ห้วงที่มีการตั้งคำถามถึงการทำงานของ “คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเฉพาะการไปเห็นชอบ JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” กับบีอาร์เอ็น
โดยมี “โรดแมป” หรือ “แผนที่เดินทาง” ในรายละเอียดค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ และ “กูรูปัญหาใต้” บางส่วน
จู่ๆ ก็ปรากฏเอกสารแถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และอธิบายความเป็นมาของ JCPP ทำนองว่าไม่ได้มีอะไรน่ากังวล เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกติกา “รัฐเดี่ยว” และ “รัฐธรรมนูญของไทย”
อ่านประกอบ : นักสันติภาพไทย-เทศ ออกแถลงการณ์หนุนพูดคุยดับไฟใต้ - JCPP
ผู้ลงนามในเอกสารนี้มี 4 คน เป็นชาวต่างประเทศ 3 คน ซึ่งไล่ดูประวัติแล้วมีประสบการณ์ผ่านงานกระบวนการสันติภาพในหลายๆ พื้ันที่ขัดแย้งของโลก เช่น ไอร์แลนด์เหนือ
ส่วนคนไทย 1 คน คือ รศ.ดร.มารค ตามไท นักวิชาการด้านสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ และอดีตคีย์แมนในกระบวนการเจรจาสันติภาพ กำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ.2553-2554)
หลังจากแถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ เผยแพร่ออกมา ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ “ทีมข่าวอิศรา” พยายามขอสัมภาษณ์ อาจารย์มารค แต่อาจารย์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวทางโทรทัศน์ดังนี้
- เรื่องเอกสารแถลงการณ์ ได้พูดไปหมดแล้วบนเวทีเสวนา ให้ไปดูไลฟ์สด
- ความคิดเห็นที่ว่าทำไมต้องคุยกับบีอาร์เอ็นด้วย อาจารย์มารค ตอบว่า เป็นคนละเรื่องกับเอกสาร ขอไม่พูด
- ถามต่อว่า ทำไมต้องตั้งคณะพูดคุยฯ อาจารย์มารค ตอบว่า ให้ไปถามรัฐบาล ตนในฐานะนักวิชาการไม่รู้อะไร แต่รัฐบาลตอบได้
สำหรับไลฟ์สดการเสวนาที่ อาจารย์มารค พูดถึงและบอกว่าตนได้พูดเรื่องแถลงการณ์สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุขไปแล้วนั้น คือ “เวทีการปรึกษาหารือสาธารณะ & SLAPP : ความจริง ความกลัวและแสงสว่าง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค.2567 ที่ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“ทีมข่าวอิศรา” คัดเนื้อหามาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ JCPP และกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ
“ในตัว JCPP ตัวที่ซ่อนอยู่และเห็นว่ามีความสำคัญ มีพลังมากที่สุด คือ การปรึกษาหารือสาธารณะ (public consultation) ผมยังคิดว่าทั้งฝ่ายไทยและ BRN ตอนเขียนอันนี้ขึ้นมา ผมยังแปลกใจเลย ตอนเห็นมีอันนี้ เพราะมันสร้างตัวละครสำคัญนอกจากรัฐไทยกับ BRN ก็คือประชาชน ชาวปัตตานี การเขียนอันนี้เป็นประตูที่ทำอะไรได้เยอะ ต้องใช้อันนี้ขับเคลื่อนอย่างอื่น”
“การปรึกษาหารือสาธารณะ ไม่ได้หมายความว่า สาธารณะทำตาม JCPP มันรวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบ JCPP ด้วย คือสาธารณะหมายถึงเราเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพทั้งหมดเลย มันไม่ใช่เรื่องแค่เจรจาลดความรุนแรง พอเอาคำว่าสาธารณะ จึงสำคัญ เปิดทุกอย่างเลย…เปิดกว้าง เพียงแต่ทำอย่างไร ผมก็ยังไม่รู้ว่าใครจะมาฟัง เพราะว่าอย่างที่มีการถกเถียงอย่างที่หลายคนบอก เช่น ความปลอดภัยของ BRN เข้ามาฟังแล้ว เดี๋ยวคนที่อยากติดตามเข้าไปฟัง ก็ต้องติดตามไปด้วย คือมันยังวุ่นวายเรื่องเทคนิค กระบวนการ แต่มันเป็นช่องทาง และช่องนี้ลบไม่ได้ ถ้ากลุ่มสนทนาสองฝ่ายนี้เกิดเห็นพ้องกัน หรือไม่เอาอันนี้ ก็แปลว่าทุกอย่างก็จบ”
“ส่วนของการเผยแพร่แถลงการณ์ (สนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุข) นั้น ผู้เชี่ยวชาญก่อนหน้านี้มีอยู่ 5 คน ได้ออกไป 1 คน เหลือ 4 คน ผมก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ ผมไม่รู้จักสักคนเลยก่อนหน้านี้ ผมยังงงเลยว่าทำไมมาขอให้ผมมาอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะว่าหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญ คือ คนอื่นไม่รู้เรื่องปัตตานีเลยนะ เพิ่งมารู้หลังจากเป็น แล้วค่อยๆ เรียน ไม่ใช่คนที่รู้เรื่องอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แต่มีประสบการณ์มากที่อื่น เช่น คนหนึ่งเป็นหัวหน้ากระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ มีเยอรมัน มีนอร์เวย์ คือเขามีประสบภารณ์ พยายามสร้างกระบนการสร้างสันติภาพ จะเหมือนหรือไม่เหมือนปัตตานีเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่รู้ปัตตานีคืออะไร ตอนมาแต่เขามีประสบการณ์”
“หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มีสองอย่าง หน้าที่ที่หนึ่ง ไม่เสนออะไรทั้งสิ้น และไม่ออกแบบอะไรทั้งสิ้น JCPP ไม่เกี่ยวอะไรสักอย่าง และถ้ามีสองฝ่ายมีคำถาม รู้สึกน่าจะทำอันนี้แต่ไปไม่ถูก เพราะติดอันนี้อันโน้น ก็ถามประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าเคยเจออย่างนี้หรือไม่ ที่นี่ที่โน่น บางคนก็บอกเคย พอเล่าให้ฟัง สองฝ่ายก็บอกว่าไม่เกี่ยว มันต่างเกินไป ก็ไม่เป็นไร”
“หน้าที่ที่สองของผู้เชี่ยวชาญ คือ ถ้าเมื่อไหร่ออกมาแล้วเหมือนเข้าใจไม่ตรงกัน แล้วพูดตรงกันข้าม ก็จะเป็นคนบอก เป็นพยานของการพูดระหว่างสองฝ่าย แล้วจะบอกว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นในที่นี้ คือต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นระหว่างคุยกันเองตอนพักเบรกกินกาแฟ ถ้าเราไม่อยู่เราก็ไม่เกี่ยว ต้องเฉพาะที่เราเป็นสักขีพยาน แล้วก็บอกว่าอันนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ แล้วก็ทำไป”
“อีกหน้าที่หนึ่งของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่บอกว่าดีหรือไม่ดี หน้าที่หนึ่งก็คืออยู่ด้วยกับกระบวนการนี้ แต่หน้าที่เราไม่ใช่ไปบอกว่าควรร่างอย่างไร ตัวเองไม่ใช่ผู้ร่าง แต่อยู่กับผู้ร่าง แล้วก็ช่วยเวลาติดขัด แนะลองอันนี้สิ ลองอันนั้นไหม ให้ทางเลือกต่างๆ และบางทีก็คิดเอง”
“ที่นี้ฉบับที่ออกมาก่อนที่ออกอันนี้ (หมายถึง JCPP) ผมก็ตั้งคำถามก่อนที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ในที่ต่างๆ ผมบอกว่าถ้าจริงใจเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ จริงๆ ต้องเอา JCPP ให้สาธารณะเลยไม่ต้องมารั่วไหลอะไร แจกเลย เพื่อขอความเห็นจากสาธารณะ”
“เอกสาร JCPP เป็นของคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย กับคณะพูดคุยของ BRN เป็นของสองกลุ่มนี้ เราอยู่ดีๆ จะไปทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่เราเสนอ ถามคำถามได้ แต่ทำไมไม่แจกสาธารณะ ในเมื่อบอกว่าสาธารณะสำคัญ แต่มันไม่ถึงจุดนั้นว่าจะแจก มันกลายเป็นเกิดอะไรในหนึ่งอาทิตย์หรืออะไรไม่รู้หลายอย่าง…”
อนึ่ง สำหรับผู้เชี่ยวชาญ 4 คนที่ อาจารย์มารค พูดถึงนั้น เรียกตัวเองในแถลงการณ์ว่า เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้สังเกตการณ์กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ริเริ่มตั้งคณะพูดคุยเมื่อปี 2562 (ชุดก่อนชุดนายฉัตรชัย บางชวด)