“อาจารย์สุรชาติ” เสนอตั้ง “สถานีด้านมนุษยธรรม” ช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยสงครามเมียนมา พร้อมแนะรัฐบาลไทยเพิ่มบทบาทเป็น Peace Broker เจรจาหยุดการสู้รบเหมือนครั้งในสงครามเขมรสามฝ่าย เหตุภูมิรัฐศาสตร์หนีไม่พ้นต้องรับผลกระทบ หากทำสำเร็จจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ผ่านมิติทางการทูต
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ซึ่งมีการสู้รบยืดเยื้อ และสุ่มเสี่ยงเป็นรัฐล้มเหลว
@@ ไทย...โปแลนด์แห่งเอเชีย
“ข้อสรุปใหญ่คืออยากเห็นไทยมีบทบาทที่มากขึ้น สำหรับคนที่ทำงานและติดตามเรื่องเกี่ยวกับเมียนมา เห็นแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะไม่เป็นบวกเท่าไหร่ และน่าจะส่งผลกระทบใหญ่ต่อประเทศไทย คือ
1.สถานการณ์สงครามที่แนวโน้มหลังจากปฏิบัติการในวันที่ 27 ต.ค.ปีที่แล้ว เราจะเห็นชัดอย่างหนึ่งว่าสถานการณ์สงครามจะทวีความรุนแรงขึ้น
2.ในสงครามที่แรงขึ้น เราเห็นผู้อพยพที่หนีภัยสงคราม
3.เราเห็นการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารใหม่ ซึ่งคล้ายกับในกรณีของรัสเซีย
4.เราเห็นความพยายามที่จะหนีการเกณฑ์ทหาร
พอสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นมันพอจะคาดเดาได้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเหมือนพื้นที่ที่หลบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นหลบภัยสงคราม หลบเกณฑ์ทหารก็แล้วแต่ จึงเปรียบประเทศไทยเป็นเหมือนโปแลนด์แห่งเอเชีย หากเราติดตามข่าวต่างประเทศ สงครามในยูเครนทำให้โปแลนด์เป็นหน้าด่านของการพักพิง ของบรรดาผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และก็จำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างยิ่ง
@@ เสนอตั้ง “สถานีด้านมนุษยธรรม”
ในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ผมว่าการตัดสินใจมีบทบาทของไทยเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ได้บอกว่าไทยต้องเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน ผมว่าการตั้งศูนย์ความช่วยเหลือ หรือสถานีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ
วันนี้สิ่งที่ผมเสนออีกอย่างหนึ่งคือ เราอาจจะไม่ใช้คำว่า Corridor หรือระเบียง เพราะว่ามันมีความกำกวมในมิติเรื่องความมั่นคง ผมเชื่อว่าสิ่งที่จำเป็นคือการตั้งสถานีด้านมนุษยธรรม อาจจะตั้งที่แม่สอด (จ.ตาก) ตั้งที่แม่ฮ่องสอน อย่างน้อยต้องเป็นจุดเริ่มให้เห็นบทบาทเชิงบวกของไทย
@@ แล้งนี้...สงครามชี้ชะตา
ในอีกด้านหนึ่งเราต้องการมีนโยบายที่ชัดเจนว่า เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นในหลายอย่าง ทำให้นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลทหารในเมียนมา แต่ก็เห็นแนวโน้มสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบ้านเรา ตอบได้อย่างหนึ่งสงครามจะรบใหญ่ในฤดูแล้ง แปลว่าฤดูแล้งนี้จะเป็นจุดที่อาจจะเป็นตัวชี้ชะตาพอสมควรกับอนาคตของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐบาลทหาร และอีกส่วนหนึ่งก็ชี้อนาคตของการรวมกลุ่มของบรรดากลุ่มติดอาวุธที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ ด้วย
ฉะนั้นในโจทย์พวกนี้มันมีความรุนแรงในสถานการณ์สงคราม มันมีความซับซ้อนของปัญหา แต่มันมีสิ่งที่มารอแล้ว มีความเร่งด่วน คือปัญหาชีวิตของประชาชน เราอาจจะคิดว่ามันเป็นประชาชนที่ไม่ใช่บ้านเรา ผมว่าวันนี้เราคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าวันนี้พี่น้องตามแนวชายแดนก็ได้รับผลกระทบ
อีกส่วนหนึ่งเราก็มีพี่น้องชาวเมียนมาเป็นเหมือนแรงงานส่วนสำคัญในสังคมไทย ซึ่งผมคิดว่าข้อสรุปวันนี้ ในหลายเวทีคิดคล้ายๆ กัน คือ อยากเห็นบทบาทของรัฐบาลไทยมากขึ้น และอยากเห็นการมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น”
@@ เตรียมรับแค่แม่สอดไม่พอ แนะคิดเผื่อเมืองกาญจน์
อาจารย์สุรชาติ ขยายความกล่าวถึงการทำสถานีมนุษยธรรม
“ผมคิดว่าตรงนี้มันต้องคิดถึงสถานการณ์ซึ่งมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากอีกด้านหนึ่งของเส้นพรมแดน วันนี้ถ้าเราดูข่าว ข่าวมักจะพูดถึงพื้นที่แม่สอด ผมคิดว่าจุดใหญ่จริงเป็นพื้นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งยังไม่ค่อยมีสื่อไปทำข่าวเท่าไหร่ ตรงนั้นถ้าเกิดการทะลักจะเป็นจุดใหญ่ ในขณะที่เราสังเกต การเตรียมพร้อมขนาดใหญ่จะไปรับอยู่ที่แม่สอด อาจจะไม่เพียงพอ
รวมถึงอาจจะต้องคิดถึงจุดอื่นๆ เนื่องจากถ้าสงครามขยายตัวเร็วและขยายพื้นที่การรบมากขึ้น ผู้อพยพจะไม่อยู่แค่แม่สอดหรือแม่ฮ่องสอน มันอาจจะทะลักสู่หลายพื้นที่ของประเทศไทย วันนี้สิ่งที่เราจะยังไม่คิดถึงคือ พื้นที่แถบด้านล่างอย่างกาญจนบุรี ซึ่งก็อาจจะต้องตอบคำถามว่า ถ้าบรรดาพี่น้องชาวมอญแถบนั้นตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วย ก็จะเป็นพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน”
@@ จุดจบสงครามคาดการณ์ยาก เชื่อทยอยล้มแบบโดมิโน
อาจารย์สุรชาติ ยังวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์ในเมียนมา
“แนวโน้มสงครามที่จริงเดาได้ยากว่าจะนำไปสู่จุดแตกหัก ถ้าเรามองว่าแตกหัก มันจะเป็นจุดชี้ขาดของสงคราม แต่หลายฝ่ายมองในมิติทางทหารมีความคิดคล้ายๆ กันว่า พอฤดูแล้งมาถึง พื้นที่แถบนี้มันจะต้องรบใหญ่ เพราะพ้นจากฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน หรือฤดูมรสุมเนี่ย คำตอบง่ายคือ มันจะติดขัดเรื่องของฝน พายุฝน จะรบลำบาก เพราะฉะนั้นการรบในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้จะเป็น จะเป็นจุดสำคัญที่จะมีส่วนในการชี้อนาคตของสงครามในเมียนมา
ผมคิดว่าเราจะต้องคิดและมองไปข้างหน้า เราเห็นสถานการณ์สงครามในหลายพื้นที่ของโลก ความอ่อนแอของฝ่ายรัฐเวลาเกิดสงครามขนาดใหญ่ กองทัพของฝ่ายรัฐบาลไม่ว่าจะอ่อนแออย่างไร ก็ยังมีกำลังพลอยู่ในมือ มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ และอาจจะมีการช่วยเหลือบางส่วนที่เราอาจจะเห็นหรือไม่เห็น
ฉะนั้นในมิติของการเป็นกองทัพรัฐบาล เขายังมีขีดความสามารถที่ยังรบต่อเนื่องได้ ในขณะเดียวกันเราอาจจะเห็นความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในเมืองหลายจุด เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันยังไม่สามารถชี้ชัดว่า สุดท้ายจะนำไปสู่ชัยชนะแบบเด็ดขาดของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา
แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เรากำลังเริ่มเห็น มันคล้ายของการล้มของหมากโดมิโน ทีละเมืองๆ คนไทยถ้าคุ้นกับภาพโดมิโน มันก็เป็นภาพของการล้มทีละตัว ทีละจุด คำถามใหญ่ก็คือแล้วมันจะล้มไปจุดสุดท้ายตรงไหน และจุดสุดท้ายของการล้มมันจะส่งผลต่อสถานะการเมืองและความมั่นคงภายในของเมียนมาอย่างไร แล้วก็ต้องไม่ลืมว่าการล้มเช่นนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของไทยอย่างแน่นอน
@@ หนุนเป็นคนกลางเจรจา “ซอฟต์พาวเวอร์การทูต”
ผมเรียกร้องมาตลอดว่า ถ้าหากประเทศไทยย้อนดูประวัติศาสตร์ของตัวเอง เราเคยสร้างความสำเร็จทางการทูตชิ้นที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่ง คือการพากลุ่มเขมรสามฝ่ายที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และเกิดสงครามในกัมพูชา หรือสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มาเจรจาที่กรุงเทพฯ แล้วนำไปสู่การสิ้นสุดของสงคราม
สิ่งที่ผมอยากเห็นว่า เป็นไปได้ไหมที่รอบนี้ไทยจะเล่นบทเป็นโบรกเกอร์ หรือเป็นคนกลางที่พา 3 กลุ่มใหญ่ คือรัฐบาลทหารพม่า รัฐบาลพลัดถิ่น แล้วก็บรรดากองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ถ้า 3 กลุ่มพร้อมที่จะให้ไทยเป็นโบรกเกอร์ เป็นคนกลาง ผมคิดว่าก็จะเป็นโอกาส
ถึงแม้ไม่พร้อม แต่ไทยก็ต้องคิดที่จะดำเนินการ เพราะไม่อย่างนั้นสถานการณ์สงครามจะกระทบต่อปัญหาประเทศไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ย้อนกลับมา ก็คือปัญหาของพี่น้องชาวไทยตามแนวชายแดน ปัญหาการทะลักของผู้อพยพ ถ้าเราสามารถมีบทบาทเหมือนเมื่อครั้งที่เราทำสำเร็จในกรณีกัมพูชา ผมว่าเหมือนจะเป็นเกียรติยศทางการทูตครั้งใหญ่
ถ้าประเทศไทยทำสำเร็จจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ชิ้นใหญ่ของรัฐบาล ฉะนั้นถ้ารัฐบาลสนใจซอฟต์พาวเวอร์ อาจจะต้องคิดในมุมมิติอย่างนี้ พูดง่ายๆ คือทำให้ประเทศไทยมีซอฟต์พาวเวอร์ผ่านมิติทางการทูต
@@ ต้องกล้าคิด กล้าทำ รับโจทย์ชุดใหม่
ผมคิดว่าวันนี้ประเทศไทยทำได้ แต่ขออย่างเดียว ขอให้เริ่มต้นที่คิดที่จะทำ อย่าเริ่มต้นคิดที่จะไม่ทำ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเริ่มต้นด้วยการคิดที่จะไม่ทำ ไม่ว่าจะเป็นเกรงใจรัฐอำนาจภายนอกบางส่วน เกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมาในบางส่วน หรือเชื่อว่ารบอย่างไรรัฐบาลทหารก็ไม่ล้ม เราก็จะยืนอยู่กับชุดความคิดเก่าว่า ไม่ว่าจะไปทำอะไรอย่างไรก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า
แต่ถ้ารอบนี้เราเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นโจทย์ชุดใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ได้นำไปสู่จุดจบของรัฐบาลทหารเสียทีเดียว แต่มันจะเป็นโจทย์ระยะยาวที่อย่างไรโดยพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยหนีปัญหาจากเมียนมาไม่พ้น เมื่อหนีไม่พ้น ดีที่สุดรัฐบาลไทยต้องกล้าคิดในเชิงบวกที่จะมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์
ฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอคือการมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ของรัฐบาลในมิติด้านสันติภาพ เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์สงครามนี้คลายตัวออกโดยเร็ วจะนำไปสู่การหยุดยิงหรือไม่ อาจจะเป็นโจทย์ที่ต้องคิด
แต่ในโจทย์เหล่านี้มันต้องการระยะเวลา เราไม่ได้บอกว่าการเปิดประชุมครั้งเดียวแล้วจะนำไปสู่จุดจบของสงคราม ผมว่าไม่ใช่ การสิ้นสุดของสงครามต้องออกแรงเสมอ การออกแรงรอบนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกแรง แต่ออกแรงด้วยการคิด ออกแรงด้วยการกระทำ เพราะวันนี้ต้องยอมรับ ปัญหามาเคาะประตูอยู่ที่หน้าบ้านด้านตะวันตกของประเทศไทยแล้ว
@@ ต้องเป็น Peace Broker ไม่ใช่แค่ Facilitator
“ผมใช้คำว่าโบรกเกอร์ ผมคิดว่าบทบาทเดิมเราเป็นโบรกเกอร์ ผมไม่ได้ติดภาษาสมัยใหม่ เราไปติดภาษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก) แต่ผมว่าบทบาทเก่าเราที่ชัดเจนเป็น Peace Broker
ผมคิดว่าบทบาทอันนี้ ยังอยากเห็นกระทรวงต่างประเทศ เห็นรัฐบาล เห็นหน่วยงานความมั่นคงเข้ามารับรู้ แล้วทำงานร่วมกัน การส่งความช่วยเหลืออะไรอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคิดมากกว่าความช่วยเหลือ เพราะเราไม่สามารถแบกรับปัญหาไปได้เรื่อยๆ
ฉะนั้นรัฐบาลไทยต้องคิดถึงปัญหานี้ในมิติของภาพกว้าง หรืออาจจะต้องคิดถึงปัญหาเมียนมาในบริบททางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย
@@ ดึง 6 ตัวละครร่วม - ไทยเจ้าภาพ
ผมคิดว่าวันนี้ถ้าเปิดโต๊ะเจรจา แน่นอนว่าเราไม่สามารถเอาไทยเป็นหลักได้ แต่ผมยังยืนยันว่า ไม่มีพื้นที่ไหนเหมาะในการเปิดโต๊ะเจรจากว่าประเทศไทย แน่นอนเราอาจจะต้องคิดถึงผู้มีส่วนร่วมอย่าง สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ผมว่าตัวละครอีก 6 ตัวเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อ แต่ในขณะเดียวกันตัวละคร 6 ตัวนี้ ถ้าประเทศไทยแอคทีฟ สามารถคิดที่จะผลักดันได้ ผมว่าเราชวนตัวละคร 6 ตัวเข้ามาชวนคิดชวนคุยในกรณีเมียนมาในไทย ผมเชื่อว่าเราทำได้ แต่ถ้าเราไม่ทำ ก็จะมีตัวละครอื่นเข้ามาทำแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากเห็นสถานการณ์สงคราม
ในวันนี้สถานการณ์สงครามกระทบจีนไหม...กระทบ กระทบอินเดียไหม...กระทบ แต่ผมว่าโจทย์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเรามันมีความชัดเจน ถ้าเราตัดสินใจที่จะมีบทบาท ผมว่าวันนี้โอกาสมาแล้วละ
ไม่อยากใช้คำว่า วันนี้วิกฤตเมียนมาเป็นโอกาสของไทย แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่าให้วิกฤตในเมียนมากลายเป็นวิกฤตไทย แล้วจะกลายเป็นวิกฤตของนโยบายต่างประเทศไทยด้วย
แล้วที่สำคัญความสำเร็จไม่ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด เพียงแค่มีความริเริ่ม สำหรับผมก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสำเร็จทางการทูตของไทย ถ้ากระทรวงต่างประเทศ ถ้ารัฐบาลไทยคิดในมิติอย่างนี้ เพียงแค่ขอเดินก้าวแรก มันจะทำให้เกิดก้าวที่สอง แต่ถ้าไม่เดินเลย เราจะไม่มีก้าวที่หนึ่งและก้าวที่สอง”
---------------------
ขอบคุณ : ถอดความสัมภาษณ์จาก The Reporters
ขอบคุณ : ภาพปกจาก the irrawaddy