ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ขมวดปมสถานการณ์ตึงเครียดที่ตะวันออกกลาง ในวาระ 1 ปีเหตุการณ์ Surprise Attack กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอล อย่างรุนแรงในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ผลของเหตุการณ์ตลอดระยะเวลา 1 ปี อิสราเอลลุยปฏิบัติการ “เอาคืนทางการทหาร” และขยายพื้นที่สงครามไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมชุดใหญ่ของโลก โดยที่ยังมองไม่เห็นทางออกของปัญหาเลย
- 7 ต.ค.67 ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล
- ยิงจรวดประมาณ 5,000 นัด ส่งกำลังพลประมาณ 3,000 คน ข้ามพรมแดนเข้าไปเปิดการโจมตีขนาดใหญ่ต่อพื้นที่ตอนในของอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
- ผลของการโจมตีทำให้ชาวยิวเสียชีวิต 1,195 คน เป็นพลเรือน 815 คน และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 251 คน เป็นชาวยิวและคนสัญชาติอื่นรวมทั้งแรงงานไทย
- กลายเป็นปฏิบัติการเขย่าขวัญชาวยิว เสมือนเป็น 9/11 ของอิสราเอล
- เป็นปฏิบัติการสายฟ้าแลบ และการต่อสู้ระหว่าง “โลว์เทค (ฮามาส) กับ ไฮเทค (อิสราเอล)”
- ย้อนรอยความผิดพลาดการเตรียมรับมือการโจมตีของกองทัพผสมอียิปต์-ซีเรีย เมื่อ 6 ต.ค.1973 (พ.ศ.2516) นำไปสู่สงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับโลกอาหรับ ที่เรียกว่า “สงครามยมคิปปูร์” (6-25 ต.ค.1973)
- สงครามของฮามาส ในปี 2023 (2566) จึงเสมือนเป็นการฉลองวาระ 50 ปีของสงครามยมคิปปูร์ เป็นการโจมตีในแบบ “ข้าศึกคาดไม่ถึง” คล้ายๆ กัน
- หลังเหตุการณ์ 7 ต.ค.2023 อิสราเอลเปิดปฏิบัติการเอาคืนทางทหาร ทำให้เกิด “ภาวะสงครามถาวร” ในฉนวนกาซา
- ปฏิบัติการของอิสราเอล ทั้งการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดิน ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 40,000 คน และ 1 ใน 3 เป็นเด็ก
- บ้านและที่พักอาศัยในฉนวนกาซากว่าครึ่งถูกทำลาย พื้นที่เกษตรกรรม 1 ใน 3 เสียหาย โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม และสุสาน ถูกทำลายทั้งหมด เกิดผู้อพยพจำนวนมาก
- กลายเป็น “วิกฤตมนุษยธรรม” หรือ Humanitarian Crisis ครั้งสำคัญของโลก
- เกิดบาดแผลในใจทั้งของชาวปาเลสไตน์ และชาวยิว (ปาเลสไตน์โดนปิดล้อมมานาน เหมือนติดคุกกาซาตลอดชีวิต และยังถูกโจมตีครั้งใหญ่ต่อเนื่องตลอด 1 ปี ขณะที่ชาวยิวถูกสังหาร ถูกลักพาตัว) ในอนาคตจะมีปัญหาการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมของคนรุ่นต่อไประหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์อย่างเลี่ยงไม่ได้
- ปัจจุบันอิสราเอลขยายปฏิบัติการทางทหารเข้าสู่เลบานอน เท่ากับเป็นการยกระดับวิกฤตมนุษยธรรม
- สงครามของอิสราเอลยังห่างไกลจากคำว่า “ชัยชนะ” แต่กลายเป็นโอกาสช่วยให้รัฐบาลขวาจัดของอิสราเอล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางเสียงประท้วงใหญ่ในบ้าน
- การขยายสงครามจึงเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองโดยตรงของนายกฯ เนทันยาฮู
- ปัจจุบันเลบานอนกำลังเป็นสนามรบอีกชุดของกองทัพอิสราเอลอย่างท้าทาย ทั้งที่สงครามในกาซายังไม่ยุติลง
- ครบรอบปีของสงครามยังไม่เห็น “แสงสว่างของสันติภาพ” ที่ปลายอุโมงค์แม้แต่น้อย