"อังคณา" จี้สอบคำสั่ง ผกก.ยะหา จับชาย-หญิง มีพฤติกรรมชู้สาวแต่งงานอ้างหลักศาสนา ชี้ละเมิดสิทธิเด็กและผู้หญิง ด้านประธานกลุ่มด้วยใจ แนะผู้ถูกบังคับใช้ "กฎชุมชน" ต้องมีส่วนร่วมและยอมรับการใช้กฎนั้นด้วย
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะหา ออกประกาศว่า หากพบ ชาย หญิง มีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาวในที่สาธารณะหรือในที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ ทางตำรวจและคณะกรรมการมัสยิด จะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม "ยุติทางเลือก" หรือ "ฮูกมปากัต" โดยการจับเข้าพิธีแต่งงานและดำเนินการตามกฎหมายข้อหากระทำอนาจารหรือกระทำชำเรานั้น ในเรื่องนี้สร้างความเป็นห่วงให้นักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ควรมีการตรวจสอบว่า คำสั่งหรือนโยบายของผู้กำกับการ สภ.ยะหา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่ โดยกฎหมายอิสลามว่า ด้วยครอบครัวมรดก พ.ศ.2489 ซึ่งใช้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการสมรส การสิ้นสุดการสมรสและการจัดการทรัพย์มรดก แต่ไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดในการบังคับให้หญิงหรือเด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ
“เคยเจอเด็กหญิงคนหนึ่งถูกชายที่มีลูกเมียแล้วหลอกให้มาเจอ แล้วถูกผู้นำศาสนาบังคับให้เด็กหญิงต้องแต่งงานโดยไม่สมัครใจ โดยอ้างว่า ทำผิดศาสนา ผิดกฎหมู่บ้าน เพราะอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง นอกจากนั้น ยังปรับแม่ของเธอฐานทำให้เสื่อมเสียแก่ชุมชน เด็กหญิงปฏิเสธการแต่งงาน เพราะต้องการเรียนหนังสือ จึงหนีออกจากหมู่บ้าน ขณะที่ครอบครัวของเธอถูกผู้นำในหมู่บ้านคุกคามและชักชวนไม่ให้ชาวบ้านคบหา เนื่องจากอ้างว่า ครอบครัวของเธอได้ทำบาปร้ายแรง ปัจจุบันหญิงคนนี้ยังกลับบ้านไม่ได้”
นางอังคณา กล่าวอีกว่า การบังคับแต่งงานเพื่อรักษาเกียรติของครอบครัวหรือชุมชน หรือแม้กระทั่งการจัดการความต้องการทางเพศของเยาวชน ด้วยการบังคับแต่งงานเป็นอีกสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะจะทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงตกอยู่ในภาวะขมขื่นไปตลอดชีวิต มีหลายกรณีที่หลังจากถูกบังคับแต่งงานไม่นานเกิดการหย่าร้าง ประเทศมุสลิมหลายประเทศ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม (OC) เสนอว่า ประเทศมุสลิมต้องแก้ไข โดยให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและให้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ให้พ่อแม่มีเวลาเอาใจใส่ครอบครัว กรณีครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ครอบครัวเป็นลักษณะผัวเดียวหลายเมีย เนื่องจากชายมีภรรยาได้ 4 คน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูกๆ ได้ทั่วถึง การบังคับเด็กแต่งงาน จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่กลับจะสร้างปัญหามากขึ้น
