โฆษกมหาดไทยแจงข้อเท็จจริงข่าว อส.ชายแดนใต้โวยโดนหักเบี้ยเลี้ยง-เสบียงสนาม ชี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของสมาชิกเอง เหตุทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบเคร่งครัด ย้ำ “ค่าเสบียง” ไม่ได้จ่ายเงินสด แต่แจกเป็น “เครื่องบริโภค” เผย “มท.1” สั่งเร่งเคลียร์กำลังพลให้เข้าใจ แต่ยังไร้คำอธิบาย “ถุงยังชีพ” ส่อราคาต่ำกว่า 375 บาท ส่วนต่างหายไปไหน ยังไร้วี่แววการตรวจสอบ
วันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.67 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย แถลงว่า จากที่สื่อออนไลน์ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เกิดกรณีการหักค่าตอบแทน และค่าเสบียงสนามของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้สมาชิก อส. ได้รับค่าตอบแทนไม่เต็มจำนวนนั้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว และสั่งการให้ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
จากการดำเนินการการตรวจสอบ กองร้อย อส.ในพื้นที่ยะลา ประกอบด้วย กองร้อย อส. กรงปินัง, บันนังสตา, เมืองยะลา, ยะหา, เบตง, กาบัง ได้รายงานต่อผู้บังคับการ อส.จังหวัดยะลา เพื่อรายงานต่อกองบัญชาการ อส. ได้ทราบว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจที่ยังไม่ครบถ้วนของสมาชิก อส. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ค่าตอบแทน, ค่าเบี้ยเลี้ยงสนาม และค่าเสบียงสนาม
ส่วนแรก “เงินค่าตอบแทน” ซึ่งจะรวมถึงเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และเงินช่วยเหลือสมาชิก อส. ด้วย จะมีการจ่ายตามลำดับขั้นตั้งแต่ลำดับขั้นที่ 1 จำนวน 10,000 บาทต่อเดือน ถึงลำดับขั้น 33 จำนวน 16,790 บาทต่อเดือน ส่วนนี้จะมีการโอนเข้าบัญชีสมาชิก อส.ทุกนายโดยตรงทุกเดือน ไม่มีการหักใดๆ
ส่วนที่ 2 “ค่าเบี้ยเลี้ยงสนาม” ซึ่งเป็นส่วนที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ว่า มีสมาชิก อส.ถูกหักเงิน ประเด็นนี้หากเป็นกรณีที่สมาชิก อส. เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ตามปกติ กองร้อย อส.ต้นสังกัดจะดำเนินการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงให้ตามหลักเกณฑ์ปกติ ตามคำสั่งกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสนามฯ ลงวันที่ 2 พ.ค.2560 ข้อ 3 ที่กำหนดว่า “การเบิกจ่ายเงิน ให้เบิกจ่ายเงินตามวันที่ออกไปฏิบัติหน้าที่ในสนามหรือนอกที่ตั้ง ตามคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการสนามหรือตามแผนสั่งใช้ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการเบิกจ่าย โดยให้คำนึงถึงงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และลำดับความสำคัญของภารกิจของกองบัญชาการกองอาอาสารักษาดินแดน”
ทั้งนี้ อัตราที่สมาชิก อส.จะได้รับในส่วนนี้ อยู่ที่ 200 บาทต่อคนต่อวัน จำนวน 25 วันใน 1 เดือน รวมแล้ว 5,000 บาทต่อเดือน โดยกองร้อย อส. ต้นสังกัดจะดำเนินการเบิกเงินให้เดือนละ 1 ครั้ง และโอนเงินเข้าบัญชีสมาชิก อส.ทุกนายโดยตรง
อย่างไรก็ตามในส่วนค่าเบี้ยเลี้ยงสนามนี้ หากในเดือนใดมีกรณีที่สมาชิก อส. ต้องเข้ารับการฝึกอบรม และมีวันซ้ำซ้อนกับวันที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสนามหรือนอกที่ตั้ง กองร้อย อส.ต้นสังกัดจะไม่ดำเนินการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสนามให้กับสมาชิก อส.ในวันที่เข้ารับการฝึกอบรมดังกล่าว เนื่องจากในการฝึกอบรมจะมีการจัดเลี้ยงอาหารแก่สมาชิก อส.ทั้ง 3 มื้อ ดังนั้นจึงเป็นกรณีต้นสังกัดดำเนินการตามระเบียบ ไม่ได้เบิกเบี้ยเลี้ยงในวันที่มีการฝึกอบรม ไม่ใช่กรณีหักเงินเบี้ยเลี้ยงสนามแต่อย่างใด
