จิมมี่ คาร์เตอร์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2024
รัฐบาลสหรัฐฯกำหนดให้ลดธงชาติลงครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน
และจัดพิธีไว้อาลัยระดับชาติ ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดยประกาศเป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.2025 ซึ่งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ร่วมกับชาวอเมริกันและคนเป็นจำนวนมากจากทั่วโลกได้เข้าร่วมในพิธีนี้
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศเชิดชูเกียรติประวัติของคาร์เตอร์ว่าเป็น “ผู้เชื่อมั่นในหลักการ ความศรัทธาและความนอบน้อมถ่อมตน”
@@ จิมมี่ คาร์เตอร์ คือใคร?
จิมมี่ คาร์เตอร์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐอเมริกา
เกิดในชนบทที่เมือง เพลนส์ รัฐจอร์เจีย ครอบครัวปลูกถั่วลิสง
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ และรับราชการในกองทัพเรือ
ก่อนจะกลับมายังรัฐจอร์เจียเพื่อบริหารฟาร์มของครอบครัว
เข้าสู่วงการการเมืองในช่วงทศวรรษ 1960 ดำรงตำแหน่งในวุฒิสภาแห่งรัฐจอร์เจีย ก่อนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในปี 1970
และชนะการเลือกตั้งปี 1976 ด้วยความนอบน้อมถ่อมตนและการเป็นสุภาพบุรุษจากรัฐทางใต้ ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกาผิดหวังกับนโยบายสงครามเวียดนามที่สิ้นสุดในปี 1975
ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1977 ถึง 1981
@@ ความสำเร็จที่สำคัญระหว่างเป็นประธานาธิบดี
ข้อตกลงแคมป์เดวิด: คาร์เตอร์เป็นตัวกลางในการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพประวัติศาสตร์ ระหว่างอิสราเอลและอียิปต์ในปี 1978 ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2002
สนธิสัญญาคลองปานามา: เจรจาคืนคลองปานามาให้ประเทศปานามา (1903-1977)
นโยบายด้านพลังงาน: มุ่งเน้นที่การอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก
@@ ความผิดพลาดหรือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงประธานาธิบดี
วิกฤตการณ์ตัวประกันในอิหร่านนาน 444 วัน
เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงและภาวะว่างงาน น้ำมันขาดแคลน
คาร์เตอร์แพ้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งสมัยที่สอง เนื่องจากความนิยมตกต่ำ (คู่แข่งคือเรแกน)
@@ ผลงานโดดเด่นมากกว่าในฐานะอดีตประธานาธิบดี
การอุทิศตนบริการสาธารณะหลังจากออกจากตำแหน่ง ทำให้ได้รับความนิยมความชื่นชมและความเคารพสูงมาก เป็นที่กล่าวขานว่าเป็น “รัฐบุรุษและปูชนียบุคคลในระดับโลก”
ได้ก่อตั้ง The Carter Center ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เน้นเรื่อง “สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและสาธารณสุข”
ทำงานด้านสันติภาพระหว่างประเทศและการแก้ไขข้อขัดแย้ง โดยติดตามการเลือกตั้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั่วโลก
ศูนย์คาร์เตอร์ The Carter Center, Atlanta, Georgia ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและบรรเทาทุกข์ทั่วโลก
โครงการริเริ่มด้านสุขภาพทั่วโลก กำจัดโรคต่างๆ เช่น โรคพยาธิกินี ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อปรสิตที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม
การติดตามการเลือกตั้งในหลายประเทศ เพื่อส่งเสริมกระบวนการที่ยุติธรรมและเป็นประชาธิปไตย
Habitat for Humanity สร้างบ้านให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย
คาร์เตอร์มีความศรัทธาในศาสนาคริสเตียน และเป็นครูสอนไบเบิ้ลในโบสถ์เล็กๆ ที่บ้านเกิด
OO ขอแสดงความไว้อาลัยและซาบซึ้งในพระคุณเป็นการส่วนตัว
อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระชาวไทย ซึ่งพำนักและทำงานอยู่ที่รัฐจอร์เจีย แบ่งปันประสบการณ์ที่มีกับ จิมมี่ คาร์เตอร์
“ผมเองได้มีโอกาสช่วยในพิธีไว้อาลัยที่ศูนย์คาร์เตอร์ The Carter Center ในแอตแลนต้า ในระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม ซึ่งมีประชาชนกว่า 25,000 คน ต่อแถวทั้งกลางวันและกลางคืนเข้าแสดงความไว้อาลัย ก่อนที่หีบศพจะถูกส่งทางเครื่องบิน จากรัฐจอร์เจียซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท่านไปที่กรุงวอชิงตันดีซี
หลายปีติดต่อกันมากว่าหนึ่งทศวรรษ ผมได้ร่วมงานด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกับท่าน และได้รับคำปรึกษาและแนะนำตัวส่วนตัวหลายครั้ง มีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวของท่าน และลูกชายของผมเคยเป็นผู้ช่วยของท่านที่มหาวิทยาลัย Emory University