ตามหลักการอิสลามเป้าหมายของการแต่งงานจะให้ความสำคัญที่ การสร้างครอบครัวมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรระมัดระวังการใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง เพื่อเป็นเหตุผลในการรองรับการแต่งงานของเด็กและเยาวชนเพียงเพื่อสนองความต้องการมีเพศสัมพันธ์ แม้กฎของชุมชนและการจัดการเพื่อปกป้องเกียรติของชุมชน จะมีความสำคัญมากในท้องถิ่น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า กฎชุมชนขัดกับหลักการศาสนาหรือหลักกฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือไม่และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่มีตัวอย่างบทบันทึกวัตรปฏิบัติ (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดามุหัมมัด (ซ.ล.) ที่กล่าวถึงตอนที่ท่านได้ยุติการแต่งงาน (ประกาศให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะ) ของซอฮาบะฮฺ (สาวก) คนหนึ่ง เมื่อท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้รับทราบว่าซอฮาบะฮฺผู้นั้น (สาวก) ท่านนั้นได้บังคับลูกสาวของเขาให้แต่งงาน
อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า ประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างจำกัดในการจัดการปัญหาต่างๆ ในครอบครัวและชุมชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การหย่า การจ่ายค่าเลี้ยงดู การจัดการทรัพย์สิน รวมถึงการบังคับแต่งงาน เนื่องจากกฎหมายอิสลามที่ใช้อยู่ในพื้นที่ขาดความชัดเจน ในแง่การตีความซึ่งไม่แน่นอน เพราะขึ้นกับผู้นำศาสนาแต่ละคน โดยไม่มีประมวลหลักเกณฑ์การตัดสินตามกฎหมายอิสลามอย่างเป็นทางการ อีกทั้งผู้นำศาสนาในระดับชุมชนและระดับจังหวัดล้วนเป็นผู้ชาย ซึ่งอาจไม่เข้าใจในปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงเผชิญอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงอันเนื่องมาจากฐานคิดเรื่องเพศสภาพ รวมถึงกฎชุมชนที่ปฏิบัติโดยอ้างความยุติธรรม วัฒนธรรมและศาสนาซึ่งขาดการตรวจสอบ อีกทั้งผู้หญิงยังไม่สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐได้กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กฎชุมชนที่ปฏิบัติกันมาในหลายกรณีไม่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญในเรื่องความรัก ความเมตตา ความยุติธรรม และความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และมาตรฐานสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง
"กรณีความรุนแรงในครอบครัวและการเข้าถึงความยุติธรรมของหญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีจำนวนน้อยมากที่คดีความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยที่ส่วนมากพนักงานสอบสวนมักให้ผู้นำศาสนาทำการไกล่เกลี่ย จึงเห็นได้ว่า สัมพันธภาพระหว่างหญิงชายที่ไม่เสมอภาคกัน มีความสำคัญมากต่อการสร้างครอบครัว เช่น การมีภรรยาหลายคน ความไม่เท่าเทียมด้านการสมรสและการหย่า การบังคับแต่งงานในวัยเด็ก การจำยอมสามีเรื่องการเว้นระยะการมีบุตรทั้งที่ผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพ การสั่งสอนเมียด้วยการทุบตี เป็นการขัดกับปรัชญาพื้นฐานของอิสลามที่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรม ความรัก ความเมตตา ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"
ด้าน น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ข้อถกเถียงที่ผู้หญิงและคนทำงานเรื่องเด็กและผู้หญิงที่เป็นมุสลิมไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับฮูกมปากัตของชุมชนใด ถ้ามันจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเกิดจากกระบวนการที่ดีมีส่วนร่วมและไม่ได้นำเสนอว่า เรื่องนี้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนว่า ด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