ส่วนที่ 3 “ค่าเสบียงสนามของสมาชิก อส.” ในอัตราคนละ 15 บาทต่อคนต่อวัน จำนวน 25 วัน เป็นเงิน 375 บาทต่อเดือน ในส่วนนี้ กองร้อย อส.ต้นสังกัดจะไม่มีการจ่ายเป็นเงินให้แก่สมาชิก อส. แต่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบริโภคแล้วแจกจ่ายให้กับสมาชิก อส.เป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส ตามจำนวนสมาชิก อส.ที่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นไปตามหนังสือกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ที่ มท. หนังสือกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ที่ มท 0416/ว 121 ลงวันที่ 12 มิ.ย.2528 ข้อ 3 ที่กำหนดว่า “งบประมาณค่าจัดหาเสบียงสนามเป็นงบประมาณของหน่วยที่ปฏิบัติงานในสนาม มิใช่สิทธิกำลังพล ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ห้ามเบิกจ่ายค่าเสบียงสนามเป็นเงินสดให้แก่กำลังพลของกองอาสารักษาดินแดน”
ดังนั้นในส่วนค่าเสบียงสนามจะไม่มีการหักเงินใดๆ ของสมาชิก อส. เนื่้องจากตามระเบียบไม่ให้มีการจ่ายเงินสด แต่ให้แจกจ่ายเป็นเครื่องบริโภคเท่านั้น
“แม้จากการชี้แจงของกองร้อย อส.ในพื้นที่ได้แสดงให้เห็นว่าแต่ละแห่งได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ระเบียบที่กำหนดทั้งหมดแล้ว แต่ในการนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกองบัญชาการกอง อส. ได้กำชับให้กองบังคับการกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด/อำเภอ ทั่วประเทศ ให้ความสำคัญและเข้มงวดในการปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด”
“ส่วนในพื้นที่ที่สมาชิก อส. ยังมีความเข้าใจไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยง ก็ขอให้ดำเนินการชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ และให้สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง เป็นหน่วยงานกลางในการสนับสนุนข้อมูล บริหารจัดการกำลังพลให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและนโยบายของผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดนต่อไป" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
@@ ยังไร้คำชี้แจงปม “ถุงยังชีพไม่ตรงปก” ส่วนต่างอยู่ไหน?
เป็นที่น่าสังเกตว่า คำแถลงชี้แจงของโฆษกกระทรวงมหาดไทย แม้จะสอดคล้องกับคำอธิบายของปลัดจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ตามที่ “ทีมข่าวอิศรา” เสนอข่าวไปแล้ว
แต่กลับไม่มีคำชี้แจงกรณีการจัดซื้อจัดหา “ถุงยังชีพ” หรือที่โฆษกกระทรวงมหาดไทยใช้คำว่า “เครื่องบริโภค” แจกแก่สมาชิก อส. ตามสิทธิ์ในวงเงิน 375 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่ง อส.ที่ได้รับแจกถุงยังชีพมองว่า เครื่องอุปโภคภายในถุงยังชีพ ราคารวมแล้วไม่ถึง 375 บาท แต่อาจถูกกว่าเป็นร้อยบาทต่อถุง จึงน่าจะมีเงินส่วนต่างในการจัดซื้อจัดหา
ประเด็นนี้ทางโฆษกกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ มีแต่คำอธิบายของปลัดที่คุมงานความมั่นคงของ จ.ปัตตานี ที่อ้างว่าเกิดจากกรณีที่หน่วย อส.ต้นสังกัด ไปเครดิตร้านค้า เพื่อนำเครื่องบริโภคมาแจกจ่ายล่วงหน้า เพราะบางเดือนงบประมาณอาจออกล่าช้า ทำให้ทางร้านค้าบวกกำไรส่วนต่างเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องของร้านค้า ไม่ได้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ หรือฝั่งกระทรวงมหาดไทยที่เป็นราชการ
อย่างไรก็ดีไม่มีการขยายความต่อว่า การปล่อยให้ร้านค้าบวกราคาเพิ่มเช่นนี้ ถือว่าเป็นการแสวงหากำไรโดยมิชอบหรือไม่ การซื้อสินค้าจำนวนมาก ได้มีการทำสัญญาซื้อขาย และกำหนดราคาล่วงหน้าหรือเปล่า เพราะน่าจะเป็นระเบียบของทางราชการในการจัดซื้ัอจัดจ้าง ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างครบถ้วน จะเข้าข่ายร้านค้ากระทำผิดสัญญาหรือไม่ แต่หากไม่มีการทำสัญญา จะเข้าข่ายเป็นข้อบกพร่องของหน่วยต้นสังกัดหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องลักษณะนี้อาจเข้าข่ายทุจริต หรือมีการแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างร้านค้ากับเจ้าหน้าที่ในหน่วยต้นสังกัดของ อส.ที่มีอำนาจในการจัดซื้อจัดหาเครื่องบริโภค หรือถุงยังชีพ