ปัญหา “กองกำลังว้าแดง” ล้ำแดนไทย มีความซับซ้อนกว่าที่บางฝ่ายเข้าใจ และกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็น “การเมืองเรื่องชาตินิยม” ที่นักการเมืองเริ่มนำมาปั่นกระแสกันด้วย
“ทีมข่าวอิศรา” พูดคุยกับ รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำวิจัยและลงพื้นที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด
อาจารย์อธิบายเรื่องนี้ ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ทำความรู้จัก “กลุ่มว้าแดง” กันก่อน
@@ “ว้าแดง” คือใคร?
กองกำลังที่เราเรียกว่า “กลุ่มว้าแดง” นั้น แท้จริงแล้ว คือ “กองทัพสหรัฐว้า” ชื่อย่อภาษาอังกฤษ UWSA คนไทยรู้จักกันในฐานะชนกลุ่มน้อยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติดรายใหญ่ในเมียนมา
“กลุ่มชาติพันธุ์ว้า” เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล่มสลาย ว้าจึงจัดตั้งตัวเองเป็น “กองทัพสหรัฐว้า” หรือ United Wa State Army : UWSA
ส่วนคำว่า “ว้าแดง” เป็นคำเรียกขานของสื่อไทย เชื่อมโยงกับความเป็นคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม และใช้เรียกเรื่อยมาในช่วงทำสงครามปราบยาเสพติดยุครัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
กองทัพสหรัฐว้า หรือ UWSA มีฐานที่มั่นในเขตปกครองพิเศษ ติดกับตอนเหนือของรัฐฉาน เมียนมา และติดพรมแดนจีน มีเมืองปางซางเป็นศูนย์กลาง “ว้าเหนือ” ส่วนว้าที่อยู่ในบริเวณเมืองยอง ใกล้กับชายแดนไทยด้าน จ.แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ เรียกกันว่า 171 ถือว่าเป็น “ว้าใต้”
“กลุ่มว้าใต้” เป็นกลุ่มเดียวกับว้าเหนือ บางส่วนเคยมีพื้นที่ปกครองตนเองอยู่แล้ว และการขยายขอบเขตจนมีปัญหาล้ำแดนไทย
@@ จุดเริ่มของปัญหา
ประเด็นเกี่ยวกับกองกำลังว้าเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนของไทย และอาจล้ำแดนเข้ามาบางจุดนั้น มีมานานแล้ว เพราะพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาสมัยก่อน เมื่อครั้งยังเป็นสหภาพพม่า ไทยมีนโยบายเรื่อง “รัฐกันชน” เพราะในพม่ามีปัญหาสู้รบกันเองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยจึงสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม เพื่อถ่วงดุลกับบางกลุ่ม รวมทังพม่า และช่วยปกป้องชายแดนไทยไปในตัวด้วย
เขตอิทธิพลของว้าใต้ปัจจุบัน เคยเป็นเขตอิทธิพลของ “ขุนส่า” ราชาเฮโรอีน ภายหลัง “กองกำลังขุนส่า” วางอาวุธ จึงมีการเข้าไปแย่งชิงพื้นที่ และขยายเขตอิทธิพล โดยกองกำลังว้ามีปัญหากับไทยช่วงรัฐบาลไทยรักไทย อดีตนายกฯทักษิณทำสงครามปราบยาเสพติด แล้วไปกระทบกองกำลังว้าอย่างรุนแรง
@@ ว้าล้ำแดนไทย...ปมใหม่หรือเรื่องเดิม?
ช่าวล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ที่ปะทุขึ้นมาว่า กองกำลังว้าแดงตั้งฐานรุกล้ำอธิปไตยไทย ด้าน อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีความพยายามให้ข่าวเพื่อทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กระทั่งมีการขยับเจรจากัน
ทว่า 18 ธ.ค.67 ซึ่งเป็น “เส้นตาย” หรือ “เดดไลน์” ที่ฝ่ายไทยกำหนดให้ “ว้าแดง” ต้องถอยออกไป แต่ข่าวที่ออกมาทั้งก่อนและในวันดังกล่าว ดูเหมือนจะยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยอ้างผลการหารือระหว่างตัวแทนสองฝ่าย คือ หน่วยในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 กับ กองกำลังว้า อย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ว้าจะรับไปพิจารณา โดยอ้างว่าเส้นเขตแดนไม่ชัดเจน
ส่วนการลำเลียงยาเสพติดผ่านช่องทางนี้ หรือใกล้เคียง กองกำลังว้าอ้างว่าจะเข้มงวดตรวจสอบมากขึ้น และยังโยนว่าการขนยาเสพติดไม่ใช่กลุ่มว้า แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น มูเซอ
อดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงไทย ซึ่งเกาะติดปัญหาเมียนมามานาน และปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานความมั่นคงบางหน่วย ให้ข้อมูลเอาไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ซับซ้อนกว่าเก่าเนื่องจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา และรัฐบาลทหารไม่สามารถคุมพื้นที่ได้เหมือนเมื่อก่อน
หากไล่เรียงไทม์ไลน์ของปัญหา จะพบข้อมูลดังนี้
- มีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อ้างสิทธิ์ระหว่างกันจริง (ที่ใช้คำว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ์” เพราะยังปักปันเขตแดนไม่เรียบร้อย)
- ล้ำเข้ามาราวๆ 300 เมตร
- มีปัญหาชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564
- กองกำลังว้า บริเวณนี้มีความเข้มแข็ง มียุทโธปกรณ์ทันสมัย
- มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องทำผ่านรัฐบาลทหารเมียนมา
- มีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องยาเสพติด และปัญหาเส้นเขตแดนไม่ชัดเจน
นอกจากนั้นปัญหายังซับซ้อนขึ้น เพราะ...