ครอบครัวของเราซาบซึ้งในเมตตาของท่านเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับไปในอดีตหลังสงครามเวียดนามและวิกฤตผู้อพยพลี้ภัยอินโดจีน ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ของงานด้านมนุษยธรรมระดับโลกและการสนับสนุนผู้ลี้ภัยไว้ ทั้งในขณะดำรงตำแหน่งและหลังจากดำรงตำแหน่ง
ท่านเรียกอเมริกาว่า ‘ประเทศของผู้ลี้ภัย’
และสนับสนุนผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติให้สามารถเอาชีวิตรอด ฟื้นตัว และสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง
นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาแล้วท่านยังกำหนดมาตรฐานใหม่ในความพยายามรักษาสันติภาพและส่งเสริมการดำเนินการทางการทูตที่มีพลวัตในการช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านมนุษยธรรม
ขณะดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ได้ลงนามใน ‘กฎหมายผู้ลี้ภัยปี 1980’ ซึ่งพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายให้การสนับสนุน เพื่อปฏิรูปนโยบายผู้ลี้ภัยใหม่ที่ทันสมัยในสหรัฐฯ
ในปี 1980 เพียงปีเดียว สหรัฐฯ ได้รับผู้ลี้ภัยมากกว่า 207,000 คน
ตั้งแต่นั้นมา สหรัฐอเมริกาได้รับผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 ล้านคน และให้สิทธิ์ลี้ภัยเพิ่มอีกมากกว่า 700,000 คน
หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคาร์เตอร์ยังคงเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมให้กับผู้พลัดถิ่นทุกคน รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย
โดยในปี 2022 คาร์เตอร์ได้กล่าวว่า ‘ประเทศของเราเป็นประภาคารแห่งความหวังสำหรับผู้ที่หลบหนีความรุนแรงหรือการข่มเหงมาช้านาน ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ชาวอเมริกันเปิดใจให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ และสนับสนุนพวกเขาในขณะที่พวกเขาทำงานเพื่อสร้างชีวิตใหม่ในหมู่พวกเรา’
ผมทำงานให้กับองค์การระหว่างประเทศ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ที่ศูนย์อพยพอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในช่วงปี ค.ศ.1980-1984 และมีโอกาสร่วมกิจกรรมต้อนรับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นาง Rosalyn Carter ซึ่งไปเยี่ยมเยือนหาข้อเท็จจริงที่ศูนย์อพยพเขาอีด่าง ในปี ค.ศ.1979 ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลักดันนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และออกกฏหมายประวัติศาสตร์เรื่องผู้ลี้ภัย จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นบรรทัดฐานด้านมนุษยธรรม และมีผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของอินโดจีนและภูมิภาค รวมทั้งผลกระทบในทางบวกต่อประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน”
@@ “ความอ่อนโยนไม่ใช่ความอ่อนแอ ความแข็งกร้าวไม่ใช่ความเข้มแข็ง”
อาจารย์กฤษฎา เผยมุมมองการเมืองสหรัฐในปัจจุบัน ผ่านวิธีคิดและการทำงานในยุค จิมมี่ คาร์เตอร์
“การเมืองในสหรัฐฯปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง จากเสรีนิยมไปสู่อนุรักษ์นิยม
วันที่ 20 มกราคม 2025 เป็นวันแรกแห่งสี่ปีของรัฐบาลทรัมป์ 2 ซึ่งทั่วโลกกำลังหวาดวิตกว่า ‘อเมริกามาก่อน’ จะกระทบกระเทือนกับผลประโยชน์ของแต่ละประเทศอย่างไร
การส่งสัญญาณแข็งกร้าวข่มขู่ของทรัมป์ เรื่อง ‘จะยึดคลองปานามาคืน จะบังคับซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ยั่วเย้าให้แคนาดายอมสละอธิปไตยมารวมเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา จะเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน การแก้แค้นทางการเมืองต่อนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการเตรียมกวาดจับและเนรเทศคนเข้าเมืองหลายล้านคน’
ต่างๆเหล่านี้ สุ่มเสี่ยงต่อการเปราะบางและเสื่อมสลายของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำโลกเสรี และมีอิทธิพลสูงสุดต่อระเบียบโลกและการเมืองระหว่างประเทศมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
หวังอย่างยิ่งว่าพิธีไว้อาลัยในวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ได้แสดงภาพลักษณ์ของเอกภาพ โดยการชุมนุมร่วมกันของนักการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบันของสองพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม และอยู่ท่ามกลางบุคคลสำคัญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานการกุศลต่างๆ ทั่วโลกที่ได้มารวมกันรำลึกถึงคุณงามความดีและการเป็นบุคคลตัวอย่างของความปรองดองและส่งเสริมสันติภาพของจิมมี่ คาร์เตอร์ ที่ปฏิบัติมาโดยสม่ำเสมอใน 100 ปีแห่งชีวิตของท่าน”