มีข้อมูลคดีตากใบที่สมควรต้องบันทึกไว้
เพราะประวัติศาสตร์บาดแผลจากโศกนาฏกรรมนี้ ไม่ได้จบลงด้วย “คดีขาดอายุความ” ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
แต่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหาย และเครือญาติเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ยื่นฟ้องเอง ในห้วงเวลาก่อนคดีขาดอายุความเพียงไม่กี่เดือน
ทุกอย่างจึงเหมือนย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เหลือเพียงสิ่งที่ต้องรอคือ ความเป็นธรรมและการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม จะมีบทจบอย่างไร
/// ข้อมูลสำคัญ ///
เลขคดี และที่มาของคดี : คดี อ578/2567 ที่ นางสาวฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ผู้แทน นายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง ผู้ตายที่ 1 กับพวกรวม 48 คน เป็นโจทก์
ยื่นฟ้อง พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตเเม่ทัพภาค 4 กับพวกรวม 9 คนเป็นจำเลย
ข้อหาที่ยื่นฟ้อง (แต่ศาลไม่ได้รับฟ้องทั้งหมด) :
- ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย
- พยายามฆ่า
- หน่วงเหนี่ยวหรือกักชัง
- ข่มขืนใจโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ
ข้อเท็จจริง : เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 คน
ผลการไต่สวนมูลฟ้อง : ศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล มีคำสั่งประทับฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1,3-6 และ 8,9 มีมูลความผิดในความผิดฐาน...
- ร่วมกันฆ่าผู้อื่น
- ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
- ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย
- หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83
เเละให้ยกฟ้อง (ไม่รับฟ้อง) ในข้อหา...
- ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย
- ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย
- ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัส โดยกระทำทารุณโหดร้าย
และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เเละ 7
นัดหมายต่อไป : นัดสอบคำให้การจำเลยเเละตรวจพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 12 ก.ย.67 ซึ่งเป็นการรับฟ้องก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67
จำเลยที่ถูกยื่นฟ้อง 9 คน :
จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง)
จำเลยที่ 3 พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5
จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว.
จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว.
จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับการ สภ.อ.ตากใบในขณะนั้น
จำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับการ สภ.อ.ตากใบ ปัจจุบันเป็น รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี (ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง)
จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส