สิทธิประโยชน์ของ อส. หรือ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเสียงโวยและร้องเรียนออกมาว่าถูกอม “ค่าเสบียงสนาม” นั้น
หลังเรื่องนี้เป็นข่าวมาได้ 2-3 วัน ก็มีคำชี้แจงชัดเจนระดับหนึ่งจากปลัดจังหวัดในพื้นที่ และโฆษกกระทรวงมหาดไทย
อ่านประกอบ : แจง “เสบียงสนาม” ไม่ได้จ่ายเป็นเงิน ให้เป็นของไปประกอบเลี้ยง
อ่านประกอบ : โฆษก มท.แจงย้ำ อส.ใต้เข้าใจผิดเอง “ถูกหักเงิน-อมเบี้ยเลี้ยง”
แต่ปัญหานี้ยังไม่จบ เพราะยังมีประเด็นที่ไม่มีคำชี้แจง ก็คือ เครื่องบริโภคที่แจกจ่ายให้ อส.แทนเงิน 375 บาทที่พวกเขาต้องได้รับวันละ 15 บาท คิด 25 วันต่อเดือนนั้น ไม่ว่าจะในรูปแบบ “ถุงยังชีพ” หรือหน่วยจัดซื้ออาหารสดและเครื่องบริโภคส่งให้ไปประกอบเลี้ยงกันเองก็ตาม ตรวจสอบราคาสินค้าแล้ว บวกอย่างไรก็ไม่ถึง 375 บาทต่อคน
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่ไปยังฐาน อส.ต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าการแจกจ่ายเครื่องบริโภค โดยใช้งบประมาณจาก “ค่าเสบียงสนาม” ของ อส. แทนการจ่ายเป็นเงินสดตามระเบียบ เพราะระเบียบไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นเงินนั้น มีการแจกจ่าย 2 รูปแบบ คือ
@@ รูปแบบที่ 1 แจกเป็น “ถุงยังชีพ”
ข้อสังเกต คือ ของในถุงที่แจกจ่ายแต่ละพื้นที่ มีไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยเฉพาะปริมาณของเครื่องบริโภคแต่ละอย่าง
โดย “ถุงยังชีพ” ของ อส.ในพื้นที่ อ.กรงปินัง และ ธารโต ซึ่งร้องเรียนผ่านเพจ STRONG ต้านทุจริต จะมีของกิน 4 อย่าง คือ ข้าวสาร น้ำมันพืช ปลากระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดย อส.ที่ได้รับแจกมีการคำนวณราคากันเองตามจำนวนที่ได้รับ คาดว่าราคาถุงยังชีพ ถุงละไม่เกิน 270 บาท จึงมีส่วนต่างราวๆ 100-105 บาทต่อถุง เกิดคำถามว่าเงินส่วนนี้ไปอยู่ที่ไหน
“ทีมข่าวอิศรา” พยายามตรวจสอบราคาเอง เพื่อป้องกันพี่น้อง อส.มีอคติ เราเช็คราคาสูงสุดจากสินค้ายี่ห้อดัง และซื้อแบบปลีก ไม่ใช่ราคาขายส่ง หรือขายยกแพ็ก พบว่า
ข่าวสารถุง 5 กิโลกรัม ยี่ห้อดังในตลาด ราคา 149 บาทต่อถุง
น้ำมันพืช 1 ลิตร ยี่ห้อดัง ราคา 66 บาทต่อ 1 ขวด
ปลากระป๋อง อย่างดี กระป๋องละ 22 บาท 3 กระป๋อง 66 บาท
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ห่อละ 7-8 บาท สองห่อ 14-16 บาท
รวมราคาเท่ากับ 295-297 บาท
ยังมีส่วนต่างราวๆ 77-80 บาท
“ทีมข่าวอิศรา” ตระเวนไปที่ฐานปฏิบัติการอื่นๆ ของ อส. พบว่าบางฐานได้รับ “ถุงยังชีพ” ที่มีเครื่องบริโภค 4 อย่างเท่ากัน แต่บางรายการได้จำนวนไม่เท่ากัน เราจึงนำมาคำนวณราคาใหม่ดังนี้
- ข้าวถุง 5 กิโลกรัม ตราฉัตร (ม่วง) 179-205 บาท
- น้ำมันพืชกุ๊ก 1 ขวด (ขนาด 1 ลิตร) 66 บาท
-ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว กระป๋องละ 22 บาท 2 กระป๋อง 44 บาท
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 4 ห่อ ยี่ห้อซือดะ ห่อละ 7 บาท รวมเป็น 28 บาท (ถ้ายี่ห้อฮายี ห่อละ 6 บาท รวมเป็น 24 บาท)
รวมราคาเท่ากับ 313-343 บาท
ยังมีส่วนต่างราวๆ 32-62 บาทต่อถุงต่อคน
จำนวน อส.ชายแดนใต้ ที่ประจำการในสามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เป็นพื้นที่ความมั่นคง มีจำนวน 11,438 นาย
สมมติว่ารับแจกถุงยังชีพทั้งหมดทุกคน จะมีส่วนต่างสูงสุดมากกว่า 700,000 บาทต่อเดือน
@@ รูปแบบที่ 2 แจกเป็นเครื่องบริโภคเพื่อนำไปประกอบเลี้ยง แบบทำกันเอง (ส่งให้เหมาทั้งฐาน)
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า อส.แต่ละฐานมีกี่คน โดยปัจจุบัน อส.ประจำอยู่ตามชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต.
