การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้ยุติลงในระยะเวลาอันสั้นตามที่บางฝ่ายคาดการณ์
สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่รัสเซียกรีฑาทัพเขาโจมตียูเครน แต่ยังมีความเคลื่อนไหวของฝั่งยูเครนที่ตอบโต้ ภายใต้การสนับสนุนแบบจำกัดวงของสมาชิกนาโต้และสหรัฐ
ขณะเดียวกันก็มีสมรภูมิที่รัสเซียเป็นฝ่ายถูกโจมตี ทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
ภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน ถูกประเมินผ่านสายตาของอดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันผันตัวเป็นนักวิชาการอิสระด้านความมั่นคง เอาไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอสรุปสาระสำคัญนำมาฝากกัน...
- มุมมองต่อสงครามที่กำลังเกิดขึ้น
มีสงครามถึง 3 theater หรือ 3 ยุทธบริเวณ คือ
1.สงครามที่ใช้เครื่องมือด้านการทหาร เป็นการรบแบบตัวต่อตัวระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งดูเหมือนรัสเซียยังครองความได้เปรียบ
2.สงครามทางเศรษฐกิจ สงครามนี้เหมือนจะเป็น 30 รุม 1 (หรือมากกว่านั้น) สงครามนี้รัสเซียตกเป็นรองและเริ่มพ่ายแพ้อย่างเห็นได้ชัด
3.สงครามสื่อ จะเรียกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติการข่าวสาร หรือปฏิบัติการจิตวิทยาก็ได้ สงครามนี้ รัสเซียก็พ่ายแพ้อย่างชัดเจน
- ความเสียหายและเหยื่อของสงคราม
ในด้านการทหารเห็นได้ชัดว่าทั้งยูเครนและรัสเซียต่างสูญเสียกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปเป็นจำนวนมาก และมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของสงครามจำนวนไม่น้อย ด้านหนึ่งคือประชาชนที่อยู่ในยูเครน และอีกด้านหนึ่งคือประเทศที่ต้องแบกรับภาระดูแลผู้อพยพ
ส่วนสงครามทางเศษรฐกิจที่นาโต้และสหรัฐใช้เป็นอาวุธ ดูเหมือนไม่ใช่แค่รัสเซียที่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนทั้งโลกกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้ชัดจากขณะนี้ราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากสงครามยืดเยื้อ
ขณะที่อิทธิพลของสงครามข้อมูลข่าวสาร ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนในทุกประเทศที่อาจถือหางฝ่ายที่แตกต่างกัน
ตรงจุดนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม ไม่ใช่คนยูเครนหรือคนรัสเซีย และคนที่ชนะสงครามก็ไม่ใช่รัสเซีย สหรัฐ หรือนาโต้ แต่ข้อเท็จจริงคือประชาชนไม่ว่าเชื้อชาติใดล้วนตกเป็นเหยื่อของสงครามนี้ทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่ารัสเซีย สหรัฐ หรือนาโต้ ต่างอาศัยประชาชนเป็นเสมือนตัวประกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบในสงคราม
- แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต
1.การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนอาจเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยยุติความรุนแรงของสงครามได้ (ล่าสุดมีข่าวการเจรจาครั้งที่ 2 ที่ชายแดนเบลารุส ใกล้กับโปแลนด์ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 3 มี.ค.) แต่ผลลัพท์ที่เกิดน่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างมากเพียงแค่การระงับยับยั้งการทำสงครามทางทหาร แต่ไม่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรที่เป็นศัตรูกัน หวนกลับมาคืนดีต่อกันได้ เพราะพื้นฐานของนโยบาย หรือแก่นแกนของยุทธศาสตร์ของทั้งรัสเซีย กับสหรัฐและนาโต้ ต่างกำหนดให้แต่ละฝ่ายเป็นศัตรูในระยะยาวไปแล้ว และเมื่อได้กำหนดความเป็นมิตรและศัตรูเอาไว้ในยุทธศาสตร์แล้ว ก็ยากที่จะหวนกลับมาคืนดีกันได้
สถานการณ์ด้านความมั่นคงในอนาคต แม้สงครามรัสเซียกับยูเครนจะสามารถยุติลงได้ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของสถานการณ์ที่กำลังขับเคลื่อนให้โลกก้าวไปสู้สภาวะการแข่งขันอิทธิพลกันระหว่าง “สองขั้วอำนาจ” คือ ขั้วอำนาจที่มีสหรัฐกับนาโต้เป็นแกนนำ กับขั้วอำนาจที่มีรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ (ซึ่งจีนถูกสหรัฐกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติว่าเป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆ) โดยมีพันธมิตรที่เพิ่งรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เป็นฝ่ายสนับสนุน
- สถานการณ์เฉพาะหน้าและตัวแปรที่ต้องเฝ้าระวัง
ปัจจัยชี้ขาดสงครามทั้ง 3 ยุทธบริเวณ อยู่ที่ใครจะทนได้มากกว่ากัน และใครจะยอมถอยก่อน
ทั้งนี้ ในแง่ยุทธบริเวณในด้านการรบด้วยกำลังทหาร คาดว่าระยะเวลาของการรบคงดำเนินไปอีกไม่นาน คงจะเห็นผลแพ้ชนะ แต่การฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทรัพย์สินและผลกระทบทางเศรษฐกิจคงจะใช้เวลานานกว่ามาก แต่ที่ต้องใช้เวลานานที่สุดคือการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ความเสี่ยงที่น่ากังวลมากที่สุด คือ สภาพของสงครามเย็นรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงท่าทีของสหรัฐที่จะเข้าแทรกแซงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งกรณีนี้มีความล่อแหลมมากที่รัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายสูงซึ่งได้พัฒนาขึ้นใหม่ (สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้)
ภาพของสถานการณ์เช่นนั้น จะนำไปสู่สถานการณ์ที่นักการทหารกังวลมาก คือ MAD (Mutual Assured Destruction) หรือเรียกภาษาชาวบ้านก็คือ หายนะไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
- ทำไมการรบส่อเค้ายืดเยื้อ?