แต่ข้อกังวลของผู้หญิงเกิดจากการทำงานที่ผ่านมา ด้วยเรื่องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามหลักการเด็กกลายเป็นผู้ใหญ่เมื่อหญิงชายมีความพร้อมทางร่างกายที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อเขายังเด็กหรืออายุต่ำกว่า 18 ปี มีการศึกษาและพบว่า อายุต่ำกว่า 18 ปี เด็กไม่พร้อมในการมีครอบครัวหรือมีเพศสัมพันธ์ ที่จะต้องรับผิดชอบครอบครัวทั้งการหาเลี้ยง ประกอบอาชีพ การดูแลลูกที่จะเกิดมาให้เติบโตมีคุณภาพที่ดีเป็นมุสลิมที่ดี เด็กมีสภาพร่างกายที่เสี่ยงต่อการมีลูกหรือมีเพศสัมพันธ์ และที่สำคัญเด็กไม่พร้อมในการควบคุมคุมอารมณ์ การแสดงอารมณ์เมื่อโกรธ เสียใจ และการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาซึ่งมีผลต่อชีวิตคู่
เรื่องเด็กมีผู้ปกครอง จากการติดตามปัญหาที่ยะหาหรือที่อื่นๆ ผู้ใหญ่กังวลเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดหลักการศาสนา จึงแก้ปัญหาด้วยการทำให้ถูกศาสนาคือการให้แต่งงานก่อนมีเพศศัมพันธ์ตามหลักการ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ว่า หลักศาสนาหรือสิทธิมนุษยชน ผู้ปกครอง พ่อแม่ มีหน้าที่ดูแลเด็ก เลี้ยงดูเด็กให้เติบโต ให้การศึกษา ให้อาหาร วัคซีน สอนทักษะชีวิต แต่ผลลัพธ์ของการดูแลที่่ผ่านมา ทำไมเด็กวัยรุ่นไปไหนต่อไหนตอนกลางคืน เกิดเป็นปัญหา
น.ส.อัญชนา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น วัยรุ่นเป็นวัยของการเรียนรู้ ทดลอง และต่อต้าน การบังคับ การออกกฎเขาจะหนี ต่อต้าน ปฏิเสธ และการแก้ปัญหาจากมุมมองแบบผู้ใหญ่ จึงน่าห่วงว่า จะผลักเขาให้ไปสู่จุดที่เรากลัวและต้องการแก้ปัญหา เราตามไม่ทัน แต่ถ้าเราได้ดำเนินการใน 2 มุม ก็น่าสนใจเกิดเป็นความร่วมมือและเป็นความรับผิดชอบของทุกคนไม่ใช่การผลักภาระให้เป็นของใคร
การแก้ปัญหาแบบเด็กมีส่วนร่วมเชิญชวนเด็กมาคุย มาออกแบบว่า ผู้ใหญ่กังวลปัญหานี้ เด็กและวัยรุ่นมองปัญหานี้และจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร เรื่องนี้ NGO เขาสามารถทำกระบวนการได้ รวมไปถึงการให้ความรู้กับเด็กและวัยรุ่นเรื่องเพศศึกษา เรื่องมุมมองอนาคตของการใช้ชีวิต เพื่อให้เขาเข้าใจชีวิตในโลกของความเป็นจริง เพื่อให้เขาเลือกด้วยตนเองและยอมรับการเลือกนั้น
ส่วนทางผู้ปกครอง พ่อแม่ เด็กอยู่กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย การดูแลมีความพร้อมไหม พ่อแม่ผู้ปกครองมีทัศนคติต่อการเลี้ยงดูวัยรุ่นอย่างไร การพูดกับเด็กอย่างไร พ่อแม่มีลูกเยอะไหม พ่อแม่อยู่ด้วยกันไหม กลับไปที่การสร้างความรู้ทักษะการเลี้ยงดูเด็กวัยรุ่นทั้งทางโลกและศาสนา เรื่องนี้ อบต ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา น่าจะมีบทบาทได้ รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อเรื่องนี้คือโทรศัพท์ มอเตอร์ไซด์ อินเตอร์เนต ซึ่งพ่อแม่ ชุมชน ต้องเรียนรู้การควบคุมและดูการใช้โทรศัพท์ของเด็กอย่างเหมาะสม รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เรื่องนี้ NGO เขาทำอยู่โทรศัพท์กับวัยรุ่นหญิงและชาย
ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องฮูกมปากัตควรจะเป็นเรื่องที่สร้างชุมชนที่ดี จากความพร้อมและเต็มใจจะยอมรับกฎด้วยกัน เช่นเรื่องการไม่ขี่มอเตอร์ไซด์ย้อนศร การรักษาความสะอาด การดูแลความสะอาดชุมชน ของตนเองเป็นต้น เพราะหากเกี่ยวข้องกับมนุษย์ คน ความรู้สึก เรื่องนี้อาจต้องคิดให้ลึกในหลายมุม โดยเฉพาะคนที่จะถูกบังคับใช้