ที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี มี “นาเกลือหวาน” ผืนสุดท้ายของปลายด้ามขวาน
นาเกลือผืนนี้มีเนื้อที่ 125 ไร่ เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี (อบจ.ปัตตานี) กำหนดให้เกษตรกรเช่ารายปี ไร่ละ 365 บาท ผู้เช่าจำนวน 30 ราย โดยเฉลี่ยเกษตรกรเข้าครอบครองพื้นที่ทำนาเกลือคนละ 2 ไร่ เป็นอาชีพที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่นจากบรรพบุรุษ
อริยา แก้วพิมล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี เล่าว่า จังหวัดปัตตานีมีพื้นที่ทำนาเกลือรวม 550 ไร่ มีเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 103 ราย สามารถผลิตเกลือส่งออกตลาดเมื่อปี 2566 จำนวน 136 ตัน คิดเป็นมูลค่า 952,000 บาท ราคาเฉลี่ยตันละ 10,000 บาท
อริยา บอกต่อว่า เอกลักษณ์เฉพาะของเกลือปัตตานี คือเป็น “นาเกลือหวาน” ขณะนี้ได้เสนอให้เป็น “มรดกทางการเกษตรโลก” ดำเนินการจัดทำข้อมูล 5 ด้าน ประกอบ 1.ความมั่นคงอาหาร ความเป็นอยู่ 2.ความหลากหลายทางชีวภาพทางเกษตรและระบบนิเวศ 3.การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้เทคโนโลยี 4.มีระบบวัฒนธรรมทางการเกษตร และ 5.มีความโดนเด่นทางภูมิทัศน์และแหล่งน้ำ
คำว่า “เกลือหวาน” เป็นคล้ายๆ คำเปรียบเปรย ไม่ได้หมายความเกลือจาก “นาเกลือปัตตานี” มีรสหวานเหมือนน้ำตาล เพราะจริงๆ ยังมีรสเค็มอยู่ เพียงแต่กลมกล่อมกว่า ไม่ได้เค็มโดดเหมือนเกลือทั่วไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ล่องใต้ ไทยแลนด์” มีบทความของ อลิษา ดาโอ๊ะ เขียนถึง “เกลือหวานปัตตานี” ในหัวเรื่องที่ว่า “ทำไมเกลือถึงหวาน? ทำความรู้จัก ‘เกลือหวานปัตตานี’ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘คุณภาพ’ เพื่อชุมชนเข้มแข็ง”
อลิษา บรรยายว่า “เกลือตานี” เป็นเกลือที่มีคุณภาพดีแตกต่างจากที่อื่น เพราะผ่านการผสมกับน้ำกร่อยมาจากอ่าวปัตตานี ทำให้กลมกล่อมกว่า แม้จะมีรสเค็มเหมือนกัน ชาวบ้านนิยมนำมาหมักปลาทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผัก ผลไม้ คุณสมบัติพิเศษคือจะไม่ออกรสขม หากทำสะตอดองจะได้ความกรอบ มัน เนื้อไม่เละ
ในสมัยโบราณมีการเปรียบเปรยว่าที่นี่เป็นถิ่น “เกลือหวานปัตตานี” ปัจจุบันการทำนาเกลือของชาวปัตตานี ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน
บทความของอลิษา ยังบอกเล่าประวัติศาสตร์ของ “เกลือหวานปัตตานี” เอาไว้ว่า “ในเมืองตานีมีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมะลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์และเกาะหมาก" สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกเกี่ยวกับการทำนาเกลือในปัตตานีไว้ (อ้างในครองชัย หัตถา)
แสดงให้เห็นว่าการทำนาเกลือในตำบลบ้านนา และตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี เป็นภูมิปัญญาแห่งบรรพบุรุษ โดยบริเวณนี้มีการทำนาเกลือมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21-23 โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรุ่มรวยของเกลือปัตตานีอีกว่า ทะเลอ่าวไทยและอ่าวปัตตานีเต็มไปด้วยเรือสินค้าที่มารอซื้อขายเกลือจำนวนมาก ปัจจุบันถนนที่ใช้สำหรับการขนส่งเกลือปัตตานีในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถูกเรียกว่า “ถนนนาเกลือ”
เกลือหวานปัตตานีจึงมีคุณค่าที่ควรอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตแก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาและต่อยอดทุนชุมชนให้มีความยั่งยืน
นี่คือเรื่องราวของ “เกลือหวานปัตตานี” ที่บอกเล่าผ่านบทความของอลิษา ดาโอ๊ะ
ส่วนการพัฒนาต่อยอดการผลิตเกลือหวาน “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับ ไซมะห์ จาเราะมหาแดง นักวิชาส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ได้ข้อมูลว่า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดได้มีการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของเกษตรกรและผลผลิตที่ได้รับในแต่ละปี มีการจัดตั้ง “กลุ่มนาเกลือแปลงใหญ่” ส่งเสริมกลุ่มแปรรูปนาเกลือ เป็นผลิตภัณฑ์ “เกลือสตุ” ที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร มีรสสัมผัสที่ละเอียดกว่า ตัวเกลือมีความละเอียด และมีความสะอาด รวมถึงการส่งเสริมการใช้ผ้ายางในการเพิ่มผลผลิต ลดขั้นตอนการผลิตเกลือ
มะรอดิง มะมิง เกษตรกรผู้ทำนาเกลือ เล่าถึงขั้นตอนการทำนาเกลือหวานว่า ปล่อยน้ำเค็มที่บ่อพักทิ้งไว้ 41 วัน ในพื้นที่ปัตตานีมีบ่อพัก คือ นาวัง นาตาก และนาเชื้อ หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าสู่บ่อนาเกลือ ใช้เวลา 5-7 วัน จนระดับน้ำพอเหมาะ ก็จะปล่อยทิ้งไว้อีก 3 วัน สามารถเก็บดอกเกลือได้
จากนั้นนับต่อไปอีก 5-7 วัน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตเกลือได้ 450 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หากมีฝนตกลงมาก็จะทำให้ผลผลิตนั้นเกิดความเสียหาย
อาชีพการทำนาเกลือยังมีความสำคัญ เพราะการบริโภคเกลือของคนในประเทศก็ยังมีอยู่ ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็ยังไปต่อได้ โดยเฉพาะเกลือคุณภาพที่ขนานนามว่าเป็น “เกลือหวาน” หนึ่งเดียวของภาคใต้ จึงควรค่ากับการอนุรักษ์ไว้เป็นตำนานแห่ง…“เกลือหวานปัตตานี”