ชาวสวนทุเรียนยะหา จ.ยะลา โอดมาตรการคุมเข้มเดินทางข้ามจังหวัด ทำราคาทุเรียนบ้านตกฮวบ เหตุพ่อค้าคนกลางอ้างปัญหาการเดินทางเข้าพื้นที่ วอนรัฐขอความชัดเจนการเดินทางเข้า-ออกสำหรับการขนส่งผลผลิตของชาวสวนและพ่อค้ารับซื้อทุเรียน
หลังจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ จ.สงขลา ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมการเดินทาง ตามที่มีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 25 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญของข้อกำหนด คือ งดการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดและออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทาง ซึ่งผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ ต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นในการเดินทาง เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ
จากมาตรการดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา เป็นอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบต่อการเข้ามาซื้อทุเรียนของพ่อค้าคนกลาง
นายอนุวัฒน์ ทองธรรมชาติ กำนันตำบลตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า หลังจากการกำหนดมาตรการควบคุมการการเดินทางข้ามจังหวัดวันแรก ส่งผลให้ราคาทุเรียนบ้านลดลงกว่าช่วง 2-3 วันก่อนหน้านั้น เพราะพ่อค้าคนกลางอ้างว่ามีปัญหาในการเดินทาง โดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ เพราะมีความยากลำบากมากขึ้น
สำหรับทุเรียนบ้านในพื้นที่ ขณะนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มฤดูกาลได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และสัปดาห์หน้าทุเรียนพันธุ์ชุดแรกจะสามารถตัด เพื่อนำจำหน่ายได้ ถือเป็นโอกาสของชาวบ้านในพื้นที่ที่จะขายทุเรียน แต่หลังจากทราบข่าวว่าจะมีการล็อกดาวน์ ทุกคนกังวลทันที
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรับเหมาทุเรียนจากในสวน ซึ่งปีนี้ถือว่าราคาสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ราคาเหมาทุเรียนในสวนปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นแปลงขนาดกลาง ราคาเหมาล้านกว่าบาท ปีนี้เกือบ 2 ล้าน ฉะนั้นถ้าการล็อคดาวน์ส่งผลกระทบกับราคาทุเรียน ชาวสวนหรือพ่อค้าเหมาสวนทุเรียนจะได้รับผลกระทบเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทอย่างแน่นอน บางคนเหมาแล้ว 4-5 ล้านบาท บางราย 10 ล้านบาทก็มี
"สำหรับชาวสวนทุเรียน ช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสของชาวสวนที่จะพอหายใจได้บ้าง แต่พอเป็นเจอสถานการณ์แบบนี้...จบเลย" กำนันตำบลตาชี กล่าว
และว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ ชาวสวน และการสัญจรเพิื่อขนส่งสินค้า ตลอดจนการเข้า-ออกพื้นที่ เพราะทั้งหมดนี้ถ้าไม่ชัดเจน อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในอนาคต ฉะนั้นควรออกมาตรการให้ชัดในพื้นที่ที่มีการปิด เพราะเป็นพื้นที่เสียง เช่น อ.ธารโต จ.ยะลา พ่อค้าจากนอกพื้นที่ไปเหมาสวนไว้ล่วงหน้า จะมีมาตรการยืดหยุ่นเพื่อเข้าไปเก็บผลผลิตได้อย่างไร เพราะทุเรียนไม่สามารถแขวนไว้ได้ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็ต้องรีบตัดเอาไปขาย รอไว้ก็จะเสีย ถ้ามาตรการการไม่ชัดเจน ผลกระทบไม่ใช่แค่ร้อยล้านบาทแน่นอน
"แค่วันแรกที่มีการเริ่มใช้มาตรการควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ ก็ส่งผลให้ราคาทุเรียนบ้านจนทำให้ราคาลดลง เพราะพ่อค้าอ้างเข้าออกพื้นที่ลำบาก" กำนัน ต.ตาชี ย้ำ
นายมะยูโซะ อาบู ชาวสวนทุเรียน กล่าวว่า สวนทุเรียนของตนเจอปัญหาทุเรียนเป็นโรคบนต้นทุเรียน แต่พอร่วงลงมาทุเรียนเน่า ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน สถานการณ์โควิด ทุกอย่างแย่หมด ราคายางพาราแย่อยู่แล้ว ก็หวังว่าจะมีโอกาสหารายได้มาจากขายทุเรียนแต่ทุเรียนมาเป็นโรคอีก
"แทบเข่าทรุดเลย ตั้งใจดูแลเฝ้ารอ แต่สุดท้ายพอมันร่วงลง กลับเน่าทั้งลูก ทุกลูกเป็นแบบนั้นหมด อดเลยปีนี้ ถือว่าดวงไม่ดี" ชาวสวนทุเรียนรายหนึ่ง กล่าว