เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุรุนแรงส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่กำลังพล หรือฐานปฏิบัติการของ อส. หรือ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกำลังของฝ่ายปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย
โดยเหตุรุนแรงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขึ้นป้ายผ้า และพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความข่มขู่ อส. ในพื้นที่ต่างๆ โดยกดดันให้ลาออกจากราชการ เลิกรับใช้รัฐไทย หรือ “สยาม” ตามที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเรียกขานประเทศไทย และรัฐบาลไทย
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.68 หรือวันพุธที่ผ่านมา พบการแขวนป้ายผ้าในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เขียนข้อความว่า “อส.จงลาออกไป อย่ารับใช้รัฐสยามอีก กลับไปอยู่กับครอบครัว”
ถัดมาวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ พบป้ายผ้า และพ่นสีสเปรย์บนท้องถนน หรือตามกำแพง ข้อความคล้ายๆ กัน ในพื้นที่ อ.ยะรัง อ.สายบุรี อ.กะพ้อ อ.ปะนาเระ อ.หนองจิก อ.ไม้แก่น อ.มายอ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับ อ.โคกโพธิ์
วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.เช่นกัน ยังมีเหตุระเบิด “โชเล่ย์บอมบ์” โจมตีกองร้อย อส. อำเภอแว้ง จ.นราธิวาส ด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงกับ อส. และแขวนป้ายข่มขู่ อส. เป็นช่วงที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และค้างคืน เมื่อวันที่ 11-12 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดงานเทศกาลท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประจำปี 2568 ที่ จ.ปัตตานี
โดย นายอนุทิน มีกำหนดการไปเยี่ยมฐาน อส.ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ในพื้นที่ด้วย
สถานะของนายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ อส.ทั่วประเทศ และ อส.จังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับกอง อส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนงานความมั่นคง จะรับภารกิจดูแลความปลอดภัยพื้นที่แทนกำลังทหารหลัก ในปี 2570 คาดว่าเป็นสาเหตุให้กลุ่มก่อความไม่สงบพุ่งเป้าโจมตี อส. และข่มขู่ อส.ให้ลาออกจากราชการ เพื่อลดทอนขวัญกำลังใจของ อส.
แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง บอกว่า เหตุการณ์ข่มขู่ อส. น่าจะถือโอกาสที่ฝ่ายการเมืองลงพื้นที่ สร้างสถานการณ์ว่า กลุ่ม BRN ยังคงมีตัวตน มีพลัง สั่งการจากจุดเดียวได้ และปฏิบัติได้หลายพื้นที่
@@ จากจดหมายถึงป้ายผ้า... พัฒนาการขู่ อส.
สำหรับปฏิบัติการข่มขู่ อส. เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคนร้ายใช้วิธีส่งจดหมายไปยังที่ทำงาน และบ้านของ อส. ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส หลายอำเภอ มีการเขียนชื่อ อส.บนหน้าซองจดหมาย ระบุเป็นรายคน ตามไทมไลน์และพื้นที่ดังนี้
ช่วง เม.ย.67 เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ช่วง ก.ค.67 เกิดขึ้นที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดยะลา
โดย 2 กรณีแรกไม่ปรากฏเป็นข่าว และไม่มีรายละเอียดมากนัก จึงยังไม่ได้รับความสนใจ และไม่สร้างความตื่นตระหนก
19 ส.ค.67 - พบจดหมายขู่ในพื้นที่ อ.มายอ อ.แม่ลาน และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
23 ส.ค.67 - พบจดหมายขู่ใส่ในซองจดหมาย จ่าหน้าถึงเจ้าหน้าที่ อส. 14 นาย ซึ่งเป็น อส.อำเภอทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
30 ส.ค.67 - พบจดหมายข่มขู่เจ้าหน้าที่ อส. ที่ร้านน้ำชา และมัสยิดใน ต.แป้น ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี และ ต.ดอนทราย กับ ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
30 ส.ค.67 - พบจดหมายข่มขู่ใส่ซองจ่าหน้าถึงเจ้าหน้าที่ อส. รวม 6 ฉบับ ที่มัสยิด ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา
1 ก.ย.67 - พบจดหมายข่มขู่ เขียนระบุชื่อเจ้าหน้าที่ อส.อำเภอจะแนะ 5 ฉบับ วางหน้าบ้านของ อส. 5 นาย เป็น อส.ชคต.จะแนะ 4 นาย และ อส.ชคต.ช้างเผือก 1 นาย
7 ก.ย.67 - พบจดหมายข่มขู่ใส่ซอง จ่าหน้าถึงเจ้าหน้าที่ อส.ในพื้นที่ 2 ตำบลของ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวม 7 ฉบับ วางหน้ามัสยิด 2 ตำบล คือ ต.ตันหยงลิมอ และ ต.ตันหยงมัส
จดหมายข่มขู่ทั้งหมด มีข้อสังเกตที่เป็นความต่างของแต่ละเหตุการณ์ดังนี้
- จดหมายขู่ระบุชื่อจ่าหน้าซอง พบครั้งแรกที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
- จดหมายขู่ที่ส่งถึงหน้าบ้าน อส. พบครั้งแรกที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
- นับถึงวันนี้มีจดหมายขู่ครบแล้วทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความมั่นคง
- จากข้อมูลของทหาร อาจมี อส.ถูกขู่พื้นที่อื่นอีก เช่น อ.เมือง และ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส แต่ไม่เป็นข่าว