ฮือฮาอย่างยิ่ง...ในช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่ชายแดนใต้ กับบทความของ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ที่พยายามถอดบทเรียนและความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ หลังคดีตากใบขาดอายุความครบ 1 เดือน
โดยช่วงหนึ่งของบทความมีการปูดข้อมูล “บิ๊ก สมช.” บินยุโรป ไปพบปะกับสองแกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
อาจารย์ตั้งคำถามว่า “บิ๊กสมช.” เดินทางไปในฐานะอะไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการตั้ง “หัวหน้า และคณะพูดคุยฯ” ชุดใหม่ในนามรัฐบาลไทย หลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จากชุดที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นชุดปัจจุบันที่นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
ทั้่งยังตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้หรือไม่ที่ทำให้บีอาร์เอ็น มีแรงต่อสู้กับรัฐไทยแบบ “ไม่แผ่ว” เหมือนได้ยาโด๊ป พร้อมตั้งคำถามแนวๆ ว่า “บิ๊กรายใดไปยุโรป ให้ยาโด๊ปบีอาร์เอ็น”
@@ “ฉัตรชัย” โต้ “บิดเบือน” ลั่นไม่ได้เจอแกนบีอาร์เอ็น
หลังจากบทความนี้ถูกเผยแพร่ผ่านศูนย์ข่าวอิศรา และเนชั่นทีวี ปรากฏว่าทางฝั่งรายการทีวีมีการนำเสนอข่าวต่อมาว่า ได้รับคำชี้แจงจาก นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.ว่า ตนไม่ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับแกนนำบีอาร์เอ็น ข่าวที่ออกมาถือว่า “บิดเบือน”
เนชั่นทีวี ยังรายงานอ้างคำชี้แจงของนายฉัตรชัยว่า ข่าวที่ออกมาอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะตนเดินทางไปยุโรปพอดี แต่ไปร่วมประชุมขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ได้ไปพบปะหรือหารือกับแกนนำบีอาร์เอ็น
แต่มีข้อมูลอีกด้านจากแหล่งข่าวใน สมช.ยอมรับว่า การพบปะกับแกนนำบีอาร์เอ็นดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่เป็นเวทีอย่างไม่เป็นทางการ ฝ่ายไทยโดย สมช. ส่งเพียงระดับเจ้าหน้าที่ไปพบปะพูดคุย ส่วนเลขาธิการ สมช.ไม่ได้เดินทางไปร่วมด้วย และขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการแต่งตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่นิ่ง เกรงว่าการตั้งคณะพูดคุย จะกลายเป็นการถูกนำไปใช้ชิงความได้เปรียบทางการเมืองบนโต๊ะพูดคุยฯ
@@ เอกสารหน่วยข่าวรัฐรายงานเองมีพบกันที่เยอรมัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวการเดินทางไปพบปะกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก สมช. ไม่ได้มีเฉพาะอาจารย์สุรชาติที่ออกมาให้ข้อมูล แต่ในเอกสารรายงานของ “หน่วยข่าวกรอง” ฝ่ายรัฐเอง ก็มีข้อมูลเรื่องนี้ มีการระบุถึงประเทศปลายทาง และรายชื่อผู้ที่ไปร่วมประชุม ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย
โดยเอกสารของหน่วยข่าว อ้างในรายงานว่า นายหีพนี มะเร๊ะ หรือ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน (Anas Abdulrahman) และ นายนิมะ เจะแต หรือ ดร.นิมาตุลเลาะห์ บิน เซอรี (Dr.Nikmatullah bin Seri) สองแกนนำคนสำคัญของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้เดินทางไปประชุม Back Channel ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
รายงานยังระบุว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติมีเจ้าหน้าที่ 3 คน เดินทางไปประชุมด้วย มีการระบุชื่อ 2 คน
รายงานฉบับเดียวกันได้อธิบายตอนท้ายว่า นายหีพนี มะเร๊ะ หรือ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน และนายนิมะ เจะแต หรือ ดร.นิมาตุลเลาะห์ บิน เซอรี คือสองแกนนำคนสำคัญที่มีบทบาทของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกระบวนการของการพูดคุยเพื่อสันติสุขหลายครั้ง
@@ รู้จักแกนนำบีฯ “หีพนี มะเร๊ะ”
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า Mr.Anas Abdulrahman หรือ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หรือ “นายหีพนี มะเร๊ะ” ปรากฏตัวในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ฝ่ายบีอาร์เอ็น อย่างเป็นทางการ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ม.ค.2563 โดยมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยในขณะนั้น
โดย นายหีพนี หรือ นายอานัส ได้ร่วมพูดคุยคณะใหญ่กับฝ่ายรัฐบาลไทยหลายครั้ง ก่อนจะชะงักไปเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อโควิดซา ก็กลับมานัดพบและพูดคุยกันอีกรอบ และขอชะลอการพูดคุยในช่วงใกล้เลือกตั้งทั่วไปของไทย วันที่ 14 พ.ค.66
หลังเลือกตั้ง ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน และมีการตั้งคณะพูดคุยสันติสุขคณะใหม่ โดยมอบหมายให้ นายฉัตรชัย บางชวด ขณะนั้นเป็นรองเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ แทน พล.อ.วัลลภ
โดยคณะพูดคุยฯ ยุคนายฉัตรชัย ได้เปิดโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.67 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จากนั้นมีการออกมาแถลงและให้ข่าวว่ามีความคืบหน้าเรื่องกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะการเห็นชอบร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยฯทั้งสองฝ่ายที่จะเดินหน้า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม” ซึ่งใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า JCPP
ต่อมามีการเปิดเผยเนื้อหาใน JCPP และมีกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้รู้ ผู้ที่ติดตามปัญหาชายแดนใต้ อดีตนายทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ รวมถึงนักวิชาการ ทำให้การเดินหน้า JCPP หยุดชะงักลง พร้อมๆ กับการเดินหน้าคณะพูดคุยฯด้วย กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกรอบ จากนายกฯเศรษฐา เป็นนายกฯแพทองธาร
ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่มีการตั้งคณะพูดคุยฯชุดใหม่
สำหรับ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นอดีตอุสตาซ หรือครูสอนศาสนาของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อำเภอเมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มี นายสะแปอิง บาซอ เป็นอดีตครูใหญ่ โดยนายสะแปอิงถูกฝ่ายความมั่นคงไทยระบุว่า น่าจะเป็นแกนนำระดับต้นๆ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น
จากแฟ้มประวัติของนายอานัส หรือ หีพนี มะเร๊ะ เกิดเมื่อปี 2509 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 6 คน โดยตัวของนายหีพนี มีครอบครัวแล้ว มีบุตร-ธิดา 4 คน เรียนจบการศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย และมีหมายจับศาลจังหวัดยะลา ที่ 5477/2547 ลงวันที่ 14 ธ.ค.2547 ในความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรฯ
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า เขามีความเกี่ยวพันกับเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องหลังปฏิบัติการปล้นปืนครั้งมโหฬารเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จากนั้นเขาก็หลบหนีหมายจับไปพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย
นายหีพนีเคลื่อนไหวอยู่ใน จ.ยะลา เป็นเจ้าของปอเนาะและเคยเป็นอิหม่ามมัสยิดในตำบลอาซ่อง อ.รามัน มีบทบาทในการถ่ายทอดแนวคิดต่อต้านรัฐให้กับกลุ่มเยาวชน ก่อนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เขามีสถานะเป็น “หัวหน้าฝ่ายการเมือง” ในสมาชิกองค์กรนำของบีอาร์เอ็น แต่อยู่ในระดับ DPK ซึ่งหมายถึงสภาจัดตั้งเขต หรือสภาบริหารเขต ถือเป็นผู้นำระดับกลางค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ในสภาอำนวยการ หรือสภาองค์กรนำสูงสุด