อพท.จับมือ ม.ราชภัฏสงขลาและภาคีเครือข่าย ผลักดัน 14 ชุมชมต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายรายได้สู่ชุมชน ยก"ทรายขาว"เป็นแบบอย่างการอยู่ร่วมพุทธ-มุสลิม
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ในระหว่างปี 2561 - 2563 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่ ให้มีคุณภาพตามการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน CBT Thailand ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านกระบวนการ Co-Creation “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์”
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เป้าหมายในการดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนคือ การร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นสู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ รวมถึงการร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบและขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์ คือ ความสามัคคีปรองดองและความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ผลลัพธ์ของความสำเร็จเห็นได้จากชุมชนศักยภาพที่เป็นชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผล ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย CBT Thailand จำนวน 14 ชุมชน ประกอบด้วย จ.ยะลา จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ชุมชนตาพะเยา ชุมชนอัยเยอร์เวง และชุมชนรามัญ จ.ปัตตานี จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนบางปู ชุมชนตะโละกาโปร์ ชุมชนบานา และชุมชนยะรัง จ.นราธิวาส จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ชุมชนบ้านภูเขาทอง และชุมชนตลาดน้ำยะกัง”
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ครบกำหนดแผนการพัฒนาระยะ 3 ปีแล้ว แต่แผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาวยังคงดำเนินต่อไป โดยให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการสานต่อ มอบแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศ จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมทั้งส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA รวมไปถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand
นายปรารมภ์ สลำเส้ง ประธานชุมชนเครือข่ายท่องเที่ยวในเขื่อนบางลาง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม ได้เครือข่าย รู้จักเพื่อนๆมากขึ้น แลกเปลี่ยนกันและกัน เกิดความเข้าใจกันระหว่างคนในชุมชน คนต่างศาสนิก เราทำการท่องเที่ยวในเขื่อนบางลางที่มีพี่น้องมุสลิมทำเช่นกัน เมื่อมีลูกค้ามา เราก็แบ่งกัน ช่วยเหลือกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน นักท่องเที่ยวมีทั้งคนในและนอกพื้นที่ นักท่องเที่ยวมาจากภาคใต้ตอนบนและภาคกลางมากันมาก เมื่อเขามาเที่ยวเบตง แล้วมายังเขื่อนบางลาง มาธารโต ไปยะลา ปัตตานีกันต่อ จากนี้ก็ต้องจัดการกันเองในชุมชน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนทรายขาว ที่มีวัดทรายขาวและมัสยิดบาโงยลางาอยู่ใกล้กัน ไม่แบ่งแยกกัน พูดจากใจว่า ประทับใจในเรื่องของชุมชนพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสามัคคี ผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ของทรายขาวมีการสลับตำแหน่งผู้นำชุมชนกัน เช่น สมัยนี้ผู้ใหญ่เป็นไทยพุทธ สมัยหน้ามุสลิมก็จะมาเป็นผู้ใหญ่ ไม่แก่งแย่งกัน สลับกันมาเป็นผู้นำในทุกระดับ เป็นสิ่งสวยงามมากๆ เป็นวัฒนธรรมที่ควรหยิบยกมาเป็นตำบลตัวอย่างของชายแดนใต้ที่มีวิธีบริหารจัดการให้คนสองศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง สามัคคีกันถึงทุกวันนี้ นำไปเป็นแบบอย่างเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