอย่างดี ไปเปิดวงรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การเปิดวงรับฟังความเห็น มีข่าวว่า พล.อ.นิพัทธ์ หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ใช้วิธี “ประชุมวงปิด” แล้วเชิญผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมา ซึ่งเป็นทั้งหน่วยปฏิบัติ และหน่วยบริหาร บูรณาการ เพื่อรับฟังปัญหาอย่างรอบด้าน และเปิดให้พูดแบบไม่ต้องเกรงใจกัน พูดง่ายๆ คือ “ขอความจริง” เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ จะได้แก้ไขปัญหาลุล่วงเสียที
ผู้แทนหน่วยงานที่เข้าประชุม ก็มีทั้ง สมช. สขช. หรือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองทัพภาคที่ 4 กองบัญชาการตำรวจในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายอื่นๆ ครอบคลุมทุกด้าน ทุกภารกิจ
ล่าสุด “บิ๊กแป๊ะ” ได้ประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และจัดทำเป็นรายงานเสนอรองนายกฯภูมิธรรม ไปเรียบร้อยแล้ว
@@ แฉคนทำน้อยกว่าคนสั่ง จ้องตั้งงบดับไฟใต้-หาประโยชน์วันทวีคูณ
มีรายงานว่า คณะทำงานของรองนายกฯ ได้อ่านและตรวจทานรายงานการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานดับไฟใต้แล้ว ถึงขั้นตะลึง เพราะเป็นข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดให้เห็นปัญหามาก่อน เช่น
- คนสั่งมากกว่าคนทำ, มีแต่คนสั่ง ไม่มีคนทำ
- ระดับปฏิบัติสับสน เพราะคนสั่งเยอะ
- มี 40 องค์กรที่มีชื่อลงไปทำงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปจริง มีการเสนอชื่อเพื่อรับสิทธิ์วันทวีคูณ และเบี้ยเสี่ยงภัย
- หลายหน่วยงานพยายามมีส่วนร่วมกับปัญหาไฟใต้ เพื่อตั้งงบประมาณ
- การทำงานขาดการบูรณาการ การเร่งจัดระบบการทำงานอย่างด่วนที่สุด
- ควรจัดระบบงานฝ่ายเราให้เรียบร้อยก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม
- กระบวนการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข คุยแบบเปิดเผยมานาน 12 ปี ไม่มีความคืบหน้าในทางบวกเลย และไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน
- กระบวนการพูดคุยแบบ “เปิดเผย บนโต๊ะ” ไม่เกิดผลด้านบวกต่อสถานการณ์ อาจต้องหาช่องทางพูดคุยทางลับต่อไป
- ต้องมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ชัดเจน และตรงเป้ามากขึ้น
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนความล้มเหลวส่วนหนึ่งของงานความมั่นคง “ดับไฟใต้” ที่แก้ปัญหากันมาอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 21 ปี และวันนี้ต้องทบทวนยุทธศาสตร์กันใหม่!