1.การเจรจาทำได้ยาก เนื่องจากหลักการเจรจา ต้องเจรจากับรัฐบาลเมียนมา ในฐานะเจ้าของประเทศ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน เมียนมาคุมว้าไม่ได้ และว้าเป็นรัฐอิสระ
2.ถ้าใช้กำลังกดดัน ไทยอาจเจอปัญหา 2 ด้าน คือ ทั้งว้าและรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวคือ ถ้าไทยยึดพื้นที่ได้ รัฐบาลทหารย่อมไม่ยอมรับ อ้างว่ายังปักปันเขตแดนยังไม่เรียบร้อย ขณะเดียวกันไทยต้องใช้กำลังพลและอาวุธจำนวนมากในการผลักดันกองกำลังว้าซึ่งมีความเข้มแข็ง
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ถ้าไทยยึดพื้นทึ่ถาวรไม่ได้ เพราะกองกำลังว้าเข้มแข็ง จะทำอย่างไร ฉะนั้นจึงต้องประเมินกันให้ดี
3.กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นพันธมิตรกัน และเป็นพันธมิตรกับว้า โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่เปิดปฏิบัติการ 1027 ยึดเมืองสำคัญทางตอนเหนือของรัฐฉานได้สำเร็จ เมื่อปีที่แล้ว
ฉะนั้นหากไทยใช้กำลังกับว้า จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นระแวงไทย และอาจสร้างปัญหาด้านอื่นกับไทยหรือไม่
4.มีทฤษฎีสมคบคิดที่มองว่า ความเคลื่อนไหวเป็นเอกภาพในการต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า อาจมีมหาอำนาจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนอาวุธ ซึ่งถ้าเป็นจริง และไทยมีปัญหากับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารเมียนมา จะทำให้ไทยเจอปัญหาใหญ่
@@ “ทักษิณ” เกี่ยวอย่างไร?
ปัญหา “เมียนมา - ว้าแดง” ที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเพื่อไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ และก็ต้องยอมรับว่า การรับมือกับสถานการณ์นี้ในเบื้องต้น ก็ยังไม่น่าประทับใจ
ความยากเกิดจาก ความรู้สึกของ “คนไทย” ที่เชื่อว่าเราเป็นรัฐเอกราช ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร และเป็น “พี่ใหญ่” ของภูมิภาคแถบนี้ จึงน่าจะกดดันทุกประเทศย่านนี้ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย หรืออย่างน้อยปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว
หนำซ้ำเรื่องเมียนมายังมี อดีตนายกฯทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยโดยบังเอิญ กล่าวคือ
1.ไทยกำลังเป็นโต้โผ แก้ปัญหาความขัดแย้ง และสถาปนาสันติภาพในเมียนมา โดยจัดประชุม 6 ชาติขึ้น
2.มีการตั้งอดีตนายกฯทักษิณ โดยนายกฯมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในหมวก “ประธานอาเซียน” คาดว่าเพื่อให้อดีตนายกฯช่วยเรื่องเมียนมา เนื่องจากต้องขับเคลื่อนฉันมามติ 5 ข้อของอาเซียน เพื่อหยุดความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งประชาคมโลกกังวล และต้องทำให้สำเร็จในปีหน้า ซึ่งรัฐบาลเมียนมาเตรียมจัดการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง
3.อดีตนายกฯทักษิณ เคยพยายามตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพ โดยเชิญแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์มาหารือ แต่สุดท้ายล้มเหลว
ทว่า “การทูตแทร็ก 2” แบบนี้อาจไปเข้าตานายกฯมาเลเซีย จึงตั้งอดีตนายกฯไทยไปสานงานต่อ
4.แต่เมื่อไทยมีประเด็นขัดแย้งกับ “ว้าแดง” ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา ทำให้การแก้ไขปัญหามีความซับซ้อน อ่อนไหว และท้าทายมากยิ่งขึ้น
@@ อดีตนายกฯไทยแบกรับความเสี่ยง
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองในบริบทของอดีตนายกฯทักษิณ ต่อสถานการณ์นี้ว่า สงครามกลางเมืองในเมียนมา รวมไปถึงแผนสันติภาพ และปัญหาของกองกำลังว้า ทำให้อดีตนายกฯทักษิณต้องแบกรับความเสี่ยงมาก และมากกว่าปัญหาชายแดนใต้ของไทยเองเสียอีก
“ถ้าคุณทักษิณตัดสินใจรับงานนี้ ตามที่มีการคาดการณ์ว่า นายกฯมาเลเซียตั้งเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา นั่นหมายความว่าคุณทักษิณจะต้องสามารถประสานกับทุกตัวละครในสงครามกลางเมืองของเมียนมาได้ ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายต่อต้านหรือรัฐบาลเมียนมาเท่านั้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้นทางด้านการเมืองหรือมีผลประโยชน์เฉพาะตัว”
“ฉะนั้นถ้าคุณทักษิณติดกับหรือไม่เท่าทันเกม นั่นหมายความว่าจะเกิดผลเสียต่อคุณทักษิณทันที และยิ่งในปัจจุบันสงครามทางด้านการข่าวในสงครามกลางเมืองมีมาก ยิ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะต้องหาช่องทางและตัวละครให้ชัดก่อนที่จะเริ่มทำงานด้านการประสานเจรจา”
@@ แพ้สนามเดียวใน 3 สนาม เท่ากับแพ้ทั้งกระดาน!
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ ยังมองเรื่องนี้เชื่อมโยงกับการเมืองไทยว่า พรรคฝ่ายค้านของไทยในปัจจุบัน คือ “พรรคประชาชน” มีการประสานและสร้างความสัมพันธ์กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างชัดเจน ฉะนั้นการเดินเกมแบบสุ่มเสี่ยงของอดีตนายกฯทักษิณ หรือรัฐบาลเพื่อไทย จะกลายเป็นผลลบทางการเมืองภายในประเทศทันที (เหมือนกับกระแสโจมตีช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าไทยเอียงข้างรัฐบาลทหารเมียนมา)
ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายกองทัพไทยก็ยังมีผู้นำทหารบางส่วนที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา ฉะนั้นหากอดีตนายกฯทักษิณเดินเกมพลาด ย่อมหมายความว่าจะส่งผลสะเทือนต่อความสัมพันธ์กับกองทัพด้วยเช่นเดียวกัน
“แม้ว่าคุณทักษิณจะมีต้นทุนเรื่องการต่างประเทศ แต่ในกรณีของสงครามกลางเมืองในเมียนมานั้นไม่ง่าย เพราะนี่คือการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ และศักยภาพของประเทศไทยเองไม่ได้มีศักยภาพในสงครามกลางเมืองครั้งนี้ แต่ถ้าจะมีบทบาท ก็ต้องเอาหลังพิงอาเซียนเท่านั้น”
“ที่สำคัญคุณทักษิณต้องทำใจว่า ถ้าเล่นเรื่องเมียนมาแล้ว ตัวเองจะต้องตกอยู่ภายใต้สงครามการข่าว เพราะในสงครามกลางเมืองเมียนมา มีการใช้สงครามด้านการข่าว และสะเทือนมายังประเทศไทย อย่างเช่นในกรณีของว้าเรื่องล้ำแดน จริงๆ เป็นปัญหาเดิมที่มีมานาน แต่ถูกสงครามข่าวปั่นกระแสจากตัวละครต่างๆ ทำให้สถานการณ์ดูยุ่งยากมากกว่าความเป็นจริง จนส่งผลสะเทือนต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริง”
“ตัวอย่างง่ายๆ คือปัญหาที่อดีตนายกฯทักษิณเจอในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่พยายามจะทำข้อตกลงสันติภาพ แล้วโครงการต้องพับไป ก็น่าจะเป็นสัญญาณแล้วว่าการใช้ความสัมพันธ์หรือว่าเครดิตความเชื่อมั่นส่วนตัวที่เคยมีมาในอดีต อาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากนักในปัจจุบัน เนื่องจากทุกตัวละครเปลี่ยนบทบาทสถานะตัวเองและความต้องการไปหมดแล้ว ไม่เหมือนกับในยุคสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่” รศ.ดร.ฐิติวุฒิ สรุป
และย้ำว่า ความเสี่ยงที่คุณทักษิณและรัฐบาลเพื่อไทยต้องแบกรับ เป็นต้นทุนที่สูงมากๆ เพราะถ้าพลาดไม่ว่าจะในประเทศ ในเมียนมา และเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่ากระดานใดกระดานหนึ่ง หมายถึงแพ้ทั้งสามสนามทันที
ฉะนั้นถ้าต้องการชนะ ต้องสำเร็จทั้งสามสนามพร้อมกัน สำเร็จสนามใดสนามหนึ่ง...ไม่เพียงพอ
และนี่คือความท้าทายไม่ใช่แค่ของตัวอดีตนายกฯทักษิณ แต่หมายถึงประเทศไทยด้วย!