สาเหตุที่รัสเซียไม่สามารถเผด็จศึกยูเครนได้ในระยะเวลาอันสั้นเหมือนที่บางฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะยูเครนเป็นประเทศใหญ่ มีอาวุธมากพอที่จะยับยั้งการรุกของรัสเซียได้พอสมควร แม้ว่ารัสเซียจะโจมตีและทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เช่นที่ตั้งทางทหาร สนามบิน ตัดระบบโทรคมนาคม (ตัดระบบ c4i ได้แก่ ระบบ command control communication computer และ intelligence) ได้เกือบทั้งหมดก็ตาม
แต่การรบจริงจำเป็นต้องเข้ายึดพื้นที่ ควบคุมผู้มีอำนาจสั่งการ ทำลายกำลังรบของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร หากยูเครนยังไม่ยอมแพ้และปรับกองกำลังเป็นหน่วยรบจรยุทธ์ หรือมีนักรบต่างชาติเข้าไปร่วมรบ ย่อมควบคุมยากยิ่งขึ้นไปอีก
- จีนยื่นมือเข้าช่วยเจรจา
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ก็คือ กรณีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน โทรศัพท์หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน เห็นได้ชัดว่าเป็นการดำเนินความพยายามที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน เพราะจีนใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศมาก สอดรับกับการเปิดเจรจารอบ 2 ระหว่างรัสเซียกับยูเครนในวันที่ 2-3 มี.ค.
การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนรอบแรก ทุกฝ่ายได้เห็นข้อเรียกร้องของทั้ง 2 ชาติชัดเจนแล้ว โดยยูเครนขอให้รัสเซียยุติการโจมตีทันที ส่วนรัสเซียเรียกร้องให้ยูเครนมีกองทัพที่เป็นกลางและแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้
ข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่าย ถือว่ายังมีช่องทางผ่อนปรนได้ คาดว่าจีนจะแสดงบทบาทมากขึ้นในเรื่องนี้ แต่จะไม่แทรกแซงการตัดสินใจ
- ทำไมจีนต้องแสดงบทบาท
นอกจากเป็นเพราะจีนใกล้ชิดกับทั้งยูเครนและรัสเซียแล้ว ทั้งสองประเทศยังอยู่ในแผนสำคัญของนโยบาย Belt and Road Initiative หรือ BRI ด้วย
ขณะเดียวกัน สงครามที่เกิดขึ้น จีนเองก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจจะมากกว่าทุกประเทศด้วยซ้ำเพราะสงครามที่อาจจะขยายตัวในอนาคต จะกระทบโครงการ BRI ที่จีนทุ่มเงินลงทุนลงไปจำนวนมหาศาลและหลายโครงการคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าแม้แต่ยุโรปเองก็อยากให้สงครามยุติ เพราะเดือดร้อนจากความขัดแย้งนี้ด้วยเช่นกัน
- โลก 2 ขั้ว สงครามเย็นระลอกใหม่
ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในสถานการณ์นี้ คือสหรัฐ เพราะน่าจะพอใจกับสภาพที่โลกกลับไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจอีก เนื่องจากจะลดอิทธิพลของจีน และดึงให้ยุโรปกลับมาอยู่ใต้ร่มเงาของตนเองอีกครั้ง ส่วนประเทศที่เหลือก็ต้องเลือกข้าง
ท่าทีของสหรัฐที่ประกาศสนับสนุนเงินและอาวุธ แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายต้องการทำสงครามยืดเยื้อ สร้างกลุ่มต่อต้านรัสเซียขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวทางที่สหรัฐถนัด แต่ผลที่จะเกิดตามมายิ่งทำให้รัสเซียเร่งยึดยูเครนให้จบเร็วขึ้น เพราะอ่านแผนนี้ออกเช่นกัน
ที่ผ่านมาเคยมีปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารและจิตวิทยา ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่จนเกิดการ “ปฏิวัติส้ม” โค่นล้มประธานาธิบดียูเครนที่นิยมรัสเซียมาแล้ว
บทบาทของสหรัฐเรียกว่า win-win คือแสดงความรับผิดชอบในการช่วยยูเครนภายใต้ข้อจำกัดที่ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้ กับทำให้รัสเซียติดกับดักการสู้รบ จนอาจเป็นสงครามยืดเยื้อ เพราะจุดอ่อนที่รัสเซียแพ้ในสงครามอัฟกานิสถานก็คือสงครามยืดเยื้อ
ขณะเดียวกันยุโรปก็เดือดร้อน ต้องเจอวิกฤติพลังงานจากผลของการคว่ำบาตร ต้องนำน้ำมันสำรองของตนออกมาใช้ และสหรัฐก็จะแสดงบทบาทกดดันซาอุอาระเบียและชาติตะวันออกกลางให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ยุโรป
ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีข่าวว่าสหรัฐเตรียมเชิญประชุมสุดยอดสหรัฐกับอาเซียน เป้าหมายโดยนัยก็เพื่อกดดันให้อาเซียนเลือกข้าง ทั้งกรณีรัสเซีย และกรณีของจีน
แน่นอนว่าทั้งจีนและรัสเซียมองแผนนี้ออก และจะพยายามสกัดแผนสหรัฐในวิถีทางของตนเอง
โอกาสที่โลกจะเผชิญกับสงครามเย็นรอบใหม่จึงสูงยิ่ง!