การหาม นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.62 ด้วยอาการหมดสติ สมองบวม หลังถูกคุมตัวส่งเข้า "ศูนย์ซักถาม" ได้เพียงคืนเดียว ทำให้กระแสวิจารณ์เรื่องการทำงานของ "ศูนย์ซักถาม" ของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้หวนกลับมาอีกครั้ง
โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องซ้อมทรมาน แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการก็ตาม...
บทบาทของ "ศูนย์ซักถาม" ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นประเด็นคาใจและถูกพูดถึงมานานในหมู่ชาวบ้านร้านตลาด ภาคประชาสังคม และนักสิทธิมนุษยชน โดย "ศูนย์ซักถาม" ในพื้นที่เคยมีมาแล้วหลายศูนย์ และปิดๆ เปิดๆ มาแล้วหลายครั้งจากปัญหาร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปัจจุบันจากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่ายังมี "ศูนย์ซักถาม" ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างน้อย 4 ศูนย์ ที่ทำหน้าที่ "ซักถาม" อย่างเป็นทางการ เวลามีผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะผู้ที่ถูกจับยังไม่มีสถานะเป็น "ผู้ต้องหา" จึงต้องนำตัวไปควบคุมและซักถามยังสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพัก
ศูนย์ซักถามทั้ง 4 ศููนย์ ประกอบด้วย
1. ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขกท.สน.จชต.) เป็นศูนย์ซักถามหลักในพื้นที่ ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
2. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารเช่นกัน แต่อดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เคยถูกควบคุมตัวส่งศูนย์ซักถามแห่งนี้ ให้ข้อมูลว่าเป็นคนละที่กับหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ แต่ก็อาจทำงานควบคู่กัน
3. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ในค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา
4. ศูนย์พิทักษ์สันติ เป็นศูนย์ซักถามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เดิม ใน อ.เมือง จ.ยะลา
เป็นที่ทราบกันในวงการว่า หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร คือศูนย์ซักถามหลักของฝ่ายความมั่นคงในปัจจุบัน โดยไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายเดียวกัน ทำหน้าที่คู่ขนานกันไปหรือแยกส่วนกัน มีลักษณะเกื้อหนุนกันหรือไม่ อย่างไร
หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 แทน "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" หรือ ศสฉ. ที่ถูกยุบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.54 ตามคำสั่งของ พ.อ.ปิยะวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการ ศสฉ.ในสมัยนั้น (ต่อมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4) หลังมีเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง กระทั่งมีการเรียกร้องให้ยุบ ศสฉ.
สำหรับ "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" เป็นศูนย์ควบคุมตัวและซักถามผู้ต้องสงสัยของฝ่ายทหารที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมชื่อ "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน คือภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยในช่วงที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ด้วยการปูพรม "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม" ผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก เมื่อราวปี 49-51 ฝ่ายความมั่นคงได้เปิดศูนย์ควบคุมตัวขึ้น 4 แห่ง และศูนย์วิวัฒน์สันติเป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องซ้อมทรมาน จนต้องปิดศูนย์ไป และเปิด "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ขึ้นแทน แต่ก็ต้องปิดไปอีกเพราะปัญหาเดิม กระทั่งมีการเปิดหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ขึ้นมาในท้ายที่สุด และปฏิบัติการมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ได้รับการพัฒนาอาคารสถานที่ โดยเฉพาะห้องควบคุมตัวจนได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่เคยให้ข้อมูลว่า ประตูห้องควบคุมไม่ได้ใส่กุญแจ และยังมีสถานที่สันทนาการ รวมทั้งสนามกีฬาสำหรับออกกำลังกายด้วย
ผู้ที่มีบทบาทพัฒนาศูนย์ซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็คือ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ซักถามเอง ทั้งสมัยที่ใช้ชื่อศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ โดยภายในศูนย์ซักถามมีการปักป้าย "Art Resort" ไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยคำว่า "อาร์ต" เป็นชื่อเล่นของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ที่รู้จักกันในนาม "บิ๊กอาร์ต"
ศูนย์ซักถามทุกยุค ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปอย่างไร ก็มีเรื่องร้องเรียนและคดีคาใจเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ตลอดจนการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
เริ่มจาก "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ถูกร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ซึ่งฝ่ายทหารยอมรับว่ามีปัญหาตามที่ร้องเรียนจริง ทำให้ต้องปิดศูนย์ ก่อนจะเปิดใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อ
"ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" มีกรณีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.53 โดย นายสุไลมาน เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ถูกพบเป็นศพในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงภายในห้องควบคุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเป็นการผูกคอตายเอง และมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระแสวิจารณ์ได้ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ในปีถัดมา และมีคดีความขึ้นสู่ศาล
"หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ" มีกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.58 เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุภายในห้องควบคุมตัวเช่นกัน ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่าไม่พบเงื่อนงำการทำร้ายหรือซ้อมทรมาน แต่ญาติยังติดใจ ปัจจุบันมีคดีอยู่ในชั้นศาล
"ศูนย์พิทักษ์สันติ" เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังเกิดกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงผูกคอตายในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 19 ก.ค.59 โดยญาติไม่ติดใจ เพราะเชื่อว่าผูกคอตายเองจากความเครียดในปัญหาส่วนตัว และถูกจับกุมซ้ำอีก จึงไม่เป็นคดีความ
ในระยะหลัง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยืนยันอย่างแข็งขันว่าไม่มีปัญหาการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกศูนย์ควบคุมตัว ที่ผ่านมาเคยมีสื่อมวลชนบางแขนงเสนอข่าวเรื่องร้องเรียนของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวและอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน ปรากฏว่าถูกหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องเป็นคดีความทั้งทางอาญาและแพ่ง (อ่านประกอบ : ทหารแจ้งจับสื่อ-ขู่ฟ้อง 10 ล้าน ตีข่าว"ซ้อมผู้ต้องสงสัย")
แต่ล่าสุดก็มาเกิดกรณีหาม นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.62 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดว่านายอับดุลเลาะถูกซักถามและควบคุมตัวโดยหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ หรือศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 หรือทั้งสองหน่วยนี้ทำงานด้วยกัน
ต้องรอดูว่าผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะบานปลายไปถึงจุดใด!?!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ
2 ศูนย์พิทักษ์สันติ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อ่านประกอบ
เอ็นจีโอจี้ปิด"ศูนย์ซักถาม"ค่ายอิงคยุทธฯ ทหารโวยให้ตรวจสอบองค์กรสิทธิ์บ้าง!
บุกพิสูจน์ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ไขข้อข้องใจ “ซ้อม-ทรมาน” ผู้ถูกเชิญตัว
เส้นทาง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพ4 คนใหม่ น้องชายผบ.ทบ.