1 ชคต.มี 3 ชุดปฏิบัติการ (ชป.)
1 ชุดปฏิบัติการ มี 9 คน 3 ชุดก็ 27 คน
มี บก.หรือส่วนบังคับการ 6 คน กับหัวหน้าชุดอีก 1 คน รวมทั้งหมด 34 คน
ได้เงินค่าเสบียงสนามคนละ 375 บาทต่อเดือน รวม 12,750 บาทต่อฐาน ชคต.
เครื่องบริโภคที่ได้รับ
- ข้าวสาร 3 กระสอบ กระสอบละ 45 กิโลกรัม ราคากระสอบละประมาณ 1,000 บาท รวมเป็น 3,000 บาท
- ไข่คนละ 4 ฟอง 34 คน รวมประมาณ 5 แผง ราคารวม 700 บาท
- ปลากระป๋องคนละ 2 กระป๋อง 34 คน 68 กระป๋อง กระป๋องละ 20 บาท รวมเป็น 1,360 บาท
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คนละ 10 ห่อ 34 คน รวมประมาณ 11 กล่อง/ลัง ราคา 1,870 บาท
- น้ำมันพืช 4 ขวด ขวดละ 55-66 บาท = 220-264 บาท
- น้ำปลา 4 ขวด ขวดละ 35 บาท รวมเป็น 140 บาท
- กาแฟดำ 2 กล่อง กล่องละ 300 บาท รวมเป็น 600 บาท
- น้ำตาล 4 กิโลกรัม 120 บาท
- ซอส 4 ขวด ขวดละ 35 บาท รวมเป็น 140 บาท
รวมราคาเครื่องบริโภคที่จะส่งให้ ประมาณ 8,150 - 8,200 บาท
ยังมีส่วนต่างราวๆ 4,550 บาทต่อฐาน
ชคต. ตั้งทุกตำบล สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4อำเภอของ จ.สงขลา มีทั้งหมด 288 ตำบล
ส่วนต่าง 1,310,400 บาท ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขประมาณการณ์สูงสุด กรณีตั้ง ชคต.ครบทุกตำบลแล้ว
@@ 4 คำถาม “ถุงยังชีพไม่ตรงปก”
ข้อสังเกตและคำถามที่ยังไม่มีคำตอบหรือคำชี้แจงก็คือ
1.เงินส่วนต่างที่ว่านี้มีจริงหรือไม่ ถ้ามี รั่วไหลไปอยู่กับใคร ตรงไหน
คำอธิบายของปลัดที่คุมงานป้องกันของ จ.ปัตตานี ที่ว่าทางหน่วยต้องไปเครดิตสินค้ากับร้านค้า ทำให้ร้านค้าบวกราคาของเพิ่มนั้น ฟังขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีของ “ถุงยังชีพ” ซึ่งน่าจะมีการทำสัญญากับห้างร้านที่จัดจำหน่าย หรือจัดเครื่องบริโภคได้ล่วงหน้า
2.เหตุใด อส.ชายแดนใต้ จึงแทบไม่มีใครรู้เลยว่า “ค่าเสบียงสนาม” ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด แต่จ่ายเป็นถุงยังชีพ หรือส่งเครื่องบริโภคไปให้ประกอบเลี้ยงกันเอง
3.เมื่อพบ “ถุงยังชีพไม่ตรงปก” และเครื่องบริโภคที่ส่งให้ ยังมีมูลค่าไม่เท่าหรือใกล้เคียงกับ “ค่าเสบียงสนาม” ซึ่งเป็นสิทธิของ อส. ทางหน่วยต้นสังกัดจะแก้อย่างไร
4.แจกของซ้ำๆ กันแบบนี้ อส.ก็ต้องรับประทานอาหารซ้ำเติมตลอดอย่างนั้นหรือ
@@ อส.ครวญอยากได้เงินสด ไม่ต้องทนเมนูปลากระป๋อง
“ถ้าเป็นไปได้ อยากได้เป็นเงินมากกว่า เพราะเงินจำนวนนี้เอามาทำอาหารประกอบเลี้ยงกินกัน ได้เมนูที่ดีขึ้นแน่นอน ไม่ต้องทนกินเมนูมาม่าปลากระป๋องกันทุกวัน” อส.รายหนึ่ง บอก
อส.อีกรายเล่าว่า พวกตนไม่ได้รับถุงยังชีพ แต่จะได้เครื่องบริโภค หรือเสบียงแบบเหมาส่งมา ได้เดือนละครั้ง ซึ่งก็ไม่พอกิน ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ ต้องควักกระเป๋าหุ้นกันเอง เพื่อทำอาหารกินกัน
“ถ้าได้เงิน 375 บาท คิดว่าเอามาใช้ได้หลายอย่าง ดีไม่ดีเอาให้ลูกไปโรงเรียนได้ทั้งเดือนเลย”
อส.หลายคนบอกตรงกันว่า อยากได้เป็นเงินมากกว่า เงินสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ซื้ออะไรมาทำกินได้ดีกว่านี้
สำหรับมื้ออาหารที่ประกอบเลี้ยง จะทำเลี้ยงวันละ 2 มื้อ คือ มื้อเที่ยงกับมื้อเย็น
นี่คือคุณภาพชีวิตของกำลังพลที่ทำภารกิจรับใช้ชาติ เสี่ยงอันตราย และกำลังจะรับมอบพื้นที่จากทหารหลักมาดูแลแทนในปี พ.ศ.2570