ข้อเสนอที่ร้อนแรงและเรียกเสียงวิจารณ์มากที่สุด เกี่ยวกับ “คดีตากใบ” คือการเสนอให้รัฐบาลตราพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. เพื่อต่ออายุความของคดีนี้ออกไป
เพื่อไม่ให้การหลบหนีของจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมด ส่งผลให้คดีขาดอายุความไปโดยปริยาย และปิดฉากการพิสูจน์ความถูกผิดของการสลายการชุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย (เฉพาะการเคลื่อนย้ายบนรถบรรทุกของทหาร 78 ราย) โดยกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล
แต่ข้อเสนอนี้ในทาง “หลักนิติธรรม” แล้ว ผู้รับผิดชอบคงขับเคลื่อนต่อได้ยากจริงๆ
เห็นได้จาก นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ที่ปฏิเสธการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง
ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกลัวถูกนำไปขยายความ ขณะนี้อีกด้านหนึ่ง แน่นอนว่าย่อมกลัวเข้าตัว เพราะเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ ตอบรับก็เสีย ปฏิเสธอาจจะยิ่งเสีย
แต่มีหนึ่งในแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ คือ พ.ต.อ.ทวี สองส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องถือว่าด้วย “หน้างาน” ที่รับผิดชอบ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีตากใบไม่น้อยเหมือนกัน
ประกอบกับ พ.ต.อ.ทวี เองก็เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเยียวยาเป็นกรณีพิเศษให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ และทุพพลภาพจากเหตุการณ์ตากใบ
จึงต้องถือว่า พ.ต.อ.ทวี มีความเหมาะสมที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้โดยสมบูรณ์
ท่าทีของ พ.ต.อ.ทวี ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการตราพระราชกำหนด ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ไม่ต้องเสนอผ่านสภาก่อน เพราะเห็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ด้วยเหตุผลสนับสนุนหลายประการ
“การออก พ.ร.ก.จะมีกระบวนการและเงื่อนไขเฉพาะสำหรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่การออกกฎหมายไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า จะออกเพื่อเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เป็นการออกโดยทั่วไปไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาว่า ข้อเสนอที่ว่านี้ทำได้หรือไม่ได้“
ถาม : อีกไม่กี่วันคดีจะขาดอายุความ จะออกเป็น พ.ร.ก. ทันหรือไม่
“อายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย แล้ว พ.ร.ก.จะมาใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร ผมไม่ทราบจริงๆ ต้องไปถามรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง“
ถาม : เคยให้สัมภาษณ์ว่า หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ วันนี้จะมีปาฏิหาริย์หรือไม่
“เท่าที่ทราบทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่ การทำงานลักษณะนี้ถ้าเรามีความพยายาม บางครั้งมันอาจจะประสบความสำเร็จ”
ถาม :หมายความว่าได้รับสัญญาณที่ดี ได้รับการติดต่อกลับมาจากผู้ต้องใช่หรือไม่
“ไม่ได้รับการติดต่อ แต่รับทราบจากผู้ที่ไปสืบสวนหลายคน”
ถาม : จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นใช่หรือไม่
“มีข้อมูลว่าอยู่ที่ใด (หมายถึงจำเลย หรือผู้ต้องหาบางราย) แต่เมื่อไปพิสูจน์ทราบพบว่า ข่าวเมื่อวานกับข่าววันนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมดหวัง เพราะยังมีเวลา ต้องทำงานให้เต็มที่”
ถาม : กังวลหรือไม่ เพราะกับจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“วันนี้ อย่าไปกังวลเรื่องคะแนนเสียง แต่ต้องกังวลเรื่องความยุติธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องดูให้รอบด้าน เพราะกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้ที่เขาบอกว่า ความล่าช้าคือความอยุติธรรม แต่หัวอกของผู้เสียหายและญาติ เรื่องการเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนลึกจริงๆ คือไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ ถ้าเขาได้ลูกหรือพ่อแม่เขากลับมาได้ ย่อมดีกว่าการเยียวยาทุกอย่าง
แต่เมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินการไปตามกฎหมายขณะนั้น ซึ่งการตรวจสอบเมื่อใกล้ขาดอายุความ ทุกคนก็กังวล ก็จะหาทางออกว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าก่อนขาดอายุความ
จนมาเริ่มในเดือนมกราคม 2567 ในปีสุดท้าย ความพยายามในการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม ทำไปถึงสามารถออกหมายจับ ส่วนศาลก็สั่งให้ตำรวจ ไปจับกุม ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานเขาก็มีความกังวล เพราะอายุความเหลือน้อย
ส่วนผู้กระทำความผิด เป็นธรรมดา ถ้าเขาต่อสู้คดีก็จะใช้เวลา 10 - 20 ปี ถ้าเขาเห็นว่ามีช่องทางเรื่องอายุความ เขาก็ต้องหลบไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แค่ข้าราชการ วันนี้เรามีหมายจับ 7,000 กว่าหมาย จับได้แค่ 4,000 หมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความมั่นคง เขาก็หลบไป จนหมายจับขาดอายุความ นี่เราก็ไม่ว่ากัน แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันจับกุมให้ได้”
ถาม : ถ้าจับไม่ได้จะกระทบอย่างไรกับรัฐบาล
“หากจับไม่ได้ก็แค่คดีขาดอายุความ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องให้ประชาชนรับรู้ เรื่องที่มันเกิดขึ้น เชื่อว่าผู้เสียหายเองก็ไม่ได้หวัง ไปทำร้ายผู้ที่ถูกออกหมายจับ แต่ในฐานะที่ครอบครัวมีผู้เสียชีวิต เขาอยากได้ความยุติธรรมตามกระบวนการ”
ถาม : หากไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ความรับผิดชอบของรัฐบาลจะอยู่ในระดับใด
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว ส่วนที่มันสิ้นสุดในรัฐบาลนี้ เพราะรัฐบาลมีความรับผิดชอบด้วยซ้ำ ไม่ต้องการทำให้เรื่องขาดอายุความ แต่พอมาถึงกระบวนการยุติธรรม เรามีศาล อัยการ เพราะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เราไม่สามารถไปแทรกแซงได้
แต่หน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะในยุคนี้ ทำเรื่องให้จนสามารถออกหมายจับ ซึ่งในสายตาของประชาชนหรือญาติๆ ก็ภูมิใจที่ประชาชนสามารถออกหมายจับแม่ทัพภาคได้ ตรงกันข้ามประชาชนมองว่า ญาติพี่น้องของเขาถูกออกหมายจับจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นธรรมที่กระบวนการยุติธรรมสามารถออกหมายจับข้าราชการได้”
ถาม : การออกหมายจับถือเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่
“ไม่ถือว่าเป็นผลงานรัฐบาล แต่ทำให้เห็นว่าเป็นพลวัตร ถ้ามีกฎหมายให้ทำได้ เราจะทำอยู่แล้ว แม้แต่การให้ออก พ.ร.ก. ต้องไปศึกษาว่าถ้าออก จะยืดอายุความเฉพาะ 8 คนหรือ 14 คน หรือจะยืดอายุความอีกกว่า 4,000 คนที่ถูกออกหมายจับ และยังมีอีกเป็นแสนคน มิฉะนั้นอาจเป็นการออกกฎหมายเพื่อคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ถ้าทำได้ก็อยากทำ
รัฐบาลพยายามคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายในคดีตากใบ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุก็มีการดำเนินคดี ซึ่งในขณะนั้นเริ่มตั้งแต่ชันสูตรพลิกศพว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตาย จนกระทั่งปี 2552 ศาลไม่ได้ชี้ และข้าราชการก็ย้ายออกจากพื้นที่ไปหมด ซึ่งต่างจากคดี 99 ศพ ศาลยังระบุว่า อาวุธปืนมาจากเจ้าหน้าที่ แต่คดีนี้ไม่ได้ระบุว่าใครทำให้ตาย โดยในความบกพร่องตรงนั้น ตำรวจก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร่วมกับ สภ.หนองจิก เมื่อปี 2552 ว่าเหตุใดไม่ทำสำนวนให้จบ และเรื่องนี้ก็ถือเป็นความสวยงามของกฎหมายที่ประชาชนฟ้องเองได้ และมาฟ้องในปีที่ 20”
ถาม : กังวลหรือไม่ที่เหลือเวลาอีกเล็กน้อยจะหมดอายุความ
“ตรงนั้นก็เป็นความกังวล แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกฝ่าย และเราก็เสียใจกับพี่น้องที่เป็นผู้เสียหายในคดีตากใบ ซึ่งพรรคประชาชาติด้วยซ้ำที่เป็นคนหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา โดย สส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ นำเรื่องเข้ากรรมาธิการเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2566 ช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และมีการเรียกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาชี้แจงว่า สำนวนคดียังมีความบกพร่องที่ตำรวจยังไม่สืบสวน โดยไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งจะต้องทำภายใน 20 ปีของอายุความ เราก็ทำหน้าที่ตรงนั้น ซึ่งก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในระดับหนึ่ง"
ถาม: มีการตั้งข้อสังเกตกรณี แป้ง นาโหนด ที่หลบหนีไปนอกประเทศยังนำตัวมาดำเนินคดีได้
“ข้อกำหนดของแต่ละประเทศต่างกัน และในส่วนของ แป้ง นาโหนด กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เสียหาย แต่กรณีนี้กระทรวงไม่ได้เป็นผู้เสียหาย แต่มอบให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปช่วยสนับสนุนข้อมูล”
ถาม : มองอย่างไรกรณีกลุ่มเอ็นจีโอเสนอให้ฟ้องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ
“ขอชื่นชมเอ็นจีโอและทุกภาคส่วนที่สนับสนุนเรื่องนี้ เพราะความยุติธรรมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้กังวล เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือใคร และไม่มีอคติที่จะช่วยเหลือใคร และหนำซ้ำอยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเราคิดเสมอว่า เราใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเป้าหมายสุดท้าย”
ถาม : กรณีตากใบเกิดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกโยงหรือไม่
“ทุกอย่างเมื่อความจริงปรากฏ ความชั่วร้ายก็จะหายไป”