เหตุการณ์ตากใบผ่านไปเกือบ 20 ปี ถึงวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป หรือยังเหมือนเดิม...
กลายเป็นข้อถกเถียงว่าสมควรหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด คล้ายเป็นการ “สะกิดแผล” หรือไม่
แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน คงไม่พูดถึงไม่ได้อีกแล้ว เพราะคดีตากใบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล แต่กลับไม่มีตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาเพื่อไปพิสูจน์ความจริง
บริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นลานกว้างติดแม่น้ำ พื้นที่นี้เคยเป็นจุดรวมตัวชุมนุม สลายการชุมนุม และลำเลียงผู้ชุมนุมขึ้นรถยีเอ็มซี ปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับคนในพื้นที่ มีศาลาที่พัก 2 หลังตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ
เมื่อเดินลงไปที่แม่น้ำ จะมีทุ่นขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้มาเยือนสามารถเดินลงไปชมบรรยากาศธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด
หากฝนไม่ตกและไม่ใช่หน้ามรสุม พื้่นที่แถบมีจะค่อนข้างสงบ มีสายลมพัดเอื่อยๆ และเงียบสงัด ไม่มีร่องรอยของเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วหลงเหลืออยู่เลย และน่าแปลกที่ไม่มีชาวบ้านมาเยี่ยมชม หรือพักผ่อน ทั้งๆ ที่สถานที่ตกแต่งเอาไว้ไม่เลวเลย
ถ้าเดินทางต่อไปที่บ้านศาลาใหม่ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ หนึ่งในหมู่บ้านที่มีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน หมู่บ้านนี้เป็นภูมิลำเนาของ “ก๊ะแยนะ” หรือ นางแยนะ สะแลแม แกนนำผู้สูญเสียซึ่งเคยออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีตากใบ จนโด่งดังและคนไทยรู้จักกันทั่วประเทศ
ทว่าปัจจุบัน “ก๊ะแยนะ” ต้องนอนรักษาตัวด้วยอาการอัมพาต จึงไม่มีเสียงบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตได้อีก
ที่บ้านศาลาใหม่ ประชาชนยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ท่ามกลางการวางกำลังรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และมีรถทหารขับลาดตระเวนเป็นระยะ
ในหมู่บ้านศาลาใหม่ หะยีดิง มัยเซ็ง หรือ “แบดิง” หนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่ทะลุเข้าบริเวณสีข้าง ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ เผยความรู้สึกว่า เราแค่ต้องการความยุติธรรม จะได้บอกลูกหลานได้ อยากให้คนสั่งและคนทำยอมรับ ที่ผ่านมาเรารู้แค่ว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ เพราะเจ้าหน้าที่อยู่ข้างหลัง แต่ไม่รู้ว่าคนไหน ส่วนชาวบ้านไม่มีอาวุธเลย เป็นพันๆ คน ไม่มีอะไรเลย มีแค่ของกินอย่างเดียว (ซื้ออาหารเตรียมไปละศีลอด เพราะช่วงนั้นอยู่ในเดือนรอมฎอน)
“เราไม่เคยรู้ว่าเจ้าหน้าที่เป็นใคร แต่พอรู้ว่าใคร เขาก็ไม่มาตามที่ศาลเรียกเสียอีก” แบดิง เปรยขึ้นอย่างเครียดๆ
“เรื่องตากใบผ่านไป 20 ปีแล่ว ถ้าไม่เล่า ไม่สะกิต ก็รู้สึกเฉยๆ นะ แต่พอมีการถามถึงจะรู้สึกทันที ยังจำความรู้สึกในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี และทุกครั้งที่นึกถึงก็ไม่เคยสบายใจ” แบดิงเล่าสิ่งที่เขาสัมผัสได้จากใจของเขาเอง
วันนี้มีการพูดกันถึงคดีขาดอายุความ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องขึ้นศาล แบดิง บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และจะส่งผลต่อสถานการณ์ความไม่สงบให้ยืดเยื้อต่อไป
“ถ้าทำไม่ถูกแบบนี้ ก็ไม่สงบต่อไป ส่วนการพูดคุย (หมายถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุข) ก็อย่าไปคิดว่าจะสำเร็จ”
ความรู้สึกของ “แบดิง” คล้ายๆ กับครอบครัวผู้สูญเสียคนอื่นๆ เพราะแม้จะได้รับเงินเยียวยา แต่ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำ พวกเขามองว่าการเยียวยาเป็นคนละเรื่องกับการพิสูจน์ความถูกผิดทางกฎหมาย ซึ่งนั่นคือ “ความเป็นธรรม” ในความหมายของพวกเขา
มูฮัมมัดสาวาวี อูเซ็ง ผู้สูญเสียพี่ชายจากเหตุการณ์ตากใบ บอกว่า หากไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะสู้ต่อไปเพื่อให้ได้รับความยุติธรรม ถ้ามีช่องทางที่สามารถทำได้ หรือมีช่องทางที่จะร้องขอความยุติธรรมต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะทำ เพราะในประเทศทำได้แค่นี้
“ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอสู้ต่อไป” มูฮัมมัดสาวาวี บอกถึงความตั้งใจ แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้วก็ตาม
ส่วนประเด็นการพูดคุยสันติสุข ในฐานะครอบครัวผู้สูญเสียมองว่า เป็นเรื่องดี แต่เงื่อนไขอยู่ที่รัฐบาลจริงใจหรือไม่ เพราะถ้าไม่จริงใจก็ไปต่อยาก ยิ่งมามีปัญหาตากใบซ้ำขึ้นมาอีก
“ตราบใดที่ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นกับประชาชนและครอบครัวผู้สูญเสียที่รอคอยความยุติธรรม แล้วจะให้เราเชื่อใจรัฐบาลไทยได้อย่างไร ฉะนั้นจะส่งใครไปพูดคุยสันติสุขก็เหมือนเดิม การสร้างสันติภาพถือว่าเป็นเรื่องดีแต่ถ้าฝั่งหนึ่งตบมือ อีกฝั่งหนึ่งไม่ตบมือ ก็เหมือนตบมือข้างเดียว ก็สำเร็จยาก”
ยังมีครอบครัวผู้สูญเสียอีกหลายรายที่ไม่ได้อาศัยที่ตากใบ เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการรวมคนจากหลากหลายที่มา เดินทางไปรวมตัวกันด้วยเหตุผลไปเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชรบ. 6 คนที่ถูกจับกุมเพราะทำให้ปืนของทางราชการถูกปล้นชิงไป
อย่างเช่น นางแมะ แม่ผู้สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ตากใบ นางอาศัยอยู่ใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
“สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือความยุติธรรม” นางแมะ บอก และว่า “เราแค่อยากให้รัฐบาลและคนที่ทำออกมายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และขอโทษอย่างเป็นทางการ จนถึงทุกวันนี้ก็ถือว่ายังไม่มีการขอโทษแบบจริงจังจากใครเลย แม้แต่รัฐบาลก็ไม่เคยขอโทษพวกเรา ซ้ำร้ายพวกเรายังถูกมองว่าเป็นคนร้าย ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง เราแค่ต้องการความยุติธรรม”
จากปากคำของแม่ผู้สูญเสียลูกชายรายนี้ สะท้อนว่าการกระทำหลายๆ อย่างของฝ่ายรัฐ ไม่ได้ถูกบอกเล่าให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ อย่างเช่นการเอ่ยคำขอโทษอย่างเป็นทางการจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 กลับไม่เคยอยู่ในความทรงจำของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ
เรื่องราวของนางแมะ ยังแตกต่างจากแม่คนอื่นๆ ที่ต้องสูญเสียลูกชาย เพราะลูกของนางจากไปเพราะไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ หลังจากนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย ทำให้นางปักใจเชื่อว่าลูกเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่ได้ศพกลับมา
“ไม่ใช่แค่เสียลูกไปโดยไม่ได้ร่ำลา แต่จนป่านนี้ยังหาศพลูกไม่เจอเลย” นางแมะ กล่าว และว่าหากคดีตากใบขาดอายุความ ก็จะหาทางเดินหน้าสู้ต่อไปเพื่อให้ได้ความยุติธรรม
“ฉันเชื่อว่าต้องมีสักทาง” นางแมะเอ่ยด้วยเสียงแผ่วเบา เหมือนบอกกับความรู้สึกตัวเองมากกว่าบอกคู่สนทนา
เหตุการณ์ตากใบผ่านมานานถึง 20 ปี หลายๆ อย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทั้งสภาพพื้นที่ ผู้คน หรือแม้แต่รัฐบาลก็ผ่านมาถึง 10 ชุด นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนหน้ามา 9 คน
แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือ “ความรู้สึกไม่ยุติธรรม” ที่ยังฝังอยู่ในใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